ว่าด้วย Bitkub Bitcoin SCB และ DBS
  AREA แถลง ฉบับที่ 830/2564: วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม 2564

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เมื่อเร็วๆ นี้ SCB ซื้อ Bitkub ที่เป็นตัวกลางซื้อขาย Bitcoin และเงิน Cryptocurrency อื่นๆ นัยว่าจะทำให้ธนาคารโตขึ้น จริงหรือ นี่คือทิศทางของธนาคารของโลกหรือไม่ อนาคตการเงินไทยจะเป็นอย่างไร

            เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 “กลุ่มเอสซีบี เอกซ์” เดินหน้ายุทธศาสตร์ยานแม่ ประกาศส่ง SCBS เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน “บิทคับ ออนไลน์” พร้อมร่วมเป็นพันธมิตรวางรากฐานธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล มุ่งสร้างการเติบโตระยะยาว เตรียมพร้อมสู่โลกการเงินอนาคต . . . ในการร่วมมือกันครั้งนี้ การที่ “กลุ่มเอสซีบี เอกซ์” โดยบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) เข้ามาซื้อหุ้นทั้งหมด 51% ของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ที่จำนวน 17,850 ล้านบาท ที่มูลค่าบริษัททั้งหมด 35,000 ล้านบาท” <1>

            เรื่องนี้น่าสนใจในหลายแง่มุมโดยเฉพาะด้านมูลค่าบริษัทที่อ้างว่าอยู่ที่ 35,000 ล้านโดยดูจากกำไรสุทธิที่ 1,500 ล้านบาท ทั้งที่ปี 2563 มีกำไรเพียง 80 ล้านและปี 2562 ขาดทุน 15 ล้านบาท  รายได้บริษัท Crypto ของคนยุคใหม่นี้เติบโตแบบก้าวกระโดดนี้ ก็คงพอๆ กับการปั่นราคาพระเครื่อง (สินค้าของคนยุคเก่า) และถ้าเป็นเช่นนี้จริง อัตราเพิ่มของรายได้สุทธิ ก็ต้องสูงถึงเกือบ 10% ต่อปีจากฐานที่ 1,500 ล้านบาทภายในเวลา 15 ปี (อายุขัยของบริษัทประเภทนี้อาจไม่ยืนยาว) ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ 3% จึงจะเกิดมูลค่าถึง 35,000 ล้านบาท  แต่การที่รายได้ผันผวนเร็วขนาดนี้ ฐานที่ 1,500 ล้านบาทต่อปีจึงเป็นสิ่งที่น่าฉงนไม่น้อย

            การลงทุนในหุ้น 51% ที่ 17,850 ล้านบาท กับการสร้างบริษัทค้า Cryptocurrency ขึ้นมาใหม่แทนที่จะซื้อนั้น จะคุ้มค่ากว่าหรือไม่ ผู้ถือหุ้นของ SCB จึงพึงพิจารณาเป็นพิเศษ  ทั้งนี้การสร้างคู่แข่งใหม่ก็คงเกิดขึ้นแน่นอนโดยสถาบันการเงินอื่นที่อาจจะเข้ามาค้าขายแข่งด้วย  อย่างไรก็ตามกิจการค้า Cryptocurrency นี้จะยั่งยืนหรือไม่ก็ยังไม่แน่นอนนัก เพราะรัฐบาลแทบทั่วโลกก็ยังไม่ยอมรับ (ยกเว้นยอมรับให้มีบริษัทนายหน้าขาย Cryptocurrency) และราคาซื้อขายก็มีการแกว่งตัวสูงมาก

            จากข้อมูลของ Coindesk.com <2> พบว่าราคาBitcoin 1 เหรียญมีค่าเท่ากับ 324.47 เหรียญสหรัฐในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 แต่ ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 หรือ 7 ปีต่อมา ราคาขึ้นเป็น 66,500.24 เหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 205 เท่า หรือเพิ่มขึ้นปีละ 214% หรือราคาเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวในทุกปี  ธุรกิจอะไรที่จะมีราคาเพิ่มขึ้นสูงได้รวดเร็วปานนี้ เป็นสิ่งที่น่าพิศวงเป็นอย่างยิ่ง  ในรอบ 1 ชั่วโมง 1 วัน 1 สัปดาห์ 1 เดือน ราคาก็ยิ่งแกว่งหนัก  ราคาที่ขึ้นลงแบบนี้จะใช้ซื้อของทั่วไปได้จริงหรือไม่

            บางท่านอาจแย้งว่าฐานข้อมูลลูกค้าและชื่อเสียงของบริษัทเป็นเรื่องสำคัญ กรณีนี้ถือเป็น Intangible Assets ของบริษัทที่ไม่ใช่สังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์  อย่างไรก็ตามแม้บริษัทนี้จะมีความโดดเด่นและครองส่วนแบ่งตลาดถึงประมาณ 90% ของทั้งหมด แต่ใช่ว่ารายอื่นๆ จะไม่สามารถเกิดได้ ที่สำคัญรายเล็กๆ อื่นๆ ย่อมมีราคาถูกกว่ามาก  ส่วนฐานข้อมูลลูกค้านั้นหาได้ไม่ยากเพราะมีผู้สนใจซื้อขาย Cryptocurrency มากมายอยู่ ถือเป็นการเปิดช่องทางในการลงทุน (การพนัน)  และสำนักงาน ก.ล.ต.ก็เปิดโอกาสให้มีการจดทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ซึ่งประกอบด้วย Cryptocurrency และ Token Digital และขณะนี้มีอยู่ 7 แห่ง (ระงับการให้บริการไป 1 แห่ง) <3>

            อันที่จริง Bitcoin แสดงถึงความไม่โปร่งใส เช่น การถูกพัฒนาโดย “ซาโตชิ นากาโมโตะ” ซึ่งแสดงถึงความขมุกขมัวอย่างยิ่ง  แต่ก็มีคนหลงเชื่อกันมากมาย มีการส่งต่อกุญแจเตือนเครือข่ายและการควบคุมที่เก็บ Bitcoin Core code ทำอย่างกับหนัง Sci-Fi  ที่ว่าขณะนี้ “นากาโมโตะ” เลิกยุ่งเกี่ยวกับBitcoin ก็ดูลึกลับ ที่ว่ามีการตั้งเป้าหมายว่าจะกระจายอำนาจการควบคุม ซึ่งก็ไม่มีหลักฐานใดๆ หรือการที่จะได้Bitcoinต้องได้จากการขุดหรือทำเหมือง ก็ขาดความโปร่งใสเป็นอย่างยิ่ง  ยิ่งกว่านั้นการทำเหมืองก็เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมทางหนึ่งเพราะใช้ไฟฟ้ามหาศาล

            Bitcoin จะมีค่าแค่ไหนนั้น เราต้องเข้าใจว่าการประเมินค่าทรัพย์สินจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีตลาด การซื้อขายBitcoinก็มีตลาดมาระยะหนึ่ง รวมเป็นเวลาประมาณ 7 ปี แต่ตลาดนี้ก็ไม่ได้มีการควบคุมใดๆ ทำให้ขาดความมั่นคง โปร่งใสเท่าที่ควร  คล้ายกับตลาดพระเครื่อง ตลาดจตุคามรามเทพ ซึ่งก็มีผู้ซื้ออยู่จำนวนหนึ่ง  แต่ตลาดพระเครื่องก็ยังมีการซื้อขายกันมายาวนาน ทั้งนี้ยกเว้นราคาที่ผิดเพี้ยน (Outliers) ซึ่งเกิดจากการปั่นราคาและการฟอกเงิน

            คุณลักษณะสำคัญของเงินที่แท้ก็คือการสามารถเก็บมูลค่าได้ (Store of Value) แต่ในกรณีBitcoinไม่มีพื้นฐานที่แท้จริงอยู่ ต่างจากหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่แม้หลายคนมองว่าเป็นเกมการพนัน แต่ก็ยังมีปัจจัยพื้นฐานให้วิเคราะห์หุ้นได้ในระดับหนึ่ง มีกิจการที่แท้จริงดำเนินการโดยบริษัทมหาชนนั้นๆ  เมื่อนำมาเทียบกับเพชรนิลจินดา Bitcoinก็ยังไม่สามารถนำมาใช้เพื่อแสดงความมั่งคั่งได้  หากนำมาเทียบกับทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) เช่น ชื่อเสียงกิจการ หรือแบรนด์ จะพบว่าแบรนด์สามารถนำมาสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นได้ เช่น สินค้าที่มีแบรนด์เนม ก็มีราคาสูงกว่า เป็นต้น

            ดังนั้นการประเมินค่าBitcoinจึงไม่น่าจะทำได้ ความผันผวนต่างๆ ก็มีมาก กลายเป็นเกมในการละเล่นทางการเงิน กลายเป็นแหล่งฟอกเงิน เป็นการพนันมากกว่าที่จะสร้างมูลค่าที่แท้จริงได้  บางคนอาจบอกว่า มีบางประเทศที่ยอมรับBitcoin ดังข่าวว่า “(เอลซัลวาดอร์เป็น) ประเทศแรกในโลกดัน Bitcoin เป็นการชำระเงินถูกกฎหมาย” (6 มิถุนายน 2564) <4> แต่ประเทศนี้ตั้งอยู่ที่ไหน หลายคนก็ยังไม่รู้จักด้วยซ้ำไป ที่สำคัญในไม่กี่วันต่อมา (17 มิถุนายน 2564) “เวิลด์แบงก์ ยืนกรานไม่รับรอง เอลซัลวาดอร์ ใช้เงินBitcoinตามกฎหมายประเทศ” <5>

            วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ (subprime mortgage crisis) หรือ วิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพ ในช่วงปี พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2551 ในสหรัฐอเมริกา เกิดจาก การกู้ยืมและการให้กู้ยืมที่มีความเสี่ยงสูง และระดับหนี้สินของบริษัทและบุคคลที่สูงเกินไป วิกฤติครั้งนี้มีผลหลายขั้นและค่อย ๆ เผยให้เห็นความอ่อนแอในระบบการเงินและระบบการควบคุมทั่วโลก <6> แต่อย่างไรก็ตามในกรณีสินค้าแบบเสมือนจริง (Virtual) คือ Bitcoin อาจสร้างความวิบัติได้มากกว่าที่ผ่านมาอีก

            ย้อนกลับมาดูธนาคารต่างๆ จะเห็นได้ว่า SCB ติดอยู่ในอันดับที่ 10 โดยมี DBS เป็นอันดับที่ 1 หากวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงตัวแปรระหว่างสินทรัพย์กับจำนวนพนักงาน จะเห็นได้ว่าไม่มีความสัมพันธ์เชิงตัวแปรเลย แสดงว่าธนาคารที่มีสินทรัพย์ขนาดใหญ่ใช่ว่าต้องมีจำนวนพนักงานมากกว่า  ในทางตรงกันข้ามจะเห็นได้ว่าธนาคารที่มีมูลค่าสูง มักจะมีจำนวนสินทรัพย์ต่อจำนวนพนักงานสูงตามไปด้วย โดยค่า Adjusted R sq. อยู่ที่ 91.4% ใน Regression Analysis และถ้าดูจากการกระจายของตัวเลขด้วยค่า Exponential ค่า Adjusted R Sq. จะอยู่ที่ 87.1% แสดงว่าธนาคารยิ่งมีสินทรัพย์มาก จำนวนสินทรัพย์ต่อพนักงานหนึ่งคนย่อมมากตามไปด้วย

            การขยายตัวของธนาคารควรเป็นไปในทิศทางใด ในกรณี DBS เขาก็ยังรักษาการเติบโตตามแบบธนาคารมาตรฐานทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญมีการขยายสาขาไปต่างประเทศอย่างเป็นล่ำเป็นสัน  แต่ธนาคารของไทยมีเพียงไปเปิดสำนักงานติดต่อเป็นหลัก ไม่ค่อยได้บุกตลาดมากนัก นี่แสดงว่าธนาคารไทยยังไม่เป็นมืออาชีพเท่าที่ควรหรือไม่  ยิ่งกว่านั้นในด้าน Digital ทาง DBS ยังเข้าร่วมคณะกรรมการของ Blockchain Hedera <7>  ซึ่งกรณีนี้ไทยคงยังตามไม่ทัน และ DBS ยังเป็นธนาคารที่ได้รับใบอนุญาตขาย Cryptocurrency เป็นแห่งแรกในเอเชีย <8>

            SCB และธนาคารไทยจะเติบโตไปในทิศทางไหน ต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่

 

อ้างอิง

<1> ข่าวของธนาคารไทยพาณิชย์ https://www.scb.co.th/th/about-us/news/nov-2564/scbs-bitkub-online.html

<2> ตรวจสอบราคาBitcoinได้ที่นี่ https://www.coindesk.com/price/bitcoin/

<3> ดูรายละเอียดที่นี่ https://www.sec.or.th/TH/Pages/Shortcut/DigitalAsset.aspx#ADV

<4> ดูข่าวที่ https://www.posttoday.com/world/654790

<5> ดูข่าวที่ https://mgronline.com/stockmarket/detail/9640000058788

<6> โปรดดูวิกฤติ Subprime https://bit.ly/3C0ZOXl

<7> DBS Bank joins the board of directors of blockchain Hedera https://www.uktimenews.com/dbs-bank-joins-the-board-of-directors-of-blockchain-hedera/

<8> Singapore Gives Crypto License to DBS Unit, Aussie Exchange https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-10-01/singapore-grants-crypto-licenses-to-dbs-australian-exchange

อ่าน 2,136 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved