AREA แถลง ฉบับที่ 106/2556: 13 สิงหาคม 2556
เมื่อฟ้าส่งการเคหะฯ มาเกิดแล้ว เหตุไฉนถึงส่งพฤกษามาเกิดด้วย
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
เกือบ 40 ปีที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติผลิตเคหะชุมชนได้เพียง 141,465 หน่วย ในขณะที่ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท แห่งเดียวก็ผลิตได้ถึง 116,948 หน่วย แม้จะน้อยกว่าแต่ในแง่มูลค่ารวมน่าจะสูงกว่าสินค้าของการเคหะแห่งชาติเสียอีก เราได้ข้อคิดอะไรจากการนี้
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส แถลงว่า เฉพาะบริษัทใหญ่ ๆ 8 แห่งสามารถผลิตที่อยู่อาศัยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้เป็นจำนวนมาก หากนับรวมในต่างจังหวัดด้วย น่าจะมากกว่านี้เสียอีก การจัดเรียงตามลำดับจำนวนหน่วย เป็นดังนี้
ลำดับที่ บริษัท โครงการ จำนวนหน่วย มูลค่า (ล.บ.) ราคาเฉลี่ย (ล.บ.)
1 พฤกษา เรียลเอสเตท 308 116,948 208,674 1.784
2 แอล พี เอ็น ดีเวลลอปเม้นท์ 82 69,917 97,326 1.392
3 แสนสิริ 165 40,796 151,831 3.722
4 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 142 37,328 161,429 4.325
5 ศุภาลัย 71 30,696 87,086 2.837
6 เอ.พี. (ประเทศไทย) 99 28,512 118,690 4.163
7 พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค 60 24,855 77,871 3.133
8 ควอลิตี้ เฮ้าส์ 90 22,814 103,406 4.533
รวม 1,017 371,866 1,006,313 2.706
นับเป็นความอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่งที่เฉพาะในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท ผลิตสินค้าบ้านได้จำนวนใกล้เคียงกับการเคหะแห่งชาติที่ใช้เวลาผลิตถึง 40 ปี (นับถึงกันยายน 2554) ทั้งนี้นับเฉพาะโครงการเคหะชุมชน ไม่นับรวมโครงการบ้านเอื้ออาทร การปรับปรุงชุมชนแออัดและอื่น ๆ ทั้งนี้ บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท ผลิตถึง 308 โครงการ จำนวน 116,948 หน่วย รวมมูลค่า 208,674 หรือเฉลี่ยหน่วยละ 1.784 ล้านบาท
บมจ.แอล พี เอ็น ดีเวลลอปเม้นท์ และ บมจ.แสนสิริ ก็แสดงความมหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะการพัฒนาหลัก ๆ ของทั้งสองบริษัทนี้เกิดขึ้นหลังปี พ.ศ.2545 แต่ในระยะ 10 ปีเศษที่ผ่านมา กลับเปิดตัวโครงการต่าง ๆ มากเป็นจำนวนมากในแง่ของจำนวนหน่วย (บมจ.แอล พี เอ็น ดีเวลลอปเม้นท์) และในแง่ของมูลค่า (บมจ.แสนศิริ) อาจกล่าวได้ว่าแทบทุกบริษัทข้างต้น เปิดตัวโครงการกันอย่างมากมายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง
บมจ.แลนด์แอนด์เฮาส์ แม้จะผลิตจำนวนโครงการเพียง 142 แห่ง รวมจำนวน 37,328 หน่วย แต่กลับมีมูลค่ารวมถึง 161,429 ล้านบาท หรือเฉลี่ยแต่ละหน่วยขาย มีมูลค่าเฉลี่ยสูงถึง 4.325 ล้านบาท บริษัทนี้แต่เดิมเน้นตลาดบน แต่ในปัจจุบันก็มีสินค้าที่หลากหลายเช่นเดียวกับบริษัทมหาชนอื่น บริษัทที่ผลิตสินค้าระดับบนแต่ปัจจุบันก็สร้างอย่างหลากหลายก็เช่น บมจ. ควอลิตี้ เฮ้าส์ ที่ผลิต 90 โครงการ รวม 22,814 หน่วย ณ มูลค่า 103,406 ล้านบาท หรือเฉลี่ยถึง 4.533 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงกว่าสินค้าของบริษัทมหาชนอื่น
หากนับรวมการเปิดตัวของโครงการอย่างมหาศาลในต่างจังหวัดของบริษัทมหาชนทั้งหลายซึ่งสำรวจโดย ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส แล้ว เชื่อว่าทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า ยังจะมากกว่านี้อีกประมาณ 15% โดยรวม โดยที่บางบริษัทยังอาจเปิดตัวโครงการในต่างจังหวัดเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงเคียงกับครึ่งหนึ่งของในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเสียอีก
ภาคเอกชนสามารถจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนในรอบ 20 ปีนี้ถึงประมาณ 371,866 หน่วย เฉพาะใน 8 บริษัทสำคัญ แต่หากนับรวมทั้งหมด ก็คงมีจำนวนประมาณ 2 ล้านหน่วยที่ผลิตโดยภาคเอกชนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา และหากรวมในจังหวัดภูมิภาคด้วย ก็คงมีจำนวนประมาณ 3 ล้านหน่วย หน่วยที่อยู่อาศัยเหล่านี้ผลิตขึ้นโดยที่ทางราชการไม่ต้องเสียเงินอุดหนุนแม้แต่น้อย และยังทำให้พนักงานอีกนับหมื่น ๆ คนของบริษัทเหล่านี้รวมทั้งบริษัทที่เกี่ยวเนื่องอื่นได้มีสัมมาอาชีวะ อีกเป็นจำนวนมาก นี่เป็นคุณูปการสำคัญของภาคเอกชนต่อการก่อสร้างประเทศไทย
อย่างไรก็ตามใช่ว่าการเคหะแห่งชาติจะเป็นองค์กรที่ไม่จำเป็น แต่อาจปรับบทบาทโดย
1. จัดสร้างที่อยู่อาศัยแข่งกับภาคเอกชนเช่นเดิม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่สามารถแข่งขันได้ดี เช่นในจังหวัดภูมิภาคที่ภาคเอกชนยังไม่ตื่นตัว และการเคหะแห่งชาติก็มี "แบรนด์" ที่ดีที่น่าเชื่อถือยิ่งในแง่ที่สร้างก่อนขายมาแต่แรกเริ่ม ก่อนที่ บจม.แลนด์แอนด์เฮาส์ เคยโฆษณาไว้ในช่วงก่อน
2. เพิ่มบทบาทในการจัดหารที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อย และโครงการสวัสดิการข้างราการ
3. การเพิ่มบทบาทเป็นองค์การพัฒนาเมืองแห่งชาติ ที่พัฒนาพื้นที่เมืองเดิม แบบ Urban Redevelopment Authority แห่งประเทศสิงคโปร์ หรือการเป็นผู้นำในการจัดรูปที่ดิน การสร้างเมืองใหม่ เมืองชี้นำ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมืองตามผังเมืองใหม่
4. การเป็นศูนย์ข้อมูลด้านที่อยู่อาศัย ที่สนับสนุนการพัฒนาเมือง การพัฒนาที่อยู่อาศัยของทุกภาคส่วนในขอบเขตทั่วประเทศ
ดร.โสภณ กล่าวว่า ตนเองก็เคยทำงานอยู่การเคหะแห่งชาติ จนถือเป็นชาวการเคหะฯ คนหนึ่ง โดยเริ่มงานในฐานะลูกจ้าง ครั้งแรกในปี พ.ศ.2525-2526 โดยรับจ้าง ณ ศูนย์วิชาการที่อยู่อาศัย (ฝ่ายวิชาการในปัจจุบัน) จัดรวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลชุมชนแออัด และอีกครั้งในปี พ.ศ.2529-2531 โดยรับจ้างธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซียมาประจำการ ณ การเคหะแห่งชาติ และต่อมายังได้รับจ้างทำสำรวจวิจัยและประเมินค่าทรัพย์สินเป็นระยะ ๆ
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน |