อ่าน 1,654 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 17/2552: 21 มิถุนายน 2552
ผลการสำรวจภาษีมรดกจากนานาชาติ

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการ
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ AREA บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

           ในขณะนี้รัฐบาลกำลังมีนโยบายเกี่ยวกับภาษีทรัพย์สิน ซึ่งจะเรียกเก็บเป็นรายปีจากมูลค่าของทรัพย์สินโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่ถือครองเพื่อใช้ในการบริหารราชการส่วนภูมิภาค นอกจากนี้รัฐบาลยังเคยประกาศแนวคิดเกี่ยวกับภาษีมรดก  ซี่งสร้างความหวาดวิตกให้กับเจ้าของทรัพย์สินที่มีรายได้สูงเป็นอย่างมาก ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย จึงได้สำรวจความเห็นของผู้รู้จากทั่วโลกเกี่ยวกับระบบภาษีมรดก มาเพื่อประกอบความเข้าใจของทุกฝ่าย
            ภาษีมรดกนั้นเป็นเรื่องของการเมือง ซึ่งมักมีการ ‘โยนหินถามทาง’ เป็นระยะ ๆ และขึ้นอยู่กับการต่อสู้ทางความคิดทางการเมืองมาโดยตลอด ระบบภาษีมรดกมีในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นสงครามความคิดระหว่างฝ่ายพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นของคนชั้นสูง กับฝ่ายพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นของคนระดับล่าง ซึ่งในห้วงหนึ่งฝ่ายพรรคแรงงานสามารถกุมอำนาจและมีภาษีมรดกขึ้นมารีดภาษีกับผู้มีรายได้สูงที่มีมรดก และยังขยายแนวคิดนี้ไปยังประเทศในเครือจักรภพอังกฤษอีกด้วย
            ภาษีนี้อาจจัดเป็นภาษีเชิงการเมือง ฝ่ายเจ้าของที่ดินรายใหญ่ก็มักอ้างว่าตนเองไม่ได้ทำธุรกิจ และเป็นทรัพย์สินที่ถือครองมาโดยสุจริต ไม่ควรต้องเสียภาษีในยามที่โอนให้ทายาท แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็มองว่า ทรัพย์สินเหล่านี้ได้ประโยชน์มหาศาลจากระบบสาธารณูปโภคที่ลงทุนโดยรัฐ ดังนั้นมูลค่าที่เพิ่มขึ้น จึงได้จากการลงทุนของรัฐ จึงควรเสียภาษี
            ในอังกฤษ ศาสตราจารย์วิลเลียม แมคคลัสกี แห่งมหาวิทยาลัยอัสเตอร์ ให้ข้อมูลว่า อังกฤษในฐานะเจ้าตำรับ ยังมีการใช้กฎหมายมรดกอยู่ ซึ่งมุ่งจะเก็บภาษีจากการที่เจ้าของที่ดินไม่ได้ทำประโยชน์กับทรัพย์สินของตนเท่าที่ควร เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกา นายเดวิด เลน ที่ปรึกษาด้านการเวนคืนทรัพย์สินให้ความเห็นว่า การจัดเก็บภาษีมรดกนั้นคำนวณจากมูลค่าตลาดล่าสุด ลบด้วยหนี้สินใด ๆ ของผู้ให้มรดก และหากทรัพย์สินดังกล่าวมีราคาเกินกว่าประมาณ 100 ล้านบาท ก็ต้องนำไปเสียภาษี และกระบวนการคำนวณภาษีนั้นกินเวลายาวนาน จนบางครั้งอาจเป็นปี แต่เขามีระบบการจัดเก็บภาษีที่เข้มงวด โอกาสโกงจึงมีจำกัด
            ในอาฟริกาใต้ ศาสตราจารย์วัลมอน กะยูท อดีตคณบดีคณะอสังหาริมทรัพย์ มหาวิทยาลัยอาฟริกาใต้ ก็ยังมีการเก็บภาษีมรดก แต่มีการกำหนดให้ชัดเจนว่า ทายาทต้องได้รับมรดก จะเกิดกรณียึดไปเพื่อเสียภาษีเสียแทบทั้งหมดไม่ได้
            อย่างไรก็ตามในออสเตรเลียซึ่งแม้เป็นหนึ่งในประเทศเครือจักรภพอังกฤษ แต่ก็เลิกเก็บภาษีทรัพย์สินมาตั้งแต่ปี 2524 แล้ว นายแม็กซ์ เลน ประธานบริษัทนายหน้ารายใหญ่แห่งหนึ่ง ชื่อเลนแอนด์ฮอร์น ได้ย้ำให้เห็นว่า โอกาสที่จะนำภาษีนี้กลับมาใช้ใหม่คงยากมาก ในแคนาดา โดยนายบ็อบ บราวน์ ผู้อำนวยการสถาบันภาษีทรัพย์สินนานาชาติ ก็ให้ข้อมูลว่าแคนาดา ก็ไม่มีระบบภาษีทรัพย์สินแล้วเช่นกัน
            ส่วนในมาเลเซีย ดร.อิสกันดา อิสซาเมล ซึ่งร่ำเรียนการประเมินค่าทรัพย์สินมาจากอังกฤษและเคยรับราชการอยู่กรมประเมินค่าทรัพย์สินมาเลเซีย บอกว่า มาเลเซียก็เลิกเก็บภาษีนี้แล้วเช่นกันตั้งแต่ปี 2544 แต่ก่อนหน้านี้เก็บอยู่ ณ อัตราประมาณ 40% ของส่วนต่างระหว่างมูลค่าตลาดล่าสุด กับมูลค่าตลาดตอนได้มา ซึ่งสร้างความสับสนมาก เนื่องจากบางคนได้ทรัพย์มานับร้อยปีแล้ว สมัยนั้นคงไม่มีหลักฐานราคาให้เปรียบเทียบ
            ประเทศสวีเดนก็เช่นเดียวกับประเทศในยุโรปหลายแห่ง อาจารย์บุญส่ง ชเลธร ผู้ประสานงานมหาวิทยาลัยรามคำแหงประจำสวีเดน กล่าวว่า สวีเดนมีระบบภาษีทรัพย์สินจนกระทั่งหลังเกิดสึนามิ เมื่อปี 2547 ปรากฏว่าพลเมืองสวีเวนมาเสียชีวิตจากเหตุพิบัติภัยสึนามิเป็นจำนวนมาก ยังความเศร้าโศกกันทั้งประเทศ ทายาท ยังต้องมาเสียภาษีมรดกอีก รัฐบาลสวีเดนจึงเร่ง ‘เยียวยา’ ทางจิตใจแก่ประชาชนด้วยการยกเลิกภาษีมรดก โดยให้ยกเลิกย้อนหลังไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิดังกล่าว
            อาจกล่าวได้ว่าภาษีมรดกไม่เป็นที่นิยมแล้ว เพราะหลายคนเลี่ยงภาษีด้วยการตั้งนิติบุคคลในลักษณะบริษัทหรือ Trust ขึ้นมาดูแลทรัพย์สิน คนรวยมักมีนักกฎหมายและนักบัญชีมือดีคอยให้การช่วยเหลือ จึงไม่อาจเก็บภาษีดังกล่าวได้จริง ผลกรรมเลยตกแก่บุพากรีของครอบครัวที่ไม่รวย แต่มีเพียงอสังหาริมทรัพย์ที่จะยกให้แก่ลูก ๆ
            ภาษีที่ควรเก็บ ควรจะเป็นการเก็บภาษีที่ดินว่างเปล่าที่ไมได้ใช้ประโยชน์ในเมืองให้จงหนัก เพราะรัฐบาลได้ลงทุนสาธารณูปโภคไปมากมาย แต่เจ้าของกลับเพียงแต่นั่งรอให้ราคาขึ้นโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามควร ทำให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาส ผู้ที่จะพัฒนาที่ดินก็ต้องเสียเงินไปซื้อที่ห่างไกลเมืองออกไปเรื่อย ๆ ส่งผลให้สาธารณูปโภคต้องตามออกไปโดยไม่สิ้นสุด เป็นความสูญเสียของคนส่วนใหญ่ไป

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ในฐานะศูนย์ข้อมูล-วิจัยและประเมินค่าทรัพย์สินที่มีฐานข้อมูลภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุด ได้รับ ISO 9001-2008 ทั้งระบบแห่งแรกในฐานะที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ได้รับรางวัลจรรยาบรรณดีเด่น และเป็นสมาชิก UN Global Compact อีกด้วย

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved