บิตคอยน์ที่ถือเป็นเงินสกุลดิจิตอลนั้น จะมีมูลค่าจริงหรือไม่อย่างไร จะประเมินค่าได้หรือไม่อย่างไร ลองฟังความเห็นของ ดร.โสภณ
เมื่อวันอังคารที่ 26 ตุลาคม 2564 มีการจัดเสวนาเรื่อง “เสวนาวิชาการ ครั้งที่ 237 ในหัวข้อ “นวัตกรรมเงินดิจิทัลกับอสังหาริมทรัพย์” โดยมูลนิธิประเมินค่า-นายหน้าแห่งประเทศไทย (www.thaiappraisal.org) ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้แสดงความเห็นต่อการประเมินค่าบิตคอยน์ ในที่นี้จึงได้เขียนเป็นบทความนี้ขึ้นเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์บิตคอยน์
ว่าด้วยบิตคอยน์
จาก Wikipeidia <1> “บิตคอยน์ (Bitcoin) เป็นสกุลเงินดิจิทัลแรกที่ใช้ระบบกระจายอำนาจ โดยไม่มีธนาคารกลางหรือแม้แต่ผู้คุมระบบแม้แต่คนเดียว เครือข่ายเป็นแบบเพียร์ทูเพียร์ และการซื้อขายเกิดขึ้นระหว่างจุดต่อเครือข่ายโดยตรงผ่านการใช้วิทยาการเข้ารหัสลับและไม่มีสื่อกลาง การซื้อขายเหล่านี้ถูกตรวจสอบโดยรายการเดินบัญชีแบบสาธารณะที่เรียกว่าบล็อกเชน บิตคอยน์ถูกพัฒนาโดยคนหรือกลุ่มคนภายใต้นามแฝง ‘ซาโตชิ นากาโมโตะ’ และถูกเผยแพร่ในรูปแบบซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซในปี พ.ศ. 2552 บิตคอยน์ถูกสร้างขึ้นใหม่ด้วย 'การขุด' (mining)”
“ในช่วงแรก มีการประมาณว่านากาโมโตะได้ทำการขุดจำนวน 1 ล้านบิตคอยน์ ในพ.ศ. 2553 นากาโมโตะส่งต่อกุญแจเตือนเครือข่ายและการควบคุมที่เก็บโค้ดหลักบิตคอยน์ (Bitcoin Core code) ให้กับ Gavin Andresen ผู้ที่ต่อมากลายเป็นหัวหน้านักพัฒนาหลักของมูลนิธิบิตคอยน์ (Bitcoin Foundation) จากนั้นนากาโมโตะก็เลิกยุ่งเกี่ยวกับบิตคอยน์ จากนั้น Andresen ตั้งเป้าหมายว่าจะกระจายอำนาจการควบคุม”
“เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ช่องโหว่ครั้งใหญ่ในโพรโทคอลของบิตคอยน์ถูกพบ การซื้อขายไม่ได้ถูกตรวจสอบอย่างถูกต้องก่อนถูกใส่เข้าไปในบล็อกเชน ทำให้ผู้ใช้สามารถเลี่ยงข้อจำกัดทางเศรษฐศาสตร์ของบิตคอยน์ และสร้างบิตคอยน์ขึ้นมาได้ในจำนวนไม่จำกัด ในวันที่ 15 สิงหาคม ช่องโหว่นี้ถูกใช้สร้างกว่า 184 ล้านบิตคอยน์ผ่านการซื้อขายหนึ่งครั้ง และส่งไปยังที่อยู่สองที่ในเครือข่าย การซื้อขายถูกพบภายในไม่กี่ชั่วโมง และถูกลบออกจากบันทึกหลังแก้ไขบัคและอัปเดตรุ่นโพรโทคอลของบิตคอยน์”
“จำนวนบิตคอยน์ทั้งหมดในระบบ ผู้ขุดที่หาบล็อกใหม่สำเร็จได้รับรางวัลเป็นบิตคอยน์ที่ถูกสร้างขึ้นและค่าธรรมเนียมการซื้อขาย ณ วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 รางวัลอยู่ที่จำนวน 12.5 บิตคอยน์ที่ถูกสร้างใหม่ต่อบล็อกที่ถูกเพิ่มไปยังบล็อกเชน เพื่อขอรับรางวัล. . .นากาโมโตะ ผู้สร้างบิตคอยน์ ตั้งนโยบายการเงินบนฐานของความขาดแคลนประดิษฐ์ (artificial scarcity) และทำให้บิตคอยน์ถูกจำกัดอยู่ที่จำนวน 21 ล้านบิตคอยน์ตั้งแต่แรก จำนวนทั้งหมดจะถูกเผยทุก ๆ สิบนาที”
“บิตคอยน์ถูกวิจารณ์ในแง่ของความต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อขุด นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ ประมาณว่า แม้นักขุดทุกคนจะใช้อุปกรณ์สมัยใหม่ ก็ใช้ไฟประมาณ 166.7 เมกะวัตต์ ณ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 กิจกรรมการขุดบิตคอยน์ทั่วโลกถูกประมาณว่าใช้ไฟฟ้ากว่า 3.4 จิกะวัตต์ เพื่อลดค่าใช้จ่าย นักขุดบิตคอยน์สร้างเหมืองในพื้นที่เช่นประเทศไอซ์แลนด์ที่ใช้พลังงานความร้อนใต้พื้นพิภพซึ่งมีราคาถูก และอากาศเย็นแถบอาร์กติกที่ไม่มีค่าใช้จ่าย นักขุดชาวจีนยังใช้พลังงานน้ำในแถบเทศทิเบตเพื่อลดค่าไฟ”
วิพากษ์บิตคอยน์
จากเรื่องราวของบิตคอยน์ข้างต้นแสดงถึงความไม่โปร่งใส เช่น
1. บิตคอยน์ถูกพัฒนาโดยคนหรือกลุ่มคนภายใต้นามแฝง ‘ซาโตชิ นากาโมโตะ’ ซึ่งแสดงถึงความขมุกขมัวอย่างยิ่ง แต่ก็มีคนหลงเชื่อกันมากมาย
2. มีการส่งต่อกุญแจเตือนเครือข่ายและการควบคุมที่เก็บโค้ดหลักบิตคอยน์ (Bitcoin Core code) ให้กับ Gavin Andresen ผู้ที่ต่อมากลายเป็นหัวหน้านักพัฒนาหลักของมูลนิธิบิตคอยน์ ทำอย่างกับหนัง Sci-Fi ต่างๆ
3. การตั้งมูลนิธิบิตคอยน์ ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มักนำมาใช้ให้ดูดี แต่ในอีกแง่หนึ่งอาจเป็นการตบตากันอย่างหนึ่งหรือไม่ ควรได้รับการตรวจสอบ
4. ขณะนี้นายนากาโมโตะก็เลิกยุ่งเกี่ยวกับบิตคอยน์ ซึ่งลึกลับดูดูคล้ายพล็อตเรื่องในหนังฮอลลีวูดชอบกล
5. ที่ว่า Andresen (ผู้รับช่วงต่อจากนากาโมโตะและดูลึกลับไม่แพ้กัน) ตั้งเป้าหมายว่าจะกระจายอำนาจการควบคุม ซึ่งก็ไม่มีหลักฐานใดๆ ว่ามีการกระจายอำนาจไปมากน้อยแค่ไหน พิสูจน์อะไรก็ไม่ได้
6. ผู้เกี่ยวข้องบางคนที่มีตัวตนก็ตายไปในเวลาไม่นานหลังจากนั้น เช่น นายฮาล ฟินนีย์ (Hal Finney) หนึ่งในผู้สนับสนุน ผู้นำไปใช้ และผู้ร่วมพัฒนาบิตคอยน์คนแรก ๆ เป็นผู้รับการซื้อขายบิตคอยน์ครั้งแรก
7. การที่จะได้บิตคอยน์ต้องได้จากการขุดหรือทำเหมือง ก็เป็นวิธีการที่คล้ายนิยายและขาดความโปร่งใสเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งกว่านั้นการทำเหมืองก็เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมทางหนึ่งเพราะใช้ไฟฟ้ามหาศาล
ความไม่โปร่งใส
กรณีความไม่โปร่งใสมีให้เห็นชัดเจน ไม่เฉพาะในกรณีบิตคอยน์ซึ่งเต็มไปด้วยความขมุกขมัว แม้แต่ในระบบเศรษฐกิจโลกช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 ก็เช่นกัน มีประกาศการประชุมสุดยอดตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก (G20) ณ กรุงวอชิงตันถึงปัญหาระบบการเงินของโลกที่ต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ โดยเฉพาะ
1. การเสริมสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบของตลาดการเงิน รวมถึงการเสริมสร้างการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็น
2. การปรับปรุงกฎระเบียบ การกำกับดูแลอย่างรอบคอบ และการจัดการความเสี่ยง และทำให้แน่ใจว่าตลาดการเงิน ผลิตภัณฑ์ และผู้เข้าร่วมทั้งหมดได้รับการควบคุมหรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามความเหมาะสม
3. การส่งเสริมความซื่อสัตย์ในตลาดการเงินโดยการสนับสนุนนักลงทุนและการคุ้มครองผู้บริโภค หลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน ป้องกันการยักยอกตลาดที่ผิดกฎหมาย กิจกรรมฉ้อฉลและการละเมิด และการป้องกันความเสี่ยงทางการเงินที่ผิดกฎหมาย
4. การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ
5. การปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ
แต่สำหรับบิตคอยน์ไม่ได้อยู่ในการควบคุมใดๆ ความโปร่งใสจึงย่อมไม่มี ดูเป็นการพนันมากกว่าการซื้อขายหุ้นทั่วไป
ราคาบิตคอยน์
จากข้อมูลของ Coindesk.com <3> พบว่า:
1. ราคาบิตคอยน์ 1 เหรียญมีค่าเท่ากับ 324.47 เหรียญสหรัฐในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 แต่ ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2564 หรือเกือบ 7 ปีต่อมา ราคาขึ้นเป็น 60,317.61 เหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 186 เท่า หรือเพิ่มขึ้นปีละ 211% หรือราคาเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวในทุกปี ธุรกิจอะไรที่จะมีราคาเพิ่มขึ้นสูงได้รวดเร็วปานนี้ เป็นสิ่งที่น่าพิศวงเป็นอย่างยิ่ง
2. ในรอบ 1 ชั่วโมงของวันที่ 27 ตุลาคม 2564 ราคาแกว่งระหว่าง 58,735.53 – 60,676.91 เหรียญสหรัฐ หรือแกว่งประมาณ 3% ยิ่งถ้าเป็นในรอบ 1 วัน 4 วัน 1 สัปดาห์หรือ 1 เดือน ราคาก็คงยิ่งแกว่งหนัก ราคาที่ขึ้นลงแบบนี้จะใช้ซื้อของทั่วไปได้จริงหรือไม่
บล็อคเชนและอสังหาริมทรัพย์
มีผู้กล่าวถึงบิตคอยน์ บล็อกเชน และอสังหาริมทรัพย์ในทางที่ให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน
1. มีการบอกว่าบิตคอยน์ปลอดภัย แต่เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีข่าวคราวมากมายถึงความไม่ปลอดภัย เช่น “เยอรมันจับโจรไซเบอร์ ยึดบิตคอยน์มูลค่า 1,800 ล้าน แต่ถอนไม่ได้ เพราะไม่รู้รหัส” <4> และยังมีข่าวอื้อฉาวต่างๆ ถึงความไม่ปลอดภัยอีกมากมาย
2. บ้างก็บอกว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนนี้มีความแม่นยำสูงในการชี้ตำแหน่งต่างๆ ความแม่นยำระบบดิจิตอลนี้มีมาก่อนบล็อกเชนด้วยซ้ำไป ดูอย่างในสหรัฐอเมริกา โฉนดทุกใบ ไม่ต้องมีหลักหมุด แม้แต่รูปร่างของรัฐก็ยังเป็นรูปเหลี่ยม ไม่ค่อยได้แบ่งตามแนวแม่น้ำลำคลองหรือสันเขาเช่นไทย แต่ในทางตรงกันข้ามระบบโฉนดแบบ Torrens System <5> ที่คิดค้นในออสเตรเลียและใช้แพร่หลายในหลายประเทศ ก็ให้ความถูกต้องแม่นยำโดยไม่พึ่งคอมพิวเตอร์ด้วยซ้ำไป
3. บ้างก็ยังบอกว่าการโอนกรรมสิทธิ์ต่างๆ ด้วยบล็อกเชนนั้น ใช้เวลานาน ไม่ต้องเสียเวลา ไม่เสียทรัพยากรเจ้าหน้าที่ ไม่ผ่านคนกลาง ฯลฯ แต่ผู้พูดคงไม่ทราบว่าในการโอนบ้านและที่ดินในประเทศไทย ใช้เวลาแค่ไม่ถึงครึ่งวันทั้งที่ผู้ซื้ออาจต้องมีผู้กู้ร่วมและคู่ครองของผู้กู้ร่วมไปด้วย (กรณีกู้คนเดียวไม่ผ่าน) รวมทั้งมีผู้ขาย นายหน้าและสถาบันการเงินที่รับจำนอง ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกาใช้เวลานานนับเดือนๆ เพราะต้องมีการตรวจสอบความแน่ชัด ลำพังเครื่องจักรยังไม่ละเอียดอ่อนเท่า
4. เรื่องเจ้าของเฉพาะส่วน (Fractional Ownership) ก็ไม่จำเป็นต้องใช้บล็อกเชน ที่ผ่านมาเรามีระบบ Timeshare หรือแต่ละบริษัทก็ขายเหรียญของตนเองโดยไม่ผ่านบิตคอยน์หรือสกุลเงินดิจิตอลอื่น
5. เงินดิจิตอลตรวจสอบแทบไม่ได้ จึงมีข่าวว่า “โจรลักพาตัวในอินเดียเรียกค่าไถ่เป็น Bitcoin” <6> และนี่คือสาเหตุที่ “ทำไมแฮ็กเกอร์อยากได้ ‘บิตคอยน์’ เป็นค่าไถ่คอมพ์?” <7>
6. ในประเทศไทยเคยมีร้านกาแฟร้านหนึ่งชื่อ “Life Time” บอกว่าสามารถใช้ Digital Currency ซื้อกาแฟได้ด้วยโดยถือเป็นแห่งแรกในไทย (ปี 2561) แต่อันที่จริงนี่เป็นเพียง Gimmick ของร้านเท่านั้น ในท้ายของคลิป ยังมีการบอกว่าร้านนี้จะขยายตัวเป็น 100 สาขาในปีดังกล่าว <8> แต่อันที่จริงร้านนี้ก็ปิดตัวไปในเวลาไม่นานนัก การซื้อขายด้วยบิตคอยน์เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยเพราะราคาผันผวนสูงมากนั่นเอง
ข้อหลักในการประเมินค่า
1. การประเมินค่าทรัพย์สินจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีตลาด การซื้อขายบิตคอยน์ก็มีตลาดมาระยะหนึ่ง รวมเป็นเวลาประมาณ 7 ปี แต่ตลาดนี้ก็ไม่ได้มีการควบคุมใดๆ ทำให้ขาดความมั่นคง โปร่งใสเท่าที่ควร คล้ายกับตลาดพระเครื่อง ตลาดจตุคามรามเทพ ซึ่งก็มีผู้ซื้ออยู่จำนวนหนึ่ง แต่ตลาดพระเครื่องก็ยังมีการซื้อขายกันมายาวนาน ทั้งนี้ยกเว้นราคาที่ผิดเพี้ยน (Outliers) ซึ่งเกิดจากการปั่นราคาและการฟอกเงิน
2. คุณลักษณะสำคัญของเงินที่แท้ก็คือการสามารถเก็บมูลค่าได้ (Store of Value) แต่ในกรณีบิตคอยน์ไม่มีพื้นานที่แท้จริงอยู่ ต่างจากหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่แม้หลายคนมองว่าเป็นเกมการพนัน แต่ก็ยังมีปัจจัยพื้นฐานให้วิเคราะห์หุ้นได้ในระดับหนึ่ง มีกิจการที่แท้จริงดำเนินการโดยบริษัทมหาชนนั้นๆ ไม่ใช่การซื้อขายเงินกันลอยๆ เท่านั้น
3. บิตคอยน์มีจำนวนที่จำกัดอยู่ที่ 21 ล้านเหรียญ ซึ่งในแง่หนึ่งก็เข้าข่ายของความหายาก (Rare) และขาดแคลน (Scarcity) ดังนั้นหากนำมาเทียบกับทองคำ หรือน้ำมันดิบ ก็สามารถบอกได้ว่าหายากและมีจำนวนจำกัด แต่ก็ไม่ได้จำกัดขนาดบิตคอยน์ ดังนั้นมูลค่าที่แท้จริงก็อาจไม่มียกเว้นการซื้อขายเก็งกำไรกันไป
4. ในการแลกเปลี่ยนเงินในกรณีบิตคอยน์ หากไม่ใช่เป็นผู้ที่พอมีความรอบรู้ในด้านคอมพิวเตอร์ ก็คงไม่สามารถที่จะซื้อขายได้ ประชาชนทั่วไปก็คงไม่สามารถเข้าถึง
5. เมื่อนำมาเทียบกับเพชรนิลจินดา บิตคอยน์ก็ยังไม่สามารถนำมาใช้เพื่อแสดงความมั่งคั่งได้
6. หากนำมาเทียบกับทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) เช่น ชื่อเสียงกิจการ หรือแบรนด์ จะพบว่าแบรนด์สามารถนำมาสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นได้ เช่น สินค้าที่มีแบรนด์เนม ก็มีราคาสูงกว่า เป็นต้น
บทสรุป
โดยสรุปแล้วในการประเมินค่าบิตคอยน์จึงไม่น่าจะทำได้ ความผันผวนต่างๆ ก็มีมาก กลายเป็นเกมในการละเล่นทางการเงิน กลายเป็นแหล่งฟอกเงิน เป็นการพนันมากกว่าที่จะสร้างมูลค่าที่แท้จริงได้ บางคนอาจบอกว่า มีบางประเทศที่ยอมรับบิตคอยน์ ดังข่าวว่า “(เอลซัลวาดอร์เป็น) ประเทศแรกในโลกดัน Bitcoin เป็นการชำระเงินถูกกฎหมาย” (6 มิถุนายน 2564) <9> แต่ประเทศนี้ตั้งอยู่ที่ไหน หลายคนก็ยังไม่รู้จักด้วยซ้ำไป ที่สำคัญในไม่กี่วันต่อมา (17 มิถุนายน 2564) “เวิลด์แบงก์ ยืนกรานไม่รับรอง เอลซัลวาดอร์ ใช้เงินบิตคอยน์ตามกฎหมายประเทศ” <10>
สงสัยว่า “แก๊งบิตคอยน์” คงซื้อผู้นำประเทศเอลซัลวาดอร์ไปแล้ว (ฮา)
อ้างอิง
<1> โปรดดูรายละเอียดที่ https://bit.ly/2Znhv5K
<2> G20 Declaration of the Summit on Financial Markets and the World Economy: Common principles for reform. https://georgewbush-whitehouse.archives.gov/news/releases/2008/11/20081115-1.html
<3> ตรวจสอบราคาบิตคอยน์ได้ที่นี่ https://www.coindesk.com/price/bitcoin/
<4> ณ 5 กุมภาพันธ์ 2564 https://www.sanook.com/news/8346978/
<5> Benefits of the Torrens System. https://www.isc.ca/about/history/landtitles/torrenssystem/pages/benefits.aspx
<6> ณ 5 กรกฎาคม 2560 https://siamblockchain.com/2017/07/05/indian-kidnappers-demand-bitcoin-ransom/
<7> คมชัดลึก 16 พฤษภาคม 2560 https://www.komchadluek.net/scoop/277201
<8> DailyC3 | ร้านกาแฟไฮเทค รับจ่ายด้วยเงินดิจิทัล https://www.youtube.com/watch?v=QSTrlfaxXQ0 (7 มิถุนายน 2561)
<9> ดูข่าวที่ https://www.posttoday.com/world/654790
<10> ดูข่าวที่ https://mgronline.com/stockmarket/detail/9640000058788