ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง
  AREA แถลง ฉบับที่ 24/2565: วันจันทร์ที่ 10 มกราคม 2565

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            การที่เมืองเบตงมีสนามบินเป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดา ดร. โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้เดินทางไปเยือนท่าอากาศยานนานาชาติเบตงในวันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม 2565

            ใน Wikipedia (https://bit.ly/3HowOf8) ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง (อังกฤษ: Betong International Airport) เป็นท่าอากาศยานแห่งที่ 39 ในประเทศไทย ตั้งอยู่เลขที่ 125 หมู่ที่ 8 ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อยู่ห่างจากตัวเมืองเบตงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 10 กิโลเมตร มีขนาดพื้นที่ 920 ไร่  ในปี พ.ศ. 2543 JICA ได้ศึกษาแผนแม่บทสนามบินของประเทศไทย และได้เสนอแนะให้มีท่าอากาศยานเบตง ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 กรมการขนส่งทางอากาศ กระทรวงคมนาคม จึงได้มีการศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง และทำการสำรวจพื้นที่และออกแบบท่าอากาศยาน

            การก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง เริ่มหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง ในวงเงิน 1,900 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (2559 – 2562) โดยจุดประสงค์ที่ก่อให้เกิดท่าอากาศยานเบตงนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการคมนาคมในพื้นที่อำเภอเบตงที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันไม่สะดวกต่อการเดินทาง และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม การเมือง และจะทำให้การคมนาคมขนส่งภายในจังหวัดยะลา และการเชื่อมต่อสู่ประเทศมาเลเซียที่ด่านเบตงและพื้นที่ใกล้เคียงจะสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

            คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 อนุมัติให้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายทางวิ่งท่าอากาศยานเบตงเพิ่มอีก 300 เมตรจากเดิม 1,800 เมตร เพิ่มเป็น 2,100 เมตร เพื่อให้สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ อย่างแอร์บัส เอ320 และโบอิง 737 อาคารผู้โดยสาร ลานจอดอากาศยาน ทางขับ และทางวิ่ง ได้แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2562 และอุปกรณ์อำนวยการเดินอากาศได้ติดตั้งแล้วเสร็จในต้นปี พ.ศ. 2563 แต่เนื่องจากเหตุการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019ทำให้ต้องเลื่อนเปิดท่าอากาศยานอย่างไม่มีกำหนด

            อาคารที่พักผู้โดยสารเป็นอาคาร 2 ชั้น มีพื้นที่ 7,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนได้ 300 คนต่อชั่วโมง หรือรองรับผู้โดยสารได้ 876,000 คนต่อปี  ลานจอดเครื่องบินขนาดกว้าง 94 เมตร และยาว 180 เมตร สามารถจอดอากาศยานประเภทเอทีอาร์ 72ได้ 3 ลำ ส่วนทางวิ่งขนาดกว้าง 30 เมตร ยาว 1,800 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง (ATR-72/Q-400) ได้มากกว่า 4,000 เที่ยวต่อปี

 

อ่าน 2,777 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved