ชาวบ้านรอบเหมืองทองอัครา 89% ต้องการให้เปิดเหมือง
  AREA แถลง ฉบับที่ 205/2565: วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2565

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ตามที่มีข่าวว่าชาวบ้านรอบเหมืองทองอัคราไม่ต้องการให้เปิดเหมือง เป็นความเท็จ ความจริงชาวบ้านถึง 89% ต้องการให้เปิดเหมืองต่างหาก

            วันนี้ (11 มีนาคม 2565) น.ส.พรีมสินี สินทรธรรมทัช ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เครือข่ายผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำพิจิตร-เพชรบูรณ์กว่า 30 คน ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียน ต่อตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ (พช.) นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.)และ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เพื่อค้านการเปิดเหมืองทองอัครา

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้เคยสำรวจความเห็นของประชาชนรอบเหมืองทองคำอัครามาอย่างต่อเนื่องแต่พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้เปิดเหมืองทองคำ ส่วนประชาชนที่อ้างว่าเป็นผู้ที่ไม่ต้องการให้เปิดนั้น อาจไม่ใช่ประชาชนในพื้นที่จริง พรรคฝ่ายค้านหรือแม้แต่ฝ่ายรัฐบาลควรตรวจสอบบัตรประชาชนให้แน่ชัด และคงเป็นเสียงส่วนน้อยที่ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน (โปรดดู https://bit.ly/3mlA29J)

          ตามที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. 72/2559 สั่งห้ามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่ออายุประทานบัตรและใบอนุญาต และให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำระงับการประกอบกิจการตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 (https://bit.ly/2JD5Y6I) ดร.โสภณในฐานะประธานเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อมและประชาชนอย่างยั่งยืน (https://bit.ly/2j5UTRK) เห็นว่าการปิดเหมืองนี้จะส่งผลกระทบเสียหายร้ายแรงแก่ประชาชนในพื้นที่และต่อประเทศชาติโดยรวม จึงออกสำรวจความเห็นประชาชน

          ตามที่มีการสั่งปิดเหมืองทองคำในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามว่า ในปัจจุบันสภาพแวดล้อมดีขึ้นหรือไม่ สถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างไร ความเห็นของประชาชนในพื้นที่ต่อการปิดเหมืองทองคำเป็นอย่างไร คำตอบในประเด็นเหล่านี้น่าจะช่วยให้ทางราชการได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการจัดการเหมืองทองคำอัคราและเหมืองอื่นๆ ได้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น  ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย จึงทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นสำคัญร่วมสมัยเหล่านี้โดยให้นักศึกษาจากวิทยาลัยชุมชนพิจิตร วิทยาเขตทับคล้อ  อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิทยาลัยฯ

          คำสั่งของ คสช. มีผลโดยตรงต่อเหมืองแร่ทองคำ ของ บ.อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พิษณุโลก เนื่องจากเป็นผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำรายเดียวที่ยังประกอบกิจการรายเดียวในขณะนี้ บนเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ ซึ่งประกาศเลิกจ้างพนักงานประมาณ 1,000 คน ทั้งนี้ ก่อนมีคำสั่ง คสช.สั่งระงับกิจการ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส เคยแถลงว่ายังมีแร่ทองคำอยู่เกือบ 40 ล้านตัน และสามารถขุดแร่ได้ถึงปี 2571 ตามอายุที่เหลือของอายุประทานบัตร” (https://bit.ly/2JD5Y6I)

          คณะนักวิจัยเลือกเอาวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2562 ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ โดยหวังว่าประชาชนจำนวนมากจะพักผ่อนอยู่บ้านในวันดังกล่าว ยกเว้นบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรอาจออกไปทำการเกษตรโดยไม่ได้คำนึงถึงวันหยุด  คณะนักวิจัยได้ทำความเข้าใจและ pre-test กับนักศึกษาในเวลา 09:00 น. และในเวลา 10:00 น.ก็ได้เดินทางออกไปสำรวจจากวิทยาลัยฯ โดยแต่ละกลุ่มกลับเข้ามายังวิทยาลัยฯ ในเวลา 13:30-14:30 น. โดยใช้เวลาสำรวจประมาณ 4-5 ชั่วโมงในวันดังกล่าว

          คณะนักศึกษา ปวช. และ ปวศ. ของวิทยาลัยชุมชนพิจิตร วิทยาเขตทับคล้อ จำนวน 22 คน เป็นผู้ออกทำการสำรวจ (ทั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับวิทยาลัยฯ โดยตรง) โดยในการสำรวจออกไปเป็นคู่ๆ ขี่รถจักรยานยนต์ออกสำรวจด้วยกัน ทั้งนี้นักศึกษาเหล่านี้ ส่วนมากเป็นบุตรหลานในพื้นที่ที่สำรวจ จึงรู้จักเส้นทางและสภาพชุมชนเป็นอย่างดี  ทั้งนี้ก่อนออกไปสำรวจ ได้ทำการ pre-test แบบสอบถามก่อน เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

          การสำรวจครั้งนี้ได้แบบสอบถามที่สมบูรณ์ สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ทั้งหมด 572 ชุด ซึ่งนับว่าเพียงพอที่จะใช้แทนความเห็นของประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ซึ่งมีประชากรอยู่ 7,520 คน (https://bit.ly/2NEeAiF) แต่มีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ประมาณ 72% (https://bit.ly/30nEXeu) จึงอนุมานได้ว่าประชากรกลุ่มเป้าหมายที่ทำแบบสอบถามมี 5,398 คน แต่ราวครึ่งหนึ่งอยู่ห่างไกลจากเหมืองอัครา จึงเหลือประชากรในพื้นที่ใกล้เคียงเพียง 2,699 คน ในการสัมภาษณ์ หากไม่นับรวมกลุ่มที่ 13 และ 14 ที่อยู่นอก ต. เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ ในเขตจังหวัดพิจิตร ก็จะมีจำนวน 450 ราย เท่ากับได้สัมภาษณ์ความเห็นของประชาชนถึง 17% ของทั้งหมด

 

 

          ผลแบบสอบถามในด้านเศรษฐกิจพบว่า ในปี 2562 สำหรับประเทศไทย เศรษฐกิจค่อนข้างตกต่ำ โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนที่ทำโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นว่าเศรษฐกิจแย่ถึง 58% (https://bit.ly/2xEksOg) แต่สำหรับในพื้นที่รองเหมืองทองคำอัครานี้ ปรากฏว่าผู้ตอบแบบสอบถามถึง 75% เห็นว่าเศรษฐกิจค่อนข้างแย่หรือแย่มาก ที่เห็นว่าดีหรือดีมากมีรวมกันเพียง 5% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจในพื้นที่นี้น่าจะตกต่ำกว่าในพื้นที่อื่นโดยเฉลี่ยทั่วประเทศ

          ในทางตรงกันข้าม ประชากรถึง 80% เห็นว่าเศรษฐกิจชุมชนในช่วงก่อนปิดเหมืองทองคำ ดีกว่าปัจจุบัน ที่เห็นว่าแย่กว่ามีเพียง 4% เท่านั้น ส่วนในปีหน้า (พ.ศ.2563) กลุ่มใหญ่ที่สุดราว 32% เห็นว่ายังอยู่ในภาวะปานกลาง ที่คิดว่าจะแย่ลงมีถึง 42% ส่วนที่คิดว่าจะดีขึ้นมีเพียง 25% เท่านั้น แสดงว่าประชากรส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นถึงอนาคตที่เป็นบวก

          ถ้าใช้เกณฑ์ 100% เป็นตัววัด จะพบตัวเลขดังนี้:

          1. เศรษฐกิจในขณะนี้                      89%   แสดงว่าต่ำกว่าเกณฑ์ 100%

          2. เศรษฐกิจในช่วงก่อนปิดเหมือง   111%   แสดงว่าเมื่อก่อนดีกว่าพอสมควร

          3. เศรษฐกิจในปี 2563               96%   แสดงว่าส่วนใหญ่ยังเห็นว่าเศรษฐกิจจะติดลบ

            เมื่อตอบคำถามว่าสภาวะมลพิษในชุมชนในขณะนี้เป็นอย่างไร ปรากฏว่า ที่ตอบว่าสถานการณ์สิ่งแวดล้อมดีขึ้น มลพิษลดลงมีเพียง 7% แต่ 93% ระบุว่าสภาพในปัจจุบันและก่อนปิดเหมือง มีสภาพเหมือนกัน คือไม่ได้แตกต่างกัน คือไม่ได้มีมลพิษดังที่เข้าใจกันนั่นเอง การปิดลงของเหมืองทองคำ ไม่ได้ทำให้สภาพมลพิษดีขึ้น เพราะไม่ได้สร้างมลพิษอย่างมีนัยสำคัญอยู่แล้วในความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ที่สุด

          อาจกล่าวได้ว่าประชากรเพียง 11% เท่านั้นที่เห็นด้วยกับการปิดเหมือง ส่วนใหญ่ถึง 89% ไม่เห็นด้วย และอยากให้เหมืองเปิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะจะได้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าแทบทุกหมู่บ้านประชากรเพียงส่วนน้อยมากที่เกรงจะมีมลพิษ อาจมีเพียงกลุ่มที่อยู่ใกล้ๆ เท่านั้นที่มีความกังวลเป็นพิเศษ  จะเห็นได้ว่าปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาเศรษฐกิจ เหมืองทองคำอัคราถือเป็นแหล่งงานใหญ่ และการมีเมืองทำให้เศรษฐกิจในชุมชนดี ได้รับความช่วยเหลือด้วยดี แต่เมื่อไม่มีเหมืองก็ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมตามมามากมาย

          โดยสรุปแล้วมีเพียงประชาชนส่วนน้อย 11% ที่เห็นด้วยกับการปิดเหมืองทองคำ ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 89% ต้องการที่จะให้เปิดเหมืองทองคำขึ้นใหม่เพราะเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ  การปิดเหมืองยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวอีกด้วย นอกจากนั้นประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังว่าสภาพแวดล้อมก่อนและหลังการปิดเหมืองก็ไม่แตกต่างกันแสดงว่าคงไมได้มีมลพิษเช่นที่เข้าใจ

          ดังนั้นทางราชการจึงควรพิจารณา

          6.1  ดำเนินการเปิดเหมืองขึ้นใหม่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่

          6.2 ตั้งคณะทำงานดำเนินการตรวจตราให้เคร่งครัดในกรณีที่อาจถูกร้องเรียนต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหามลพิษดังที่มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนส่วนข้างน้อย

          6.3 ขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปอีก 2-3 ปีจากกำหนดการเดิม เพื่อชดเชยระยะเวลาที่ขาดหายไปจากคำสั่งปิดเหมือง และเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการสั่งปิดเหมืองที่สร้างความเดือดร้อนแก่ภาคเอกชนและภาคประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่

          หากทางราชการไม่ได้ดำเนินการหรือดำเนินการล่าช้าก็จะยิ่งทำให้ปัญหาบานปลาย และสร้างปัญหาอื่นมากยิ่งขึ้น เช่น ปัญหาสังคม ครอบครัวที่สมาชิกในครอบครัวต้องออกไปทำงานในพื้นที่อื่น เป็นต้น

            อนึ่งหากวิเคราะห์เปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 คณะนักวิจัยได้สำรวจความเห็นของประชาชนมาครั้งหนึ่งแล้ว (https://bit.ly/1slFPir) และพบว่า ประชาชนถึงสี่ในห้า (78%) ต้องการให้เหมืองเปิดดำเนินการต่อไป นี่คือความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ แสดงว่าประชาชนต้องการให้เปิดเหมืองใหม่เพิ่มมากขึ้น

            การเปิดหมืองอัคราใหม่จึงดีต่อทุกฝ่ายโดยเฉพาะบิ๊กตู่ที่จะได้ไม่ต้องเอาเงินภาษีประชาชนไปเสียค่าปรับ

อ่าน 2,329 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved