สวนสาธารณะ กทม. ต้อง “ลอกการบ้าน” ให้ถูก
  AREA แถลง ฉบับที่ 38/2565: วันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2565

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ข่าวกำลังดังขณะนี้ก็คือ กทม. มีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองสาธารณะช่องนนทรีให้เป็นสวนสาธารณะใจกลางเมือง ข่าวนี้จะเป็นข่าวดีหรือไม่ดี ต้องพิจารณาให้ดี ดูแต่จากเปลือกนอกไม่ได้ ที่สำคัญ อ้างประสบการณ์หรือ “ลอกการบ้าน” ส่งเดชจากต่างประเทศไม่ได้เช่นกัน

            การปรับปรุงคลองโอ่งอ่างก็ดี หรือคลองช่องนนทรีก็ดี มีการอ้างอิงถึงคลองช็องกเยช็อน (Cheong Gye Cheon) ในใจกลางกรุงโซลว่าเขาปรับปรุงได้ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เลยเอามาทำเป็นแบบบ้าง หรืออ้างอิงการรื้อสนามบินมาทำสวนสาธารณะก็ยังมี ทำให้เกิดโรคคลั่งทำสวนสาธารณะในหมู่นักวางผังเมืองไทย ความจริงอยาไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เรามาลองดูความจริงดีกว่า จะได้รู้ว่านักผังเมืองไทย “ลอกการบ้าน” แบบผิดๆ อย่างไร

คลองช็องกเยช็อน (Cheong Gye Cheon)

            ใน  Wikipedia ระบุว่า คลองนี้ เป็นคลองโบราณในสมัยราชวงศ์โชซ็อน อายุกว่า 600 ปี ความยาวประมาณ 5.84 กิโลเมตร ไหลผ่านย่านใจกลางโซล แต่ในช่วงค.ศ. 1957-ค.ศ. 1977 ได้มีการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด ทำให้คลองถูกถมลงเป็นถนนและทางด่วน เกิดตึกสูงมากมาย คลองช็องกเยช็อนก็เริ่มเน่าเสียและตื้นเขิน เรียงไปด้วยชุมชนแออัด  ผมเองเดินทางไปเกาหลีเมื่อปี 2545 ยังพบชุมชนแออัดมากมายในกรุงโซล (https://bit.ly/3cGbmoC)

            จนถึงปีกระทั่งปี ค.ศ. 2002 ผู้ว่าการกรุงโซล เขาได้เสนอโครงการฟื้นฟูคลองช็องกเยช็อน แต่ชาวบ้านต่อต้านกันมาก จนต้องมีการประชุมร่วมกันมากกว่า 4,300 ครั้ง (แต่คลองช่องนนทรีของไทย ไม่เคยเห็นมีการประชุม หรือแอบมุบมิบประชุมไม่กี่คนหรือไม่) และโครงการก็เริ่มขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2546 โดยเริ่มทุบทางด่วน และรื้อถนนโดยรอบมากมาย และแล้วเสร็จในถัดมา

            มีการฟื้นฟูธรรมชาติสองฝั่งคลอง ตลิ่งถูกตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงาม และใช้วิธีขุดท่อผันน้ำจากแม่น้ำฮันเข้ามาที่ต้นคลอง แล้วไล่น้ำเสียออกทะเล มีการสร้างน้ำพุตลอดแนว เขื่อนชะลอความเร็วน้ำ ลานกิจกรรม ที่พักผ่อน และมีน้ำตกเป็นแนวกั้นน้ำฝน มีทางเดินเลียบคลอง และสะพานกว่า 22 แห่ง ซึ่งจัดให้ประชาชนร่วมออกแบบสะพานประกวด ทำให้สะพานทุกแห่งล้วนมีรูปแบบที่ไม่ซ้ำกัน (ของไทยแอบออกแบบกันเอง) ส่งผลให้พื้นที่โดยรอบมีราคาเพิ่มสูงขึ้น กลายเป็นแหล่งที่อยู่ของคนรวย สำนักงานบริษัทชั้นนำ และยังกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ

            การทางด่วนที่คร่อมคลองน้ำเน่ามาปรับให้สวยงาม (https://goo.gl/YnTnI8) เกิดขึ้นเพราะปัจจัยหลายอย่าง (http://goo.gl/XhTc27) ที่ อ.ขวัญสรวง ไม่ได้กล่าวถึง:

            1. การพัฒนาศูนย์ธุรกิจใจกลางเมืองเดิมแห่งนี้ ไม่ได้เข้ามาถึงพื้นที่นี้ ทำให้ประชากรและการจ้างงานลดไปครึ่งหนึ่ง  ธุรกิจใหญ่ ๆ ย้ายออกไปศูนย์ธุรกิจใจกลางเมืองใหม่ที่กังนำ (Gangnam) และอุตสาหกรรมในเขตใจกลางเมืองก็เสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว

            2.  ถนนที่เห็นคร่อมคลองแห่งนี้อยู่นั้น อยู่ในสภาพทรุดโทรม เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการใช้สอย และนับแต่ปี 2540 เป็นต้นมาจนถึงการรื้อทิ้งในปี 2551 ก็อนุญาตให้เฉพาะรถเล็กวิ่งผ่านเท่านั้น ค่าบำรุงรักษาในช่วง 2537-2541 ก็สูงถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐ

            3. การรื้อทางด่วนออกได้เพราะกรุงโซลใช้ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินและรถประจำทางมากขึ้น และจำกัดการใช้รถส่วนบุคคลเข้าสู่เขตใจกลางเมือง  ความต้องการใช้ทางด่วนที่ทรุดโทรมดังกล่าวจึงลดน้อยลงตามลำดับ

            4. งบประมาณที่ใช้เป็นงบประมาณของมหานคร ไม่ใช่งบประมาณของประชาชนทั้งประเทศที่จะมาถมให้กับคนในพื้นที่ และคนในพื้นที่รวมทั้งธุรกิจก็มีส่วนร่วมในการสนับสนุนด้วย (http://goo.gl/8Efqzp)

            ดังนั้นการอ้างการพัฒนาคลองนี้ลอย ๆ โดยไม่แสดงที่มาที่ไปที่ชัดเจน จึงเป็นก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการนี้ เพียงเพื่อมาสนับสนุนการสร้างสวนสาธารณะในบริเวณช่องนนทรี  หรือคลองโอ่งอ่างอยางผิดๆ

 

สนามบินกรุงเบอร์ลิน

            มีสนามบินแห่งหนึ่งชื่อ Tempelhof ในกรุงเบอร์ลินที่เขานำมาทำสวนสาธารณะ  ข้อนี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเช่นกัน  สนามบินแห่งนี้จำเป็นต้องยกเลิกไปเพราะรันเวย์สั้นเกินไป และทางราชการได้ไปก่อสร้างสนามบินในบริเวณอื่นแล้ว  ส่วนที่ไม่นำสนามบินแห่งนี้ไปใช้ในเชิงธุรกิจเพราะตั้งอยู่นอกเขตศูนย์ธุรกิจ ล้อมรอบด้วยที่อยู่อาศัยที่ค่อนข้างเบาบาง ต่างจากโรงงานยาสูบหรือมักกะสันที่ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าหลายสาย  เหมาะที่จะพัฒนาในเชิงพาณิชย์เพื่อประเทศชาติ

            สนามบินเก่าแห่งนี้ไม่ได้มีเพื่อเป็นสวนสาธารณะเป็นสำคัญ ยังเป็นที่แข่งรถ จัดงานอีเวนท์ต่าง ๆ รวมทั้งการประชุม และยังอาจจะจัดการเป็นอื่นได้ในอนาคตซึ่งต้องติดตามกันต่อไป ไม่ใช้ปล่อยให้เป็น “พิพิธภัณฑ์” หรือให้”คนตายขายคนเป็น”  ที่สำคัญต้นทุนในการพัฒนาที่ดินแปลงนี้ มาจากทางเทศบาลเอง ถือว่าประชาชนในท้องถิ่นต้องออกเงิน ไม่ใช่ไปเอาเงินของประชาชนทั่วประเทศมาพัฒนาแต่อย่างใด (http://goo.gl/R4h8tm)

            การพัฒนาสนามบินเก่าในเยอรมนียังมีตัวอย่างอื่นที่ชัดเจนว่า ไม่ได้นำไปทำสวนสาธารณะ อย่างเช่น สนามบิน Riem ในนครมิวนิก (http://goo.gl/h9csXO) หลังจากการเลิกใช้ ก็ได้เปลี่ยนเป็นที่จัดงานอีเวนต์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับที่ Tempelhof แต่ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงการใช้สอยเป็นศูนย์ประชุม อาคารชุดพักอาศัย และแน่นอนย่อมมีส่วนหนึ่งเป็นสวน  ส่วนตัวรันเวย์ยังเก็บไว้เพื่อการดัดแปลงการใช้สอยในอนาคต

 

 

สนามบินไคตักในฮ่องกง

            สนามบินที่พอเทียบกับไทยได้คงเป็นสนามบินไคตักเก่าบนเกาะฮ่องกงก็ไม่ยอมกลายเป็นสวน หลังจากสนามบินแห่งนี้ปิดตัวลงในปี 2541 ทางการฮ่องกงไม่เอาไปทำสวน  แต่มีวิสัยทัศน์กว่านั้นมาก เขานำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ คล้ายที่เซี่ยงไฮ้ โดยมีทั้งโรงแรม อาคารสำนักงานทั้งของรัฐและเอกชน ศูนย์การค้า ห้องชุดหรูเลิศขายให้กับคนรวยๆ เพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศ (http://bit.ly/1HdooTG)

            สนามบินที่อยู่ใจกลางเมืองนี้ควรค่าแก่การพัฒนาเพื่อประโยชน์ที่ “กินได้” ของประชาชนในเมืองแบบเป็นศูนย์ธุรกิจ ที่อยู่อาศัย เพื่อนำเงินกลับมาพัฒนาประเทศ ไม่ใช่ให้แต่พวกกฎุมพีนำไปประดับประประดาเป็นสวนสาธารรณะ  แนวคิดในการสร้างสวนสาธารณะในต่างประเทศก็เปลี่ยนไปแล้วแทนที่จะสร้างเป็นสวนขนาดใหญ่ ก็เปลี่ยนมาเป็นสวนขนาดย่อมๆ กระจายไปทั่วเมือง เช่น  สวนโรงงานยาสูบ ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็อาจเป็นชาวพระราม 4 ส่วนชาวพระราม 3 ก็อาจได้บ้าง ชาวพระราม 2 ที่อยู่ไกลกว่าก็คงไม่ “ถ่อสังขาร” ไป  อย่างสวนลุมพีนีก็มีผู้ไปใช้สอยเพียงวันละ 12,000 คน แต่ถ้าสร้างขนาดเล็กๆ กระจายไปทั่ว กลับจะได้คนใช้สอยเพิ่มขึ้น เป็นต้น

 

สรุป

            ดังนั้นการนำข้อมูลต่าง ๆ มาอ้างอิง จึงควรที่จะพูดให้รอบด้านเพื่อไม่ให้เกิดความเอนเอียงด้วยอคติ  ไม่มีใครในโลกนี้คิดจะเอาสถานที่เชิงยุทธศาสตร์ในการขนส่งและจราจร เช่น มักกะสันมาทำสวนหรือพิพิธภัณฑ์รถไฟหรอกครับ ดูต่างอย่าง KL Sentral ที่เป็นศูนย์คมนาคมกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ (http://bit.ly/1QcygPZ) เป็นตัวอย่าง ไม่มีการแบ่งแปลงไว้ทำสวนสาธารณะเลย มีแต่แบ่งเป้นศูนย์การค้า โรงแรม ศูนย์คมนาคมเป็นสำคัญ

            จะ ลอกการบ้าน ใคร ต้องรู้จริง ไม่ใช่สักแต่อ้างหรือ มโน เข้าข้างตัวเอง

อ่าน 948 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved