เลิกเห่อ เลิกโว Cryptocurrency ได้แล้ว
  AREA แถลง ฉบับที่ 87/2565: วันพุธที่ 02 กุมภาพันธ์ 2565

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

            ผมเห็นคนหนุ่มสาวในยุคนี้เพ้อถึง Cryptocurrency กันใหญ่  ใครไม่พูดถึงจะดูล้าสมัย แต่แทบร้อยทั้งรอย ก็จำเขามาพูด ไม่ได้มีความคิดเป็นของตนเอง  นี่ไม่ใช่ความทันสมัย แต่เป็นการตามก้นไหม

            จากข้อมูลของ Coindesk.com พบว่าราคา Bitcoin 1 เหรียญมีค่าเท่ากับ 324.47 เหรียญสหรัฐในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 แต่ ณ วันที่ 4 มกราคม 2565 หรือ 7 ปีกว่าที่ผ่านมา ราคาขึ้นเป็น 46,434.56 เหรียญสหรัฐ <1> หรือเพิ่มขึ้น 143 เท่า หรือเพิ่มขึ้นปีละ 199% หรือราคาเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวในทุกปี  ธุรกิจอะไรที่จะมีราคาเพิ่มขึ้นสูงได้รวดเร็วปานนี้ เป็นสิ่งที่น่าพิศวงเป็นอย่างยิ่ง

            ความผันผวนของ Bitcoin จะเห็นได้ชัดในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา (5 ธันวาคม 2564 – 4 มกราคม 2565) ราคาขึ้นลงต่างกันถึง 13% ในรอบ 1 ปีราคาแกว่งถึง 230% ตลาดนี้ก็ไม่ได้มีการควบคุมใดๆ ทำให้ขาดความมั่นคง โปร่งใสเท่าที่ควร  คุณลักษณะสำคัญของเงินที่แท้ก็คือการสามารถเก็บมูลค่าได้ (Store of Value) แต่ในกรณี Bitcoin ไม่มีพื้นฐานที่แท้จริงอยู่ ต่างจากหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ยังมีปัจจัยพื้นฐานในระดับหนึ่ง มีกิจการที่แท้จริงดำเนินการโดยบริษัทมหาชนนั้นๆ ไม่ใช่การซื้อขายเงินกันลอยๆ

            Bitcoin มีจำนวนที่จำกัดอยู่ที่ 21 ล้านเหรียญ ซึ่งในแง่หนึ่งก็เข้าข่ายของความหายาก (Rare) และขาดแคลน (Scarcity) ดังนั้นหากนำมาเทียบกับทองคำ หรือน้ำมันดิบ ก็สามารถบอกได้ว่าหายากและมีจำนวนจำกัด แต่ก็ไม่ได้จำกัดขนาด Bitcoin ดังนั้นมูลค่าที่แท้จริงก็อาจไม่มียกเว้นการซื้อขายเก็งกำไรกันไป  ในการแลกเปลี่ยนเงินในกรณี Bitcoin หากไม่ใช่เป็นผู้ที่พอมีความรอบรู้ในด้านคอมพิวเตอร์ ก็คงไม่สามารถที่จะซื้อขายได้ ประชาชนทั่วไปก็คงไม่สามารถเข้าถึง  หากนำมาเทียบกับทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) เช่น แบรนด์ ซื่งสามารถนำมาสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นได้ แต่ Bitcoin ทำไม่ได้

            มักมีการกล่าวกันว่าการแลกเปลี่ยน Cryptocurrency ไม่มีค่าธรรมเนียม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในการแลกเปลี่ยนมีค่าธรรมเนียม  (ไม่เช่นนั้น Bitkub จะรวยหรือ) ในเว็บไซต์ของ YChart <2> รายงานว่า ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมเฉลี่ยของ Bitcoin. . .โดยเฉลี่ยอาจเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่ความแออัดบนเครือข่าย เช่นในช่วงบูม Crypto 2017 มีค่าธรรมเนียมถึงเกือบ 60 เหรียญสหรัฐ ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมเฉลี่ยของ Bitcoin อยู่ที่ระดับปัจจุบันที่ 2.336 เหรียญ และลดลงจาก 8.868 เหรียญเมื่อหนึ่งปีที่แล้ว นี่คือการเปลี่ยนแปลง -73.66% จากหนึ่งปีที่ผ่านมา  และด้วยเหตุนี้เอง การโอน Cryptocurrency จึงมีค่าธรรมเนียมและไม่สะดวกเท่ากับเงินทั่วไป

            บางคนโพนทะนาว่าการซื้อขาย Bitcoin โปร่งใส แต่อันที่จริง Bitcoin แสดงถึงความไม่โปร่งใส <3> เช่น

            1.  Bitcoinถูกพัฒนาโดยคนหรือกลุ่มคนภายใต้นามแฝง ‘ซาโตชิ นากาโมโตะ’ ซึ่งแสดงถึงความขมุกขมัวอย่างยิ่ง  แต่ก็มีคนหลงเชื่อกันมากมาย

            2. มีการส่งต่อกุญแจเตือนเครือข่ายและการควบคุมที่เก็บโค้ดหลัก (Bitcoin Core code) ให้กับ Gavin Andresen ผู้ที่ต่อมากลายเป็นหัวหน้านักพัฒนาหลักของมูลนิธิบิตคอยน์  ทำอย่างกับหนัง Sci-Fi ต่างๆ

            3. การตั้งมูลนิธิบิตคอยน์ ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มักนำมาใช้ให้ดูดี แต่ในอีกแง่หนึ่งอาจเป็นการตบตากันอย่างหนึ่งหรือไม่ ควรได้รับการตรวจสอบ

            4. ขณะนี้นายนากาโมโตะก็เลิกยุ่งเกี่ยวกับ Bitcoin ซึ่งลึกลับดูดูคล้ายพล็อตเรื่องในหนังฮอลลีวูดชอบกล

            5. ที่ว่า Andresen (ผู้รับช่วงต่อจากนากาโมโตะและดูลึกลับไม่แพ้กัน) ตั้งเป้าหมายว่าจะกระจายอำนาจการควบคุม ซึ่งก็ไม่มีหลักฐานใดๆ ว่ามีการกระจายอำนาจไปมากน้อยแค่ไหน พิสูจน์อะไรก็ไม่ได้

            6. ผู้เกี่ยวข้องบางคนที่มีตัวตนก็ตายไปในเวลาไม่นานหลังจากนั้น เช่น นายฮาล ฟินนีย์ (Hal Finney) หนึ่งในผู้สนับสนุน ผู้นำไปใช้ และผู้ร่วมพัฒนา Bitcoin คนแรก ๆ เป็นผู้รับการซื้อขาย Bitcoin ครั้งแรก

            7. การที่จะได้ Bitcoin ต้องได้จากการขุดหรือทำเหมือง ก็เป็นวิธีการที่คล้ายนิยายและขาดความโปร่งใสเป็นอย่างยิ่ง  ยิ่งกว่านั้นการทำเหมืองก็เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมทางหนึ่งเพราะใช้ไฟฟ้ามหาศาล

            มีผู้กล่าวถึงบิตคอยน์ บล็อกเชน และอสังหาริมทรัพย์ในทางที่ให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน

            1. มีการบอกว่าบิตคอยน์ปลอดภัย แต่เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีข่าวคราวมากมายถึงความไม่ปลอดภัย เช่น “เยอรมันจับโจรไซเบอร์ ยึดบิตคอยน์มูลค่า 1,800 ล้าน แต่ถอนไม่ได้ เพราะไม่รู้รหัส” <4> และยังมีข่าวอื้อฉาวต่างๆ ถึงความไม่ปลอดภัยอีกมากมาย

            2. บ้างก็บอกว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนนี้มีความแม่นยำสูงในการชี้ตำแหน่งต่างๆ  ความแม่นยำระบบดิจิตอลนี้มีมาก่อนบล็อกเชนด้วยซ้ำไป ดูอย่างในสหรัฐอเมริกา โฉนดทุกใบ ไม่ต้องมีหลักหมุด แม้แต่รูปร่างของรัฐก็ยังเป็นรูปเหลี่ยม ไม่ค่อยได้แบ่งตามแนวแม่น้ำลำคลองหรือสันเขาเช่นไทย  แต่ในทางตรงกันข้ามระบบโฉนดแบบ Torrens System <5> ที่คิดค้นในออสเตรเลียและใช้แพร่หลายในหลายประเทศ ก็ให้ความถูกต้องแม่นยำโดยไม่พึ่งคอมพิวเตอร์ด้วยซ้ำไป

            3. บ้างก็ยังบอกว่าการโอนกรรมสิทธิ์ต่างๆ ด้วยบล็อกเชนนั้น ใช้เวลาไม่นาน ไม่ต้องเสียเวลา ไม่เสียทรัพยากรเจ้าหน้าที่ ไม่ผ่านคนกลาง ฯลฯ  แต่ผู้พูดคงไม่ทราบว่าในการโอนบ้านและที่ดินในประเทศไทย ใช้เวลาแค่ไม่ถึงครึ่งวันทั้งที่ผู้ซื้ออาจต้องมีผู้กู้ร่วมและคู่ครองของผู้กู้ร่วมไปด้วย (กรณีกู้คนเดียวไม่ผ่าน) รวมทั้งมีผู้ขาย นายหน้าและสถาบันการเงินที่รับจำนอง ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกาใช้เวลานานนับเดือนๆ เพราะต้องมีการตรวจสอบความแน่ชัด ลำพังเครื่องจักรยังไม่ละเอียดอ่อนเท่า

            4. เรื่องเจ้าของเฉพาะส่วน (Fractional Ownership) ก็ไม่จำเป็นต้องใช้บล็อกเชน ที่ผ่านมาเรามีระบบ Timeshare หรือแต่ละบริษัทก็ขายเหรียญของตนเองโดยไม่ผ่านบิตคอยน์หรือสกุลเงินดิจิตอลอื่น

            5. เงินดิจิตอลตรวจสอบแทบไม่ได้ จึงมีข่าวว่า “โจรลักพาตัวในอินเดียเรียกค่าไถ่เป็น Bitcoin” <6> และนี่คือสาเหตุที่ “ทำไมแฮ็กเกอร์อยากได้ ‘บิตคอยน์’ เป็นค่าไถ่คอมพ์?” <7>

            6. ในประเทศไทยเคยมีร้านกาแฟร้านหนึ่งชื่อ “Life Time” บอกว่าสามารถใช้ Digital Currency ซื้อกาแฟได้ด้วยโดยถือเป็นแห่งแรกในไทย (ปี 2561) แต่อันที่จริงนี่เป็นเพียง Gimmick ของร้านเท่านั้น ในท้ายของคลิป ยังมีการบอกว่าร้านนี้จะขยายตัวเป็น 100 สาขาในปีดังกล่าว <8> แต่อันที่จริงร้านนี้ก็ปิดตัวไปในเวลาไม่นานนัก  การซื้อขายด้วยบิตคอยน์เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยเพราะราคาผันผวนสูงมากนั่นเอง

            อย่างไรก็ตามในกรณีของ Asset Tokenization ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง “เป็นการนำสินทรัพย์ต่างๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ เครื่องประดับ งานศิลปะ มาแปลงเป็นโทเคนดิจิทัลบน Blockchain โดยผูกกับมูลค่าของสินทรัพย์เพื่อใช้เป็นตัวแทนความเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นๆ การทำ Tokenization จะช่วยให้ผู้ออกโทเคนสามารถนำสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงมาแตกเป็นหน่วยลงทุนกระจายไปตามสัดส่วนของผู้ลงทุน ช่วยให้การซื้อขายทำได้ง่ายขึ้น” <9>

            การโพนทะนากันว่าหากจะซื้อห้องชุดราคาประมาณ 2 ล้านบาท เราต้องมีเงินสดหรือมีเครดิตที่จะกู้เท่ากับเงินจำนวนนี้ แต่ถ้าซื้อ Token เราก็จะสามารถซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่า เช่น 1,000 ใน 2 ล้านบาท หรือ 0.05% ทำให้เราไม่ต้องควักเงินจำนวนมาก  และเผื่อจะได้กำไรจากการปล่อยเช่าอีกต่างหาก  กรณีเช่นนี้อาจลดทอนความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง ลงทุนเพิ่มขึ้นได้ระดับหนึ่ง  แต่สิ่งหนึ่งที่พึงคิดก็คือว่าการที่เรายิ่งลงทุนใน Token เท่าไหร่ บริษัทที่รับแลกเปลี่ยน Token เหล่านี้ก็ยิ่งได้ค่าธรรมเนียมมากขึ้นเท่านั้น เป็นลู่ทางการหากินอย่างเป็นล่ำเป็นสันเลยทีเดียว

            อย่าเพิ่งเห่อแฟชั่น Bitcoin ตามๆ กันโดยไม่ฉุกคิด

ที่มา : https://siamblockchain.com/2022/02/01/microstrategy-acquires-660-btc-worth-829-million/

 

อ้างอิง

<1> Coindesk. https://www.coindesk.com/price/bitcoin/

<2> YChart. https://ycharts.com/indicators/bitcoin_average_transaction_fee

<3> ปรดดูรายละเอียดที่ https://bit.ly/2Znhv5K

<4> ณ 5 กุมภาพันธ์ 2564 https://www.sanook.com/news/8346978/

<5> Benefits of the Torrens System. https://www.isc.ca/about/history/landtitles/torrenssystem/pages/benefits.aspx

<6> ณ 5 กรกฎาคม 2560 https://siamblockchain.com/2017/07/05/indian-kidnappers-demand-bitcoin-ransom/

<7> คมชัดลึก 16 พฤษภาคม 2560 https://www.komchadluek.net/scoop/277201

<8> DailyC3 | ร้านกาแฟไฮเทค รับจ่ายด้วยเงินดิจิทัล https://www.youtube.com/watch?v=QSTrlfaxXQ0 (7 มิถุนายน 2561)

<9> Asset Tokenization ทลายขีดจำกัดโลกการลงทุนแห่งอนาคต. https://thestandard.co/asset-tokenization/

อ่าน 2,164 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved