AREA แถลง ฉบับที่ 86/2556: 9 กรกฎาคม 2556
ยะลา: เล่าเรื่องจากภาพ
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
ภาพที่ 1: หน้าสถานีรถไฟยะลาที่เคยมีระเบิด
หากชวนไปเที่ยวยะลา คงไม่มีใครอยากไป ผมได้มีโอกาสเดินทางไปมาแล้ว จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและดีๆ เป็นกำลังใจแก่ชาวยะลาในภาวะคุกรุ่นด้วยการก่อการร้าย
เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2556 ผมได้เดินทางไปสำรวจวิจัยที่จังหวัดยะลาเป็นเวลา 3 วัน ผมได้ถ่ายภาพมาเป็นจำนวนมาก มีข้อสังเกตต่าง ๆ มากมาย จึงเขียนมาแลกเปลี่ยน เผื่อช่วยกันคิดทำภาคใต้ของเราให้เข้าสู่ภาวะปกติสุข ผมเชื่อว่าหลายคนคงไม่คิดจะไปท่องเที่ยวที่ยะลา ผมจึงเก็บภาพมาฝาก จะได้เป็นเสมือนว่าท่านได้มีโอากสร่วมไปท่องเที่ยวยะลาด้วยกัน
ภาพที่ 2: ยะลาห่างจากกรุงเทพมหานครนับพันกิโลเมตร (ถ้าถึงเบตงก็ราว 1,200 กิโลเมตร)
ประเมินความเสี่ยงแล้วไปได้แน่
เมื่อได้รับมอบหมายจากลูกค้าให้สำรวจวิจัยอสังหาริมทรัพย์ ผมจะปฏิเสธก็จะเสียความเป็นนักวิชาชีพ จะให้นักวิจัยรุ่นหลัง ๆ ไป เขาก็ยังอาจห่วงชีวิตและความปลอดภัย ผมเลยตัดสินใจไปเอง ไหน ๆ ก็ได้อยู่ดูโลกมามากกว่าพวกเขาแล้ว และถือโอกาสแสดงความกล้าหาญไปในตัวด้วยครับ
อย่างไรก็ตามผมได้ประเมินดูแล้ว ภาพที่ออกสื่อมา ออกจะรุนแรงเกินความเป็นจริง ผมรู้จักท่านประธานหอการค้า ซึ่งผมเคยไปบรรยายในหลักสูตรอสังหาริมทรัพย์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจบางแห่งซึ่งผมเคยพาไปสอนวิชาการประเมินค่าทรัพย์สินมากับมือ ท่านต่างก็ยืนยันว่ายะลาและสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้อันตรายหรือตกอยู่ในภาวะมิกขสัญญีแต่อย่างใด ผมจึงวางใจที่จะไป
การสำรวจพื้นที่
ตอนเดินทางไป ผมก็จองโรงแรมผ่านเว็บไซต์ชื่อดัง Agoda แต่ปรากฏว่า ไม่มีโรงแรมใดอยู่ในรายการชื่อของเว็บไซต์แห่งนี้เลย แสดงว่าแทบไม่มีใครคิดจะไปใช้บริการ โรงแรมที่ไปพักก็อยู่ในสภาพพอใช้ได้ ถือเป็นโรงแรมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในยะลาแล้วในขณะนี้ แต่ถ้าเทียบกับจังหวัดอื่น ก็คงยังถือว่าแค่สองดาวเท่านั้น ทั้งนี้เพราะแขกที่มาท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวยุโรป ญี่ปุ่นคงมีน้อยมาก น่าสนใจที่คนมาส่วนใหญ่เป็นคนมาเลเซีย และยังมีอินโดนีเซีย ไม่รู้เป็นอะไรกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบด้วยหรือไม่
ภาพที่ 3: ขับรถเข้าไปในที่เปลี่ยวแถวสถานีรถไฟตาเซะ ใกล้เขตแดนจังหวัดปัตตานี
สถิตินักท่องเที่ยวยะลา พ.ศ.2554
สัญชาติ จำนวนคน
อังกฤษ 25
รัสเซีย 40
ยุโรปอื่น ๆ 52
ญี่ปุ่น 58
เวียดนาม 299
อินเดีย 347
สิงคโปร์ 685
อินโดนีเซีย 1,351
จีน 5,644
มาเลเซีย 200,777
รวมคนต่างชาติ 209,278
คนไทย 97,039
รวมทั้งหมด 306,317
ที่มา: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
เมื่อไปถึงยะลาก็มีโอกาสไปสำรวจทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท พื้นที่นอกเมืองส่วนมากเป็นสวนยาง ในเขต "ไกลปืนเที่ยง" ซึ่งถึงแม้จะอยู่ในเขตอำเภอเมืองยะลาก็ตาม แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อยู่ติดกับเขตปลายสุดของจังหวัดปัตตานี ตามภาพที่ผมนั่งรถไปกัน 3 คนนั้น ถือว่าค่อนข้างเปลี่ยวมาก หากโจรใต้โผล่มาก็คงไม่รอด แต่โจรใต้ก็มีวินัย คงไม่ได้เที่ยวยิงหัวชาวบ้านส่งเดชตามข่าว อย่างแม้แต่ชาวบ้านไทยมุสลิมที่ถูกยิง ถูกฆ่าเสียชีวิต อาจมีสาเหตุอื่น เช่น การค้าของเถื่อน การพนัน หรือการสร้างสถานการณ์โดยผู้ไม่หวังดี (ที่ไม่ใช่โจรใต้) ก็ได้
ภาพที่ 4: การสัมภาษณ์ชาวบ้านอย่างใกล้ชิด
แม้ในหมู่บ้านมุสลิมชนบทห่างไกล มีโรงเรียนประจำพื้นที่โดยมีทหารคอยถือปืนคุ้มครองครู ผมได้พบกับคุณปู่อายุ 84 ปี และศรีภริยา พร้อมเพื่อนบ้าน ซึ่งยินดีให้สัมภาษณ์เป็นอย่างดี ชาวบ้านต่างแสดงความเป็นมิตร อย่างไรก็ตามเพื่อนบ้านของท่าน ก็เป็นโจรใต้ โดยมีผลงานยิงทหารตายไป 6 ศพในหมู่บ้านแห่งนี้ แต่ขณะนี้หนีไปแล้ว ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะแอบกลับบ้านยามค่ำคืนหรือไม่ แต่ที่แน่นอนก็คือในเวลากลางวันที่ผมไปสำรวจนั้น เขาคงไม่อยู่ แม้ชาวบ้านจะยินดีต้อนรับอย่างเป็นมิตร แต่ก็สังเกตได้ว่า ยังมีความหวาดระแวงอยู่บ้าง ซึ่งก็กลายเป็นความธรรมดาไปแล้ว เพราะทุกคนก็ต้องคอยระมัดระวังตัวเช่นกัน
ภาพที่ 5: ตู้โทรศัพท์ไร้คนใช้จนวัชพืชรก (พบเห็นในเขตชนบทภาคอื่นเช่นกัน)
ความสัมพันธ์อันดีไทยพุทธ-มุสลิม
ทุกวันนี้ยังพบร้านค้าชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมตั้งอยู่ใกล้ชิดติดกัน โดยในภาพที่ 5 นี้แสดงให้เห็นถึงร้านอาหารเช้าแบบคนจีนที่มีเนื้อหมูด้วย กับร้านค้าเสื้อผ้าของชาวไทยมุสลิมในตลาดกลางเมืองยะลา ส่วนภาพที่ 6 เป็นภาพร้านอาหารหน้าสถานีรถไฟยะลา เป็นร้านมุสลิมที่มีรสชาติอร่อย (อุดหนุนมาแล้ว) กับร้านเครื่องในหมู ซึ่งตั้งประชันอยู่ข้าง ๆ กันอย่างสันติสุข
ภาพที่ 6: ร้านค้าไทยพุทธ - ไทยมุสลิม ตั้งอยู่ติดกันในตลาดกลางเมืองยะลา
ภาพที่ 7: ร้านอาหารไทยมุสลิม - กับไทย/จีน ตั้งอยู่ติดกันหน้าสถานีรถไฟยะลา
แม้แต่บ้านเรือนของประชาชนในโครงการจัดสรรต่าง ๆ ต่างคนก็ต่างนับถือศาสนา เช่นกรณีบ้านทาวน์เฮาส์ 2 ห้องนี้ ห้องหนึ่งสังเกตได้ว่าเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนที่นับถือพุทธ ส่วนอีกห้องหนึ่งเป็นคนไทยมุสลิมอย่างแน่นอน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ถือเป็นสิ่งที่ควรได้รับการส่งเสริม ในสิงคโปร์ เขาให้คนทุกศาสนาอยู่อย่างผสมผสานกันเพื่อความสมานฉันท์ จะอยู่แยกเฉพาะกลุ่มไม่ได้
ภาพที่ 8: เพื่อนบ้านที่นับถือคนละศาสนา แต่ก็เป็นคนไทยเหมือนกัน
สถานการณ์แปรเปลี่ยน
ในปัจจุบัน จะเห็นภาพทหาร-ตำรวจตั้งด่านตรวจ หรือลาดตระเวนในพื้นที่ต่าง ๆ จนชินตาผมผ่านเขตอำเภออื่นหรือตามชุมชนใหญ่ ๆ ก็จะมีด่านหรือป้อมตำรวจคอยตรวจตราอย่างเข้มงวด เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน กล่าวได้ว่าทหารและตำรวจเป็นเป้าหมายสำคัญของการฆ่า โดยมีการแวะเวียนมายิงหรือปาระเบิดเจ้าหน้าที่ถึงป้อมยาม แทนที่จถถูกเจ้าหน้าที่ไล่ล่าเพียงฝ่ายเดียว
ภาพที่ 9: กับตำรวจตระเวนชายแดนที่หน้าเทศบาลเมืองสะเตงนอก
สำหรับในยามค่ำคืนในเมืองจะพบว่าค่อนข้างเงียบ โดยหลังเวลา 21:00 น. ก็แทบจะไม่มีใครเปิดประตูบ้านกันแล้ว แต่ก็มีร้านอาหารชื่อดัง สถานอาบอบนวด และอื่น ๆ อีกบางส่วนที่เปิดบริการถึงดึกดื่น แต่ร้านค้าทั่วไปปิดในเวลากลางคืน ไม่มีตลาดโต้รุ่ง หรือตลาดกลางคืนเช่นในจังหวัดอื่น หรือเช่นที่เคยมีในอดีต ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดนี้ด้อยกว่าแต่ก่อนพอสมควร
ข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ บริเวณริมถนน ชาวบ้านบางรายที่พบเห็นระเบิดบ่อย ๆ เกิดความกลัว จึงก่อสร้างเป็นกำแพงไว้หน้าบ้าน เผื่อหากมีโจรใต้มาวางระเบิด จะได้ไม่เสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมากนัก ภาพเช่นนี้คงไม่สามารถเห็นได้ในกรุงเทพมหานคร ยกเว้นหน้าบ้านที่เคยถูกรถเสยชนเข้าไป อาจจะปักเสาไว้หน้าบ้านเพื่อเป็นการ "วัวหายล้อมคอก" (โปรดดูรูปที่ 10)
ภาพที่ 10: ในเมืองยะลายามค่ำคืน พร้อมกับกำแพงป้องกันระเบิด
นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมที่แตกต่างไปอีกอย่างหนึ่งก็คือ การจอดรถ ปกติในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่นจะจอดรถริมทางเท้า แต่ที่ยะลาและอาจรวมถึงปัตตานีและนราธิวาส กลับจอดรถกันบริเวณเกาะกลางถนน ทั้งนี้เพราะชาวบ้านหวาดเกรงการลอบวางระเบิดโดยใช้รถยนต์ ถ้าไม่มีการก่อการร้าย ก็คงไม่มีวัฒนธรรมเช่นนี้ หลังจากกลับจากยะลา ผมได้เดินทางไปสอนหนังสือที่จังหวัดตรัง พบเห็นชาวบ้านนั่งเล่นทอดหุ่ยอยู่หน้าบ้าน ภาพเช่นนี้ก็คงเคยเกิดขึ้นในยะลา แต่ไม่ใช่ทุกวันนี้
ภาพที่ 11: 'ประเพณี' การจอดรถริมเกาะกลางถนน
ราคาที่ดินกลับพุ่ง
แม้ในจังหวัดยะลา ราคาที่ดินอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นพรวดพราดเช่นในจังหวัดอื่นเนื่องเพราะการก่อการร้าย แต่การขายที่ดินต่ำกว่าราคาตลาด หรือขายถูก ๆ คงแทบไม่มี แม้คนไทยพุทธส่วนหนึ่งจะหนีไปอยู่จังหวัดอื่น ในอีกทางหนึ่งก็มีป้ายโฆษณาบ้านจัดสรรและอาคารชุดที่หาดใหญ่มาเชิญคนซื้อในยะลาหลายต่อหลายป้ายก็ตาม แต่บางคนก็ไปซื้อบ้านต่างเมืองไว้เป็นบ้านอีกหลังหนึ่งต่างหาก
สำหรับบ้านและที่ดินในเขตใจกลางเมือง ราคาก็ยังขยับตัวสูงขึ้น โดยในเขตเมือง มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ทำให้ประชาชนส่วนมากอุ่นใจ และเข้ามาซื้อบ้านในเขตเมืองมากขึ้น ราคาตึกแถวหรืออาคารพาณิชย์ที่แพงที่สุดในเขตโครงการเมืองใหม่ยะลา ขายสูงถึงคูหาละ 7.5 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นนับเท่าตัวในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก
ภาพที่ 12: ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะใจกลางเมืองยะลา
ภาพที่ 13: ขอทานก็ยังมีให้พบเห็นในยะลา
ในตอนเช้ามืดของแต่ละวัน ก็ยังมีคนกวาดเก็บขยะไปตามถนนสายต่าง ๆ ใจกลางเมืองในเวลากลางวันก็มีรถขยะคอยเก็บขยะตามหมู่บ้านต่าง ๆนอกจากนี้ยังพบผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะหรือคนเร่นอน นอนอยู่ในซอกหลืบใจกลางเขตเทศบาลยะลา หรือภาพขอทานผู้เฒ่าอยู่ในตลาดกลางเมืองยะลายิ่งกว่านั้นยังมีภาพนักศึกษาทำกิจกรรมจิตอาสาใจกลางเมืองอยู่เช่นกัน ภาวะเช่นนี้ชี้ว่า ความสงบสุขในเขตเมืองก็ยังมีอยู่แม้จะมีภาพทหารตำรวจถือปืน ตั้งป้อมและคอยลาดตระเวนอยู่ทั่วไปก็ตาม
ภาพที่ 14: ภาพกิจกรรมจิตอาสาของนักศึกษา ณ สวนขวัญเมือง สวนสาธารณะใจกลางเมืองยะลา
ชาวบ้านเองก็มองว่าโอกาสที่จะแยกประเทศจากการก่อการร้ายคงไม่มี ซึ่งก็น่าจะจริง เพราะแม้แต่ศรีลังกาที่เคยมีประเทศใหญ่สนับสนุนโจรก่อการร้ายก็ยังทำไม่สำเร็จแต่ก็สร้างความยุ่งเหยิงให้กับประเทศเป็นเวลาหลายสิบปีกว่าจะปราบปรามจนสงบ แต่ทุกวันนี้ เรายังอาจมีปัญหาการนำคนนอกพื้นที่เข้าประเทศ เช่น จากกัมพูชา อินโดนีเซีย หรือแม้แต่ชาวโรฮิงยา ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่โตในอนาคต ทำให้สันติสุข (ซึ่งต้องมาแน่แต่จะ) มาช้ากว่าที่คิดก็เป็นได้
หากยะลาคืนสู่ความสงบ ก็จะน่าจะดีต่อทุกฝ่าย ยกเว้นผู้ได้ประโยชน์จากการมีความรุนแรง
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน |