AREA แถลง ฉบับที่ 84/2556: 4 กรกฎาคม 2556
การพัฒนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองจักรยาน
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
กรุงเทพมหานครมีโครงการ "ปันปั่น" แต่จะมีประสิทธิผล หากไม่ดำเนินการอย่างจริงจังและมีบูรณาการด้วยการรณรงค์การใช้จักรยานสำหรับคนใจกลางเมือง
โครงการของกรุงเทพมหานครขณะนี้ มีจุดจอดรถเพียงน้อยนิดคือ 50 จุด แต่ละจุดมีรถให้เช่าประมาณ 10-20 คันเท่านั้น และเท่าที่ดำเนินการมาก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร จากประสบการณ์ใช้จักรยานในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้พบมา กรุงเทพมหานครควรมีการปรับปรุงให้มีประสิทธิผลมากขึ้น
การแปลงกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองจักรยานทำได้ทันที คุ้มค่า ดีต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ฯลฯ หลักสำคัญอยู่ที่การส่งเสริมให้เป็นวิถีชีวิตของคนที่อยู่อาศัยใจกลางเมือง ไม่ใช่สิ่งแปลกแยก (Alienated) ทั้งนี้การส่งเสริมการใช้จักรยานทำได้จริงโดยเริ่มที่ใจกลางเมืองก่อน เพียงการทำจักรยานให้เช่าให้แพร่หลายเพื่อการใช้สอยจริงในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทางไปทำงานในแต่ละวัน ไม่ใช่เน้นเพื่อนักท่องเที่ยว โดยการให้มีจุดเช่า/คืนประมาณ 1,000 จุดทั่วเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน-กลาง และส่งเสริมให้มีการใช้จักรยานอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้การใช้จักรยานเป็นจริงได้
หากแต่ละจุดมีจักรยานให้เช่า 40 คัน รวม 40,000 คัน ๆ ละ 3,000 บาท (ราคาที่เป็นจำนวนมาก) ก็เป็นเงินเพียง 160 ล้านบาท ค่าสถานที่และจัดการอีกประมาณ 1 เท่าตัว จะเห็นได้ว่าโครงการนี้สำเร็จได้ด้วยเงินเพียงไม่เกิน 400 ล้านบาท
ในทางการเงิน ค่าเช่าจักรยานขี่ในแต่ละวัน (วันหนึ่งได้หลายเที่ยว) อาจเป็นเงินเพียง 20 บาท โดยมีกำไรสุทธิ 20% หรือเพียง 4 บาท เมื่อโครงการอยู่ตัวแล้วในแต่ละวันอาจมีผู้เช่าเพียง 30% ของรถทั้งหมด คือมีผู้เช่า 12,000 คันจากทั้งหมด 40,000 คัน ในปีหนึ่งก็จะมีรายได้สุทธิ 17.52 ล้านบาท หรือมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 4.4% ซึ่งแม้จะไม่สูงนัก แต่ก็ไม่ขาดทุน
หากพิจารณาถึงผลดีที่ได้ด้านการลดการใช้น้ำมันที่มีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ การลดมลภาวะ และการมีสุขภาพที่ดีจากการออกกำลังกายนี้ ก็นับว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมาก และแนวทางการดำเนินการด้วยงบประมาณเพียงเท่านี้ ก็อาจขอความอนุเคราะห์จากวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างภาพลักษณ์ ก็อาจทำให้โครงการนี้เป็นจริงได้โดยกรุงเทพมหานครแทบไม่ต้องเสียเงินอะไรเลย
กรณีตัวอย่างที่เห็นในกรุงวอชิงตันดีซี ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ เฉพาะในเขตใจกลางเมืองมีจักรยานให้เช่าถึง 150 จุด ๆ ละ ประมาณ 20-40 คัน คิดค่าเช่าเพียง 15 เหรียญสหรัฐ หรือ 150 บาทต่อ 3 วัน หรือวันละ 50 บาท หากคิดจากค่าครองชีพที่สูงกว่าไทย 5 เท่า ก็คงเป็นเงินเพียงวันละ 10 บาทเท่านั้น ประชาชนที่นั่นจึงใช้รถจักรยานเช่าไปทำงานได้ทั่วไป หรือเหมาะสมกับนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน
กรุงเทพมหานครน่าขี่จักรยานที่สุดเพราะไม่มีเนินเขา (แต่ต้องปรับเรื่องท่อและความเรียบ) บางคนนึกอิจฉาที่ชาวตะวันตกใส่สูทขี่จักรยานไปทำงานเพราะเมืองไทยร้อน แต่ในหน้าหนาวพวกเขาก็ทำเท่ไม่ได้ ถ้าเราจะขี่จักรยานในชีวิตประจำวัน เราก็ควรต้องมีชุดที่ปกคลุมร่างกายให้ดี แล้วค่อยไปเปลี่ยนชุดที่ทำงาน จัดให้มีสถานที่อาบน้ำชำระร่างกายเมื่อถึงที่ทำงาน (ถ้ามีโอกาส) เพื่อใช้ชีวิตเรียบง่ายพอเพียง (ที่แท้) เช่นชาวตะวันตก
โดยสรุปแล้ว เราต้องรณรงค์ให้ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร ใช้รถจักรยานเช่าเสียก่อน ถ้าคนจำนวนมากขี่จักรยาน สำหรับกรณีเลนหรือช่องทางจักรยาน ก็ไม่จำเป็นต้องมี หากสามารถรณรงค์ให้มีจักรยานจำนวนมากกว่ารถในท้องถนนโดยเฉพาะในเขตใจกลางเมือง เช่น ในพื้นที่ตั้งแต่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและถนนราชวิถีทางทิศเหนือ ถนนสุขุมวิท 21 ทางทิศตะวันออก ทางถนนจันทน์ทางทิศใต้ และคลองผดุงกรุงเกษมและถนนสวรรคโลกในทิศวันตก นอกจากนี้ในระยะแรกต้องมีอาสาสมัครคอยอำนวยความสะดวกและระวังอุบัติเหตุจากรถใหญ่
คนเมืองในกรุงเทพมหานครควรทำเมืองให้สะอาดปลอดมลพิษด้วยสองมือของเราเอง
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน |