อสังหาริมทรัพย์เปิดใหม่เดือนตุลาคมเปิดตัวเพิ่มขึ้นตอบรับมาตรการคลายล็อกดาวน์ และห้องชุดมีจำนวนหน่วยและมูลค่าเปิดตัวมากที่สุดเกินครึ่งของจำนวนหน่วยและมูลค่าที่เปิดตัวทั้งหมดในเดือนนี้
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่าในเดือนตุลาคม อสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีการเปิดตัวโครงการใหม่คึกคักมากขึ้น โดยเปิดใหม่จำนวน 28 โครงการ เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2564 จำนวน 6 โครงการ มีจำนวนหน่วยขายเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าโครงการลดลงเล็กน้อย โดยเป็นการพัฒนาในกลุ่มที่อยู่อาศัยทั้งหมด มีจำนวนหน่วยขายรวม 6,559 หน่วย และมีมูลค่าการพัฒนาโครงการรวม 21,975 ล้านบาท
จำนวนอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นใหม่ในเดือนนี้มีทั้งหมด 6,559 หน่วย เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาจำนวน 2,281 หน่วย (เดือนกันยายน 2564 มีจำนวน 4,278 หน่วย) หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 53.3% เนื่องจากผู้ประกอบการเปิดขายอาคารเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้จำนวนหน่วยขายของเดือนนี้เพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา
โดยประเภทที่มีจำนวนหน่วยเปิดขายใหม่มากที่สุดในเดือนนี้ คือ อาคารชุด มีจำนวนหน่วยเปิดขายใหม่ 3,825 หน่วย (58.3%) รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ 2,245 หน่วย (34.2%) ส่วนอันดับ 3 คือ บ้านแฝด 219 หน่วย (3.3%) ของจำนวนหน่วยขายที่เปิดขายใหม่ทั้งหมด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบจำนวนหน่วยขายของที่อยู่อาศัยหลัก ซึ่งได้แก่ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และอาคารชุด กับเดือนที่ผ่านมา จะพบว่าจำนวนหน่วยขายของที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดและทาวน์เฮ้าส์มีจำนวนขายเพิ่มขึ้น โดยอาคารชุดเพิ่มขึ้นมากถึง 3,288 หน่วย (612%) และทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 265 หน่วย (13%) ส่วนบ้านเดี่ยวมีจำนวนหน่วยขายลดลงจำนวน 1,146 หน่วย (-86%) ซึ่งทำเลที่มีการเปิดขายใหม่ สำหรับอาคารชุดที่เปิดขายจะตั้งอยู่บริเวณแนวรถไฟฟ้า ย่านชุมชนและบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยย่านคลองหลวง เป็นต้น
มูลค่ารวมของการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดใหม่ในเดือนตุลาคม 2564 นี้มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 21,975 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากเดือนที่ผ่านมาเล็กน้อย จำนวน 341 ล้านบาท (เดือนกันยายน 2564 มีมูลค่า 22,316 ล้านบาท) หรือลดลงประมาณ 1.5% เท่านั้น ซึ่งในเดือนนี้ลักษณะการพัฒนาที่อยู่อาศัยจะแตกต่างกับเดือนที่ผ่านมา โดยจะพบว่าที่อยู่อาศัยที่เข้าสู่ตลาดในเดือนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นระดับราคาปานกลางค่อนข้างถูกเป็นสำคัญ
ดร.โสภณกล่าวว่าประเภทที่มีมูลค่าการพัฒนาสูงสุดคือ อาคารชุด 11,264 ล้านบาท (51.3%) รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ 7,138 ล้านบาท (32.5%) ส่วนอันดับ 3 คือ บ้านเดี่ยว 1,896 ล้านบาท (8.6%) ของมูลค่าการพัฒนาทั้งหมดตามลำดับ ดังนั้นภาพรวมของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเดือนนี้ส่วนใหญ่หากเป็นบ้านเดี่ยวจะเน้นที่ระดับราคา5-10 ล้านบาท ทาวน์เฮ้าส์จะเน้นราคา 2-3 ล้านบาท ส่วนอาคารชุดจะเน้นที่ราคา 1-2 ล้านบาทเป็นสำคัญ
โครงการที่เปิดขายใหม่ในเดือนนี้จึงมีจำนวนหน่วยขายเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าโครงการและราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยกลับลดลง ซึ่งราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยลดลง (ประมาณ -35.8%) เนื่องจากการพัฒนาในเดือนนี้มีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยที่ระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทมากถึง 3,769 หน่วย หรือประมาณ 57.5% ของหน่วยขายทั้งตลาด จึงทำให้ราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยโดยรวมของเดือนนี้ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับราคาขายเฉลี่ยของเดือนก่อน ซึ่งราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยของเดือนนี้มีราคาเฉลี่ยที่ประมาณ 3.350 ล้านบาท แต่เดือนที่ผ่านมามีราคาขายเฉลี่ยที่5.216 ล้านบาท ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะประเภทอาคารชุดราคาถูกเป็นสำคัญ
ผู้ประกอบการที่เปิดตัวโครงการใหม่ในเดือนนี้จะพบว่าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ (มหาชน) มีจำนวน 9 บริษัทคือ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ก็ยังมีบริษัทในเครือและบริษัท ทั่วไปอีกจำนวนหนึ่ง หากเปรียบเทียบการพัฒนาระหว่างบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทในเครือ และบริษัททั่วไป
ในด้านทำเลที่ตั้ง จะพบว่าในเดือนนี้มีโครงการเปิดตัวใหม่และตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพชั้นในจำนวน 4 โครงการ ส่วนที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองชั้นกลางและส่วนต่อขยายของเมือง (intermediate area) มีจำนวน 20 โครงการ เช่น ถนนเลียบคลองประปา ถนนติวานนท์ ถนนลาดพร้าว ถนนบางนา-ตราด ถนนเทพารักษ์ ถนนเพชรเกษม ถนน 345 เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอีก 4 โครงการที่อยู่ในพื้นที่รอบนอกซึ่งใกล้แหล่งงาน เช่น นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง และย่านมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต เป็นต้น
ดร.โสภณตั้งข้อสังเกตว่ามีแนวโน้มว่าเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม 2564 จะมีโครงการเปิดใหม่อีกเป็นจำนวนมาก ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 นี้อาจเปิดตัวใหม่มากกว่าในแต่ละไตรมาสของ 3 ไตรมาสแรกอย่างเด่นชัด และจะมีแนวโน้มทำให้การเปิดตัวใหม่ของปี 2564 แม้จะลดลงจากปี 2563 แต่ก็คงลดไม่เกิน 30%