อ่าน 1,429 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 105/2556: 9 สิงหาคม 2556
วิพากษ์คำชี้แจงของสำนักผังเมือง กทม.

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ฟังคำชี้แจงเรื่องถนนตามผังเมือง กทม. ยิ่งสับสนไปใหญ่ ประชาชนยิ่งเสียประโยชน์ การวางผังเมืองที่อ้างว่าจะสร้างถนน 140 เส้นในระยะเวลา 20 ปีนั้น ประชาชนไม่เคยทราบ หรือไม่มีการกำหนดแน่ชัดว่า สายไหนจะสร้างเมื่อใด
          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย  บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้รับคำชี้แจงจากสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร* แต่คำชี้แจงนี้กลับยิ่งสร้างความสับสน ประชาชนเจ้าของที่ดิน นักพัฒนาที่ดินและสถาบันการเงิน พึงสังวร เป็นอย่างยิ่ง
          1. ที่สำนักผังเมือง กทม. ชี้แจงว่าการก่อสร้างถนน 140 เส้นตามผังเมือง เป็นแผนในระยะ 20 ปี แต่การขีดเขียนในแผนที่โดยไม่มีงบประมาณ ไม่มีแนวที่แน่ชัด เป็นการสร้างปัญหาให้กับประชาชนเจ้าของที่ดิน จะซื้อขายก็เกรงจะถูกแนวเวนคืนเป็นต้น กทม. ไม่ได้กำหนดให้แน่ชัดว่าถนนสายไหนที่จะสร้างช่วงไหน 5, 10, 15 หรือ 20 ปี การระบุระยะเวลา 20 ปี จะยิ่งสร้างความสับสน
          2. ที่ว่าถนนที่จะก่อสร้าง 140 สายนั้นส่วนใหญ่เป็นถนนเดิมขยาย ไม่เป็นความจริง ในผังเมืองของกรุงเทพมหานครเขียนไว้ชัดเจนว่า ระยะทางของถนนทั้งหมดมี 393 กิโลเมตร ส่วนใหญ่ 220 กิโลเมตร เป็นถนนโครงการใหม่ 
          3. ที่ว่าในถนนเดิมขยายกำหนดให้เจ้าของที่ดินถอยร่นอาคารเมื่อมีการก่อสร้างอาคารใหม่นั้น เป็นการสร้างปัญหาให้กับประชาชนอย่างยิ่ง เพราะเรายังไม่รู้แน่ชัดว่าถนนจะตัดเมื่อไหร่ แต่ต้องถอยร่นตามแนวที่จะถูกเวนคืนในอนาคตก่อนแล้ว ถ้าใน 20 ปีตามแผนไม่มีการขยาย ความสูญเสียนี้สำนักผังเมือง กทม. คงไม่รับผิดชอบ
          4. ที่ สำนักผังเมือง กทม. ชี้แจงว่า เจ้าของที่ดินที่อยู่ติดถนนสุขุมวิท 39 ที่กว้าง 10-12 เมตร ที่จะขยายเป็น 16 เมตรตามถนนเดิมขยาย จะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นตามเงื่อนไขของการใช้ที่ดิน เช่นเดียวกับแปลงที่ดินที่ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้าง 16 เมตรทันทีแม้ว่าจะไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างถนนโครงการก็ตาม ข้อความนี้ไม่ได้มีเขียนไว้ในผังเมือง น่าจะเป็นการตีความในภายหลังนี้ ในความเป็นจริงมีประชาชนบางส่วนไปขอให้สำนักผังเมือง ยกเลิกการขยายบางเส้น และประสบความสำเร็จในการยกเลิก ถ้าการขยายถนนได้ประโยชน์จริงดังคำชี้แจงภายหลังนี้ คงไม่น่าจะมีใครไม่ประสงค์จะให้ขยายถนน
          และถึงแม้จะแลดูว่าจะได้สิทธิเพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริง ไม่สามารถทำได้ เพราะตามข้อ 36 ของกฎกระทรวงให้บังคับใช้ผังเมืองรวม พ.ศ.2556 ระบุว่า ที่ดินที่ติดถนนกว้าง 16 เมตร ต้องติดกับถนนสายหลักทางด้านหนึ่งที่กว้างไม่น้อยกว่า 16 เมตร เช่นกัน และอีกด้านหนึ่งต้องติดถนนที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร แต่ส่วนท้ายของถนนสุขุมวิท 39 ไปชนคลอง ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดข้อ 36 นี้ จึงไม่สามารถใช้สิทธิของถนนกว้าง 16 เมตรแต่อย่างใด
          ยิ่งกว่านั้นในกรณีการขออนุญาตก่อสร้างในส่วนที่ต้องไปขอรับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทางสำนักงานฯ ก็คงไม่เห็นพ้องด้วย เพราะการก่อสร้างโดยใช้สิทธิถนนกว้าง 16 เมตร กับถนนตามสภาพจริงที่ 10-12 เมตรนั้นแตกต่างกัน และหากสำนักงานฯ อนุญาตไป ก็คงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ณ ปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะความไม่แน่นอนในการก่อสร้างถนนที่ว่าอาจใช้เวลาตามแผน 20 ปี

* ลงในคอลัมน์ เลี้ยวขวาสนทนาจราจร โดยหัวปิงปอง ไทยรัฐ 31 กรกฎาคม 2556 หน้า 12

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved