อ่าน 1,374 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 90/2556: 17 กรกฎาคม 2556
ผังเมือง กทม. ต้องแก้ตั้งแต่วันนี้

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ตามที่ได้ประกาศใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครแล้ว และมีกำหนดหมดอายุในปี 2560 นั้น แม้ทางราชการจะประกาศว่าสามารถแก้ไขได้ทันที แต่เชื่อว่าคงไม่ได้แก้ไข เพราะลำพังผังเมืองรวมทั่วประเทศ 190 บริเวณก็หมดอายุไปเกินกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว
          ในอนาคตร่าง พรบ.ผังเมืองฉบับใหม่ จะให้ผังเมืองมีการประกาศใช้ได้สำหรับระยะเวลา 10 ปี หากไม่สามารถแก้ไขได้ทัน ก็จะให้คงต่อไปได้อีก 10 ปี และหากไม่สามารถแก้ไขได้ทันอีก ก็ยังต่ออายุได้ 2 ครั้ง ๆ ละ 2 ปี สิริรวมแล้ว หากผังเมืองฉบับหนึ่ง ๆ อาจอยู่อย่างไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และอยู่อย่างไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชนถึง 24 ปี
          อย่างกรณีผังเมืองรวม กทม. ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงหลายด้าน เช่น
          1. ผังเมืองนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมแต่อย่างใด ไม่มีมาตรการใดที่จะให้ประชาชนเชื่อใจได้ว่าหากเกิดน้ำท่วมอีก กรุงเทพมหานครจะป้องกันได้ ปัจจุบันนี้แม้แต่ฝนตกหนัก น้ำก็ยังท่วม  มาตรการที่กำหนดให้ประชาชนต้องเว้นที่ดินไว้ 1/3 เป็นที่ว่างเพื่อให้น้ำซึมผ่านได้นั้น เป็นแนวคิดที่สุดบุพกาล เสมือนกับไม่มีระบบระบายน้ำใด ๆ เลย
          2. ผังเมืองนี้ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร เพราะไม่ใช่แผนแม่บทในการพัฒนาสาธารณูปโภค หน่วยงานด้านถนน รถประจำทาง ทางด่วน ระบบขนส่งมวลชนต่างพัฒนาไปคนละทิศละทาง แต่ในทางตรงกันข้าม ผังเมืองกลับอ้างว่าวางแผนตามระบบคมนาคม ซึ่งหากผังเมืองหมดอายุในปี 2560 ก็ยังไม่แน่ว่าโครงการเหล่านี้จะได้ก่อสร้างหรือไม่ เท่ากับผังเมือง เอาข้อมูลที่ไม่เป็นจริงมาวาผงผังเมือง
          3. ผังเมืองนี้ไม่ได้ประสานกับหน่วยงานด้านสาธารณูปโภคเลย เพราะกรุงเทพมหานครไม่ได้ประสานแผนงาน 5 ปีของการไฟฟ้า การประปา การโทรศัพท์ การไปรษณีย์ การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ฯลฯ เข้ากับผังเมืองนี้แต่อย่างใด
          4. ที่ว่าจะสร้างกรุงเทพมหานครเป็นเมืองสีเขียว (Green City) ในความเป็นจริง ผังเมืองกลับทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองเพิ่มโลกร้อน เนื่องจากไม่ยอมให้มีการก่อสร้างในเมือง แต่หากใครออกไปสร้างนอกเขตกรุงเทพมหานครก็เท่ากับได้รับการ "ปล่อยผี" ทำให้เมืองขยายออกสู่ภายนอกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
          5. ผังเมืองนี้ออกมา ทำให้อะพาร์ตเมนตฺ์สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่มีขนาด 1,000 ตารางเมตรขึ้นไปและมีอยู่ดกดื่นในเขตชั้นกลางของเมือง ก็จะสร้างไม่ได้อีกต่อไป เพราะเขากำหนดให้สร้างได้เฉพาะที่อยู่ติดถนนที่มีความกว้าง 30 เมตร ซึ่งไม่มีซอยไหนมีขนาดดังกล่าวเลย ก็คือห้ามสร้างนั่นเอง ยิ่งกว่านั้นทาวน์เฮาส์สำหรับผู้มีรายได้ปานกลางในเขตชานเมือง ซึ่งมีอยู่ดกดื่น ก็จะสร้างไม่ได้อีกต่อไป หรือสร้างได้ก็ต้องมีถนนกว้าง ๆ ซึ่งไม่มีถนนหนมีความกว้างเช่นดังอ้าง
          6. กรุงเทพมหานครวางแผนว่าจะตัดถนนกว้าง ๆ อีก 140 ถนน เพื่อแก้ปัญหาจราจร แต่ในความเป็นจริง ไม่มีงบประมาณ เป็นแค่การขีดเขียนไว้ในผังเมืองเท่านั้น ถนนหลายเส้นวางผังมาตั้งแต่ผังเมืองฉบับก่อน ก็ยังไม่ได้ทำเลย  แต่กลับสร้างปัญหากับประชาชน เพราะหากจะขออนุญาตก่อสร้าง ต้องใช้แนวตามแนวถนนเสนอแนะเหล่านี้ เช่น ถนนซอยปัจจุบันกว้าง 10 เมตร หากในผังเมืองกำหนดว่าจะขยายเป็น 16 เมตรก็เท่ากับเราต้องถอยร่นจากที่ดินของเราเองไปข้างละ 3 เมตร  กรณีนี้เป็นการรอนสิทธิที่ชัดเจน
          7. ที่ว่าผังเมืองนี้ให้โบนัสพิเศษแก่ที่ดินที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้านั้น เป็นการโอ่เกินจริง เพราะต้องเป็นสถานีที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่สถานีที่กำลังก่อสร้างด้วยซ้ำ แล้วใครจะไปขออนุญาตทัน ที่สำคัญโบนัสเหล่านั้นยังเป็นโบนัสที่รับไม่ได้ เช่น ให้เจ้าของที่ดินสร้างอาคารเพิ่มได้อีกนิดหน่อย หากจัดหาที่จอดรถให้ชาวบ้านที่ไปขึ้นรถไฟฟ้าได้จอดรถฟรี ลำพังที่จอดรถของอาคารก็ไม่พอแล้ว แล้วใครจะอยากได้โบนัสพิเศษแบบปลอม ๆ เช่นนี้
          โดยสรุปแล้ว ผังเมืองนี้ เป็นการแก้ปัญหาเมืองแบบซุกปัญหาไว้ใต้พรม เพราะแทนที่จะจัดระเบียบการใช้ที่ดินที่ดี กลับปัดปัญหาออกไปนอกเมือง นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรของกรุงเทพมหานครลดลงในระยะหลายปีที่ผ่านมา เพราะประชาชนไม่สามารถอยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครได้ เพราะความพยายามทำเมืองให้หลวม กรุงเทพมหานครควรคิดใหม่ ทำเมืองให้หนาแน่น (High Density) แต่ไม่แออัด (Overcrowded) แต่ปัจจุบันกลับทำในทางตรงกันข้าม
          นอกจากนี้ควรให้การเคหะแห่งชาติและหน่วยงานอื่นโดยควรใช้วิธีจัดรูปหรือเวนคืนที่ดินชานเมือง เช่น เขตหนองจอก ราว 10,000 - 20,000 ไร่ สร้างเมืองใหม่แบบปิดล้อมแต่มีระบบขนส่งมวลชนเข้าสู่ใจกลางเมืองโดยตรง แล้วจัดสรรที่ดินที่มีสาธารณูปโภคครบ (serviced land) เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ศูนย์ธุรกิจ เป็นต้น ร่วมกรมธนารักษ์เพื่อนำที่ดินใจกลางเมืองมาพัฒนาเป็นศูนย์ธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจมีการรวมศูนย์ สาธารณูปโภคไม่ต้องขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต เป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจด้วยกันเองในพื้นที่ และร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อจัดสร้างนิคมให้โรงงานได้ใช้ในราคาถูกเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม และเพื่อห้ามการก่อสร้างโรงงานตามท้องนาหรือย่านชานเมืองเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
          ต้องเร่งแก้ไขผังเมืองแต่วันนี้ เพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวม อย่าปล่อยให้ผังเมืองเป็นการดำเนินการตามระบบราชการที่ขาดความเข้าใจในการพัฒนาเมืองอย่างแท้จริง

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved