เศรษฐกิจไทยทำท่าจะซึมยาว การลงทุนต่างๆ จะมีความเสี่ยงมากขึ้น คาดว่าคงซึมอีกยาว ธุรกิจต่างๆ จะต้องปรับตัวให้มาก บางธุรกิจอาจต้องตายไป บางธุรกิจก็ยังคงอยู่รอด
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่าในวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) ได้ออกแถลงการณ์ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยเป็นตัวเลขสรุปล่าสุดในไตรมาสที่ 1/2565 มาดูตัวเลขเปรียบเทียบในอาเซียนและประเทศมหาอำนาจหลักในโลก
ในปี 2565 นี้ IMF คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 8 คือจะเติบโตเพียง 3.3% ทั้งนี้ประเทศที่เติบโตช้ากว่าไทยมีเพียง 2 ประเทศคือ ลาว (3.2%) และเมียนมา (1.6%) ทั้งนี้เพราะลาวเป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก และมีการปิดประเทศมาอย่างยาวนาน (แม้มีรถไฟความเร็วสูงก็ตาม) ทำให้การลงทุนข้ามชาติเกิดขึ้นน้อยมาก ส่วนเมียนมาตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ก็ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำลงเป็นอย่างมาก ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดประเทศหนึ่งในอาเซียน
ประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดก็คือฟิลิปปินส์ที่ 6.5% ตามมาด้วยเวียดนาม 6.0% เป็นอันดับที่ 2 ส่วนอันดับ 3 คือ บรูไน 5.8% ตามมาด้วย มาเลเซีย 5.6% อินโดนีเซีย 5.4% กัมพูชา 5.1% สิงคโปร์ 4.0% จะเห็นได้ว่าประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวต่ำกว่าไทย (ยากจนกว่า) มีอัตราการเติบโตสูงกว่าไทยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซียและกัมพูชา ยิ่งกว่านั้นประเทศที่ร่ำรวยกว่าไทย เช่น บรูไน มาเลเซียและสิงคโปร์ ก็มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าไทยเช่นกัน การนี้แสดงว่าประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจเท่าที่ควร
สำหรับการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2566-2570 นั้น IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปี 2566 จะเติบโตสูงขึ้นเป็น 4.3% โดยเติบโตสูงขึ้นเป็นอันดับที่ 6 แทนที่จะเป็นอันดับที่ 8 เช่นในปี 2565 อย่างไรก็ตามในปี 2567-2570 เศรษฐกิจไทยน่าจะหดตัวลงในการวิเคราะห์ของ IMF โดยเติบโตลดลงเหลือ 3.8% ในปี 2567 และเป็น 3.3% 3.2% และ 3.1% ในช่วงปี 2568-2570 ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ จะยังเติบโตอย่างต่อเนื่องกว่าเมื่อเทียบกับประเทศไทย
หากเทียบกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจะพบว่าในปี 2565 เศรษฐกิจของจีนจะเติบโตถึง 4.4% ส่วนอินเดีย จะเติบโตถึง 8.2% แม้แต่สหรัฐอเมริกา ก็ยังมีอัตราการเติบโตที่ 3.7% สูงกว่าไทยทั้งสิ้น ยกเว้นญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจจะเติบโตเพียง 2.4% เท่านั้น และในช่วงปี 2566-2570 เศรษฐกิจของจีนและโดยเฉพาะอินเดียก็ยังจะเติบโตสูงกว่าไทยอีกรวม 5 ปี ทั้งนี้ยกเว้นสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจอาจจะตกต่ำลงในช่วง 5 ปีข้างหน้า
โดยสรุปแล้ว สำหรับประเทศไทย หลังโควิด-19 ในปี 2565 นี้ ก็ยังไม่สดใสเท่าที่ควร เพราะจะเติบโตเพียง 3.3% ในปี 2565 นี้เท่านั้น ซึ่งเท่ากับเติบโตเป็นอันดับที่ 8 ของอาเซียน และยังต่ำกว่าจีน อินเดียและสหรัฐอเมริกา (ยกเว้นญี่ปุ่นที่ยังซึมยาว) เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นบ้างในปี 2566 โดยน่าจะเติบโตได้ที่ 4.3% ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ไทยยังไม่เคยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจถึงระดับนี้เลย แต่ในปี 2567-70 เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ลดลง จาก 3.8% ในปี 2567 เป็น 3.1% ในปี 2570
การที่เศรษฐกิจไทยยังไม่มีวี่แววที่จะ “รุ่งเรือง” แบบก้าวกระโดน เช่น กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย อาจทำให้ประเทศเหล่านี้แซงไทยไปได้ในด้านรายได้ประชาชาติต่อหัวในอนาคต และยิ่งทำให้การลงทุนจากต่างประเทศถูกแย่งชิงโดยประเทศอื่นมากขึ้น การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ก็คงไม่เติบโตอย่างมาก ยกเว้นการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ส่วนอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ เช่น อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม ก็คงไม่ได้เติบโตในอัตราสูงเช่นเดิม
แม้ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจะเติบโตสวนกระแสอสังหาริมทรัพย์อื่น ก็ยังมีปัจจัยลบสำคัญมาก เช่น ค่าก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้นมาก ประมาณ 10-15% ในปี 2565 และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยคงจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้โอกาสการพัฒนาที่อยู่อาศัยก็จะลดลงเช่นกัน ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในปี 2566-2570 ก็อาจหดตัวลงเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ในประเทศไทย
การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องหาทางทำให้สำเร็จ แต่ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้อง “ขายชาติ” เพราะอย่างในสิงคโปร์ ก็เพิ่งขึ้นภาษีซื้ออสังหาริมทรัพย์ของคนต่างชาติเป็น 35%-40% แล้ว