อ่าน 2,103 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 19/2552: 13 กรกฎาคม 2552
วิกฤติผังเมืองไทย: อนาธิปไตยในการใช้ที่ดิน

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

            ผังเมืองได้หมดอายุลงเป็นจำนวนมากในประเทศไทย ทำให้เกิดความห่วงใยถึงการไม่มีกฎหมายควบคุม จนอาจกลายเป็นอนาธิปไตยในการใช้ที่ดินในประเทศไทย ยังผลเสียแก่สังคมในวันหน้า
            ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้จัดทำ AREA แถลงฉบับที่ 19/2552 นี้ เพื่อเตือนภัยภาวะดังกล่าว โดยทั้งนี้ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้:

พ.ศ.ที่หมดอายุ  จำนวนผังเมือง  %
2540 1 1%
2544  2 1%
2546  3 2%
2547  11 7%
2548  4 3%
2549  23 15%
2550  17 11%
2551  12 8%
2552  31 20%
2553  21 14%
2554  17 11%
2555  9 6%
2557  2 1%
รวม  153 100%

            ในประเทศไทยได้เคยมีผังเมืองประมาณ 153 ผัง ส่วนมากครอบคลุมเขตเมืองสำคัญ ๆ ในทุกภูมิภาค แต่ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะพื้นที่เขตเมืองเป็นพื้นที่ส่วนน้อย และผังเมืองที่ครอบคลุมทั้งจังหวัดมีเพียงบางจังหวัดเท่านั้น
            หากพิจารณาจากตัวเลขเบื้องต้นดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่า มีผังเมืองที่หมดอายุไปเกิน 2 ปี ณ สิ้นปี 2552 (หมดอายุจนถึงสิ้นปี 2550) ถึง 61 ผังจาก 151 ผัง หรือประมาณ 40% ปกติผังเมืองเมื่อหมดอายุแล้ว สามารถต่อได้อีก 2 ครั้ง ๆ ละ 1 ปี รวม 2 ปี ผังเมืองที่หมดอายุเกิน 2 ปีก็คือไม่มีการบังคับใช้แล้ว ในพื้นที่นั้น ๆ ภาคเอกชนจะก่อสร้างอะไรก็ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงผังเมืองอีกต่อไป กรณีนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งว่า เมืองจะได้รับการพัฒนาโดยขาดการวางผัง และน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยมีผังเมืองแล้ว แต่ก็กลับปล่อยให้หมดอายุไปโดยไม่ทันได้แก้ไข
            นอกจากนี้ยังมีผังเมืองที่จะหมดอายุในปี 2551-2552 อีก 43 ผัง หรืออีกราว 28% ของทั้งหมด และหากนับเฉพาะผังเมืองที่จะยังไม่หมดอายุภายในปี 2552 จะมีเพียง 49 ผัง หรืออีก 32% หรือหนึ่งในสามของผังเมืองทั้งหมดในขณะนี้เท่านั้น
            สาเหตุส่วนหนึ่งที่ผังเมืองหมดอายุและยังไม่มีการต่อนั้น ในขณะนี้เป็นช่วงที่ราชการส่วนกลางให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำผังเมืองเอง แต่หากปล่อยไว้เนิ่นนานออกไป ผลเสียอาจจะเกิดขึ้นกับการไม่มีระเบียบในการพัฒนาเมืองในอนาคต
            ประวัติการผังเมืองในประเทศไทยนั้น มีความลุ่ม ๆ ดอน ๆ พอสมควร โดยประเทศไทยเริ่มมีพระราชบัญญัติการผังเมืองและผังชนบท พ.ศ. 2495 แต่ก็ยังไม่เคยมีผังเมืองเกิดขึ้นจนปี 2500 ได้มีการวางผังเมืองกรุงเทพมหานคร แต่ก็ไม่สามารถประกาศใช้ได้เลย ยกเว้นในหัวเมืองอื่นจนกระทั่งถึง พ.ศ. 2535 จึงมีผังเมืองกรุงเทพมหานครฉบับแรก และจัดทำเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
            AREA แถลงฉบับนี้จึงถือเป็นการเตือนภัยโอกาสที่จะเกิดอนาธิปไตยในการใช้ที่ดินอันเนื่องมาจากการไม่มีผังเมืองในขณะนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าภาวะขณะนี้จะได้รับการแก้ไขโดยเร็ว และให้ทุกพื้นที่มีผังเมือง กำกับและวางแผนการใช้ที่ดินให้มีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ในฐานะศูนย์ข้อมูล-วิจัยและประเมินค่าทรัพย์สินที่มีฐานข้อมูลภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุด ได้รับ ISO 9001-2008 ทั้งระบบแห่งแรกในฐานะที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ได้รับรางวัลจรรยาบรรณดีเด่น และเป็นสมาชิก UN Global Compact อีกด้วย

 
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved