ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ (SEA) และผมก็เห็นด้วยกับการใช้ถ่านหินมาโดยตลอด แต่ขณะนี้การใช้ถ่านหินกำลังถูกบิดเบือน
เป็นที่ทราบกันดีว่าภาคใต้ยังไม่มีโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าอย่างจริงจังเป็นของตนเอง ต้องอาศัยไฟฟ้าที่ผลิตได้จากภาคกลางนำมาใช้ในภาคใต้เป็นหลัก ทำให้ขาดความมั่นคงด้านพลังงาน ที่ผ่านมาที่จังหวัดกระบี่ก็เคยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้เช่นกัน โรงไฟฟ้าลิกไนต์กระบี่ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงแห่งแรกและแห่งเดียวของภาคใต้ มีขนาดกำลังผลิตรวม 60 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าขนาด 20 เมกะวัตต์ จำนวน 3 เครื่อง เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 และทำพิธีปลดโรงไฟฟ้าออกจากระบบเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2538 รวมอายุการใช้งาน 31 ปี ทั้งนี้ตั้งอยู่เลขที่ 112 หมู่ 2 ต.คลองขนาน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ มีเนื้อที่ประมาณ 600 ไร่
ที่ผ่านมาคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ (SEA) ได้ว่าจ้างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) นำเสนอการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ผมได้ท้วงทิงทางสถาบันว่าหากจะเห็นว่าพลังงานถ่านหินไม่ควรมีในประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่ควรศึกษาก็คือ การชี้ให้เห็นชัดว่าการที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินมากมายในประเทศเพื่อนบ้าน มีความไม่เหมาะสมจริงหรือไม่ เพื่อที่ประเทศไทยจะได้นำมาเป็นบทเรียนและละทิ้งการใช้ถ่านหิน
ทาง NIDA ไม่ได้ศึกษาว่า
1. มาเลเซียมีโรงไฟฟ้าถ่านหินริมทะเล (ต่างจากกระบี่ที่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน) บางแห่งก็อยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar Site) แบบเดียวกับไทย เช่น Tanjung Bin Power Station ทำไมมาเลเซียจึงทำได้และไม่กระทบต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประเด็นนี้การศึกษาระดับยุทธศาสตร์พึงมีคำตอบที่ชัดเจน
2. เวียดนามก็ตั้งอยู่ในภูมิภาคเดียวกับไทย และใกล้กับไทยเช่นกัน มีโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ๆ หลายแห่ง กรณีนี้การศึกษาระดับยุทธศาสตร์ก็ควรมีคำตอบที่ชัดเจนว่า ทำไมไทยจึงมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเช่นเดียวกับเวียดนามไม่ได้
3. ในประเทศเพื่อนบ้านอื่น เช่น ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย (เฉพาะเกาะบาตัมใกล้สิงคโปร์) ล้วนมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน การศึกษาระดับยุทธศาสตร์ที่แท้ควรไปศึกษาให้ชัดเจนว่าการมีโรงไฟฟ้าถ่านหินสร้างมลพิษในประเทศเหล่านี้จริงหรือ หาไม่ก็คงไม่ใช่การศึกษาระดับยุทธศาสตร์แล้ว
ผมได้ท้วงติงทาง NIDA ว่าควรมีผลการศึกษาให้ชัดเจนถึงเรื่องนี้ NIDA ก็บอกว่ามีการแสดงผลการศึกษาไว้แล้วในรายงาน และให้ผู้เกี่ยวข้องคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้รายงาน อย่างไรก็ตาม NIDA เป็นผู้ศึกษา จึงควรศึกษาให้ชัดเจนว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินที่มาเลเซียทำไมตั้งได้ และยืนยันให้ชัดเจนว่าควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้เช่นที่อื่นเขามีกัน จะมาอ้างอิงผลการศึกษาโดยที่ตนเองไม่ได้ยืนยันคงไม่ได้ ทุกวันนี้ในประเทศเยอรมนีเอง ก็ยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน พลังงานจากถ่านหินมีสัดส่วนถึง 20.3% ของพลังงานทั้งหมดในประเทศดังกล่าว ถ้าถ่านหินมีมลพิษจริง เยอรมนีก็คงไม่ใช้
ที่ผ่านมาอ้างโพลของ NIDA เองเกี่ยวกับการสอบถามความเห็นของประชาชนเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผมเห็นว่าการศึกษาด้วยโพลนี้ไม่สามารถนำมาใช้ได้ โพลดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยไม่ได้เผยแพร่แก่สาธารณชนในเว็บไซต์ของ Nida Poll และจัดทำโดยใช้วิธีสุ่มโทรศัพท์ไปยังประชาชนในภาคใต้จำนวนพันคนเศษ เพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และพบว่าประชาชนเกินครึ่งไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ โพลดังกล่าวไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ใช้อ้างอิงไม่ได้ เพราะ
1. การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรณีนี้เป็นการใช้ความรู้สึกเพราะมีการโฆษณากันตลอดว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นอันตรายโดยประชาชนไม่ได้รับข้อมูลความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าโดยเฉพาะในยุคใหม่ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ความรู้สึกแบบนี้จึงนำมาใช้ประกอบการศึกษาทางวิชาการไม่ได้
2. สิ่งที่ NIDA พึงสำรวจคือความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่โดยตรงเพื่อให้ได้ความเห็นของคนส่วนใหญ่ แต่กลับไม่สำรวจ เพียงแค่ไปเยี่ยมบ้าน สัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการโดยไม่ได้นำพาว่าประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจริงๆ หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และต้องการให้จัดทำประชามติ แต่ NIDA ก็ไม่ยอมรับไปดำเนินการ ทั้งยังไม่ยอมสำรวจความเห็น
3. สิ่งที่ NIDA ทำก็คือการไปเชิญผู้นำฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินมา “สานเสวนา” ซึ่งบุคคลเหล่านี้ต่างก็มีจุดยืนของตนเองชัดเจน จึงเป็นการดำเนินการที่แทบจะสูญเปล่า
ยิ่งกว่านั้นผลการสำรวจของ NIDA เองก็พบว่าประชาชนในพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินเดิมที่กระบี่ มากกว่า 90% ต้องการให้มีโรงไฟฟ้าที่นั่นเพราะมั่นใจว่าไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ข้อนี้สังคมควรให้ความสำคัญของความต้องการของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง ถ้าประชาชนในพื้นที่คัดค้านก็ว่าไปอย่าง แต่นี่ประชาชนสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน NIDA กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อนี้เท่าที่ควร ผลการศึกษาจึงออกไปในแนวจะใช้แก๊สและน้ำมันเพื่อการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก
หรือว่ารองนายกฯ และ รมว.พลังงานคนปัจจุบันเคยทำงานที่ ป.ต.ท.?