จริงหรือมั่วนิ่มที่ ธปท. บอกว่า “ภาคอสังหาริมทรัพย์มีความสำคัญและมีธุรกิจเกี่ยวเนื่อง คิดเป็นกว่าร้อยละ 9.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และมีการจ้างงานรวมกว่า 2.8 ล้านคน” <1>
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ให้ความเห็นว่า ก็เพราะความเข้าใจ “ผิดๆ” อันนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) จึงทำให้ประเทศไทยสนับสนุนการซื้อขายบ้านกันอย่าง “เป็นบ้าเป็นหลัง” จนทำให้มีคนซื้ออยู่เองจริงเพียงราวสองในสามและคนเก็งกำไรอีกราว 20% นอกนั้นเป็นต่างชาติมาซื้อ
จากการประมาณการของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ปรากฏว่ามูลค่าการพัฒนาที่อยู่อาศัยของไทยเป็นประมาณ 4.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Products: GDP) ในปี 2561 และค่อย ลดลงตามลำดับในปี 2562-2564 อยู่ที่ 3.4%, 2.4% และ 1.5% ตามลำดับ แสดงว่าขนาดของภาคที่อยู่อาศัยของไทยไม่ได้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจดังที่ ธปท. อ้างว่ามีค่าสูง 9.8% ของ GDP โดยเฉพาะการอ้างว่ามี “ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง” การอ้างนี้ค่อนข้าง “เลื่อนลอย” ถ้าอ้างแบบนี้ธุรกิจอื่นก็อ้างได้ว่าส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่นได้เช่นกัน
ส่วนที่ว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ส่งผลถึงการจ้างงานถึง 2.8 ล้านคนนั้น ตัวเลขน่าจะสูงเกินจริงไปหรือไม่ เพราะในการก่อสร้างจริง ส่วนมากใช้แรงงานต่างด้าว ทั้งนี้ จำนวนคนต่างด้าวที่มาทำงาน ณ เดือน ตุลาคม 2564 ของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว <2> พบว่า มีคนต่างด้าวทำงานในภาคการก่อสร้าง ดังนี้:
- คนต่างด้าวมาตรา 63/1 (ประเภทชนกลุ่มน้อย) ที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร 24,819 คน
- คนต่างด้าวมาตรา 59 นำเข้าตาม MOU (เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียตนาม) 105,231 คน
- คนต่างด้าวมาตรา 59 นำเข้าตาม มติครม. 20 สิงหาคม 2562 (เมียนมา ลาว กัมพูชา) 172,893 คน
- คนต่างด้าวมาตรา 63/2 นำเข้าตามมติ ครม. 4 สิงหาคม 2563 ตามแบบ บต.24 (เมียนมา ลาว กัมพูชา) 1,500 คน
- คนต่างด้าวมาตรา 63/2 ประเภทนำเข้าตาม มติ ครม. 4 สิงหาคม 2563 ตามแบบ บต.23 (เมียนมา ลาว กัมพชา เวียตนาม) 49,617 คน
- คนต่างด้าวประเภทนำเข้าตาม มติ ครม. 29 ธันวาคม 2563 (เมียนมา ลาว กัมพูชา) 89,786 คน
รวมแล้วมีเพียง 443,846 คน ถ้า หากรวมสถาปนิกหรือคนงานไทยอีก ก็คงมีอีกเพียงไม่เกิน 100,000 คนโดยประมาณ ก็เพียงไม่เกิน 550,000 คน ดังนั้นตัวเลขจ้างงานในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ 2.8 ล้านคน คงเป็นตัวเลขเกินจริงหรือไม่
ทุกวันนี้เราส่งเสริมธุรกิจที่อยู่อาศัยจนธุรกิจนี้มีกำไรสุทธิประมาณ 15-25% ของรายได้รวมอยู่แล้ว อันที่จริงรัฐควรไปช่วยเหลือวงการอื่นที่มีความจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือให้มากกว่านี้
อ้างอิง
<1> ข่าว ธปท. ฉบับที่ 75/2564เรื่อง ธปท. ผ่อนคลายมาตรการ LTV ชั่วคราว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2021/Pages/n7564.aspx
<2> โปรดดู https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/alien_th/b6ab7ae510c3f3f104f077c00a8b4206.pdf