AREA แถลง ฉบับที่ 61/2556: 27 พฤษภาคม 2556
ข้อดีของผังเมือง กทม. ที่อ้างมาล้วนไม่เป็นจริง
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
มีบางคนออกมาอ้างว่าผังเมืองที่ออกมามีข้อดีมากมาย แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช้ข้อดีแท้ เป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น ในที่นี้จึงขอวิพากษ์ให้เห็นดังนี้
1. ที่บอกว่าจะตัดถนนใหม่ 140 สายนั้น เป็นเพียงแผนเท่านั้น หลายสายวางไว้ตั้งแต่ผังเมืองฉบับก่อน ๆ แล้ว ที่สำคัญยังไม่มีงบประมาณการก่อสร้างจริงแต่อย่างใด
2. ที่อ้างว่าจะส่งเสริมเขตชานเมืองบางแห่งให้เป็นศูนย์ชุมชน เช่น เขตมีนบุรี เพราะรถไฟฟ้าสีชมพูและสีส้ม ก็ไม่เป็นจริง เพราะที่อ้างถึงว่าจะมีรถไฟฟ้าผ่านบริเวณดังกล่าว ก็ไม่รู้จะสร้างเมื่อใด เป็นไปได้ที่ผังเมืองหมดอายุไปแล้ว ก็ยังไม่ได้สร้าง
3. กรณีการให้โบนัสเพิ่มเติม เช่น อยู่ใกล้รถไฟฟ้า ก็ต้องเป็นสถานีรถไฟฟ้าที่ใช้งานแล้ว ไม่ใช่ที่กำลังก่อสร้าง โบนัสที่ให้ใช่จะดีกว่าที่เป็นอยู่ในผังเมือง พ.ศ.2549
4. ที่บอกให้โบนัสหากใช้ประโยชน์สาธารณะ ก็เป็นมาตรการที่เป็นไปไม่ได้ เป็นสิ่งที่ได้ไม่คุ้มเสีย ไม่ได้โบนัสจริง เป็นแค่ "ราคาคุย" เท่านั้น เช่น ต้องสร้างที่จอดรถให้สาธารณะ ทั้งที่ในแต่ละอาคารที่จอดรถก็ยังไม่พออยู่แล้ว เป็นต้น
5. ที่ว่าว่าจะให้พื้นที่โล่งมากมายแก่ประชาชนนั้น ไม่มีแผนการที่แน่ชัดเลย ที่ผ่านมาก็เอาพื้นที่ของเอกชนไปนับรวมไว้เฉย ๆ ในพื้นที่สีเขียวบางแห่ง
6. ที่ว่าผังเมืองส่งเสริมความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน กทม. มักอ้างว่าหากให้สร้างอาคารชุดขนาดใหญ่ในซอยสุขุมวิท จะไม่ปลอดภัยเพราะเสี่ยงต่อไฟไหม้ แต่ความจริงไฟไหม้อาคารสูงน้อยมากและลดลงตามลำดับ ข้ออ้างนี้จึงไม่เป็นความจริง ส่วนกรณีที่การก่อสร้างอาคารใหญ่ไปสร้างปัญหาเพื่อนบ้าน อยู่ที่การจัดการของ กทม. ที่ควรรักษากฎหมายโดยเคร่งครัด ในความเป็นจริง ใช่ว่าเจ้าของที่ดินในสุขุมวิทส่วนใหญ่จะต้องการรักษาให้มีสภาพเป็นบ้านเดี่ยว เจ้าของที่ดินจำนวนมากทยอยสร้างอาคารขนาดใหญ่ การออกผังเมืองอย่างนี้เป็นการรอนสิทธิของเจ้าของที่ดิน
7. ที่ว่า " มีขนส่งมวลชนระบบรางจากเดิม 7 สาย เป็น 12 สาย . . . ทำให้ผังเมืองต้องวางกรอบให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง" ข้อนี้ไม่จริง การผังเมืองไม่ได้ทำให้สอดคล้องอย่างมีนัยต่อระบบรางเลย
8. ที่ว่าจะส่งเสริมกรีนบิลดิ้ง พื้นที่น้ำซึมผ่านได้ ก็ไม่ใช่มาตรการแก้ปัญหาน้ำท่วมเลย ผังเมืองไม่มีเรื่องแก้ไขน้ำท่วม ลำพังมาตรการ "น้ำจิ้ม" แค่นี้ไม่ได้มีผลใด ๆ เลย ถ้าจะมีประสิทธิผลจริงต้องประสานกันทำถนนรอบแม่น้ำเจ้าพระยาสองฝั่งอย่างต่างประเทศ ต้องมีเขื่อนริมทะเล ต้องมีประตูเปิดปิดแม่น้ำเจ้าพระยา ต้องมีแนวคลองใหม่ ฯลฯ
9. ที่ว่า "หากมีการพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยรวม โดยจัดให้ชุมชนเดิมอยู่อาศัยด้วย เป็นการแก้ปัญหาสังคม โดยรูปแบบเป็นอาคารแฟลตจะได้ประโยชน์ สำหรับการจัดชั้นให้ผู้อาศัยเดิมได้อยู่ หรือจัดพื้นที่ไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากพื้นที่เดิม เขาจะได้พื้นที่ปลูกสร้างอาคารเพิ่มกว่าเดิม" เป็นสิ่งที่ "ไม่ใช่หน้าที่" เป็นเรื่องของการเคหะแห่งชาติและขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทาน การกำหนดอย่างนี้เคยมีในมาเลเซีย แต่พิสูจน์แล้วว่าใช้ไมได้
10. ที่ว่าผังเมืองมุ่งแก้อุทกภัยก็ไม่เป็นจริง เขื่อนที่มีอยู่รอบ ๆ แม่น้ำเจ้าพระยาก็มีอยู่แล้ว ไม่ได้มีตามผังเมือง ระบบระบายน้ำ ระบบประตูเปิดปิดแม่น้ำก็ยังไม่มี
สิบข้อดีของผังเมือง กทม. จึงไม่เป็นจริง
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน |