ชมตลาดหัวกุญแจ บ้านบึง ชลบุรี โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้เดินทางไปชมตลาดแห่งนี้ ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลหัวกุญแจ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี
ชมตลาดหัวกุญแจ บ้านบึง ชลบุรี
เมือง “หัวกุญแจ” เกิดขึ้นได้เพราะการเดินรถไฟ โปรดดูรายละเอียดได้ที่ “ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๒๕ รถไฟเล็กลากไม้สายตะวันออก (ศรีราชา) ภาค ๒ MO Memoir : Monday 8 October 2555” ซึ่งคัดลอกไว้ท้ายนี้ (https://cutt.ly/3GXI1XM)
ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๒๕ รถไฟเล็กลากไม้สายตะวันออก (ศรีราชา) ภาค ๒ MO Memoir : Monday 8 October 2555
"บ่ายเกือบสามโมง ที่เราโดดลงจากรถเมล์ประจำทางระหว่างกรุงเทพฯศรีราชา มันเป็นการนับครั้งไม่ถ้วนที่คณะเรามาตากอากาศศรีราชาอย่างพร่ำเพรื่อ เราทั้งหลายรับกระเป๋าเดินทางลงจากรถแล้ว เตะแข้งเตะขาพอหายเมื่อย แล้วก็หอบหิ้วกระเป๋าเดินเข้าทางเก่าที่เดินมาแล้วเสมอ คือทางเข้าในบริเวณโรงงานป่าไม้ศรีราชา และสิ่งประจำอีกอย่างคือ ตะโกนทักขึ้นไปบนที่ทำการของบริษัท บรรดาสหายทั้งหลายที่อยู่บนนั้นก็ตะโกนเอะอะลงมาตามเคย ยกมือไหว้กันคนละทีสองที โวยวายกันตามระเบียบ แล้วก็ชักยืดเข้าภายในเขตบ้านพักหลังที่ทำการ ด้วยจำนวนนักตากอากาศพร่ำเพรื่อเกือบ ๒๐ คน
การตากอากาศของเราไม่มีการเล่นน้ำทะเล เพราะรู้ว่าเล่นไม่ได้ ฉลามชุม จึงโอละพ่อเป็นชมป่าแทนชมทะเล อาศัยรถยนต์รางของผู้จัดการบริษัทเข้าไปตรวจงานในป่ายุบต้นทางของการตัดโค่นไม้ มีระยะทางไกลต้องค้างปลายทางหนึ่งคืน แล้วก็ล่องกลับมาที่เดิม"
เนื้อหาข้างบนคัดมาจากนิยายเรื่อง "แขกเมื่อค่อนคืน" เขียนโดย เหม เวชกร ผมเอามาจากหนังสือชุด "ภูตผีปิศาจไทย ตอน ใครอยู่ในอากาศ" ซึ่งเป็นหนังสือเล่มที่ ๕ ในชุดครบรอบ ๑๐๐ ปี เหม เวชกร (ทั้งชุดมี ๕ เล่ม) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิริยะ ปีพ.ศ. ๒๕๔๗ เรื่อง "แขกเมื่อค่อนคืน" นี้ทางสำนักพิมพ์วิริยะระบุไว้ปกหน้าว่าเป็นต้นฉบับที่เพิ่งค้นพบใหม่ และตอนท้ายของเรื่องก็ระบุด้วยว่าเรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน แถบทอง ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ ปักษ์หลัง ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๑
จากนิยายดังกล่าวทำให้เรารู้ว่าในอดีตนั้นทะเลแถวศรีราชามีปลาฉลามชุม ไม่เหมาะแก่การเล่นน้ำ (ส่วนที่พัทยากับบางแสนที่อยู่ใกล้ ๆ กันไม่รู้ว่าเป็นยังไงบ้าง) และมี "รถยนต์ราง" ของบริษัททำไม้วิ่งเข้าไปในป่า
รูปที่ ๑ เล่มซ้ายคือหนังสือรวมเรื่องผีของ เหม เวชกร (เล่มที่ ๕) ส่วนสองเล่มขวาเป็นหนังสือที่ชาวต่างชาติเขียนไว้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเดินรถไฟในประเทศไทย โดยเล่มสีน้ำเงินนั้นครอบคลุมไปถึงในเขตประเทศลาวและกัมพูชา สองเล่มหลังนี้ได้มาจากศูนย์หนังสือจุฬาฯ ที่ศาลาพระเกี้ยว (เล่มละพันกว่าบาท)
"รถยนต์ราง" ที่กล่าวในนิยายดังกล่าวก็คือ "รถไฟเล็กลากไม้" ของบริษัทศรีมหาราชา ซึ่งได้รับสัมปทานทำป่าไม้ในภาคตะวันออก โดยนำไม้ในป่ามายังโรงเลื่อยที่ อ. ศรีราชา และมีการส่งลงเรือโดยนำไม้ไปลงเรือที่ท่าเรือเกาะลอย ซึ่งเรื่องนี้เคยเอามาเล่าไว้ครั้งหนึ่งใน Memoir ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๓๖ วันศุกร์ที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เรื่อง "ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๒ รถไฟเล็กลากไม้สายตะวันออก (ศรีราชา)"
เมื่อเดือนสิงหาคมไปได้หนังสือเกี่ยวกับประวัติการเดินรถไฟในประเทศไทยมา ๒ เล่ม ทั้งสองเล่มเขียนโดยชาวต่างชาติ เล่มแรกคือ "The Railway Atlas of Thailand, Laos and Cambodia" เขียนโดย B.R. Whyte (ปีค.ศ. 2010) ส่วนเล่มที่สองคือ "The Railways of Thailand" เขียนโดย R. Ramaer (ปีค.ศ. 2009) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ White Lotus หนังสือสองเล่มดังกล่าวผมไปเห็นวางขายในหมวดเอเซียศึกษาซึ่งเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ ลองพลิกดูเห็นว่ามีเรื่องราวที่น่าสนใจก็เลยซื้อมาเก็บเอาไว้ โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับทางรถไฟของบ้านเราที่เคยมีในอดีต แต่ในปัจจุบันหลายสายอาจจะไม่เหลือร่องรอยอะไรเอาไว้แล้ว อาจเหลือเพียงเอกสารที่เคยกล่าวถึงในอดีตที่อาจไปซุกอยู่ ณ ซอกตู้แห่งใดแห่งหนึ่งที่รอคนไปขุดคุ้ยเอาออกมา
รูปหนึ่งที่น่าสนใจมากในหนังสือดังกล่าวคือรูปรถไฟเล็กลากไม้ศรีราชาขณะปฏิบัติงานที่เอามาแสดงให้ดูในรูปที่ ๒ ที่น่าเสียดายก็คือไม่มีข้อมูลที่จะระบุได้ว่ารูปดังกล่าวถ่ายโดยใคร เมื่อไร และสถานที่แห่งใด ในภาพจะเห็นหัวรถจักรกำลังลากไม้ท่อนที่ตัดเอาไว้แล้วทางรางด้านขวา ส่วนรางทางด้านซ้ายก็เป็นไม้ท่อนที่วางบนตัวรถพร้อมรอการลากจูง
รูปที่ ๒ รถไฟเล็กลากไม้ศรีราชาขณะปฏิบัติหน้าที่ จากหนังสือ The Railway Atlas of Thailand, Laos and Cambodia โดย B.R. Whyte สำนักพิมพ์ Whits Lotus ปีค.ศ. 2010
อีกรูปคือรูปแผนที่เส้นทางรถไฟ (รูปที่ ๓) รูปนี้แสดงเส้นทางรถไฟเฉพาะด้าน อ. ศรีราชา ทำให้ไม่รู้ว่าปลายทางด้านตะวันตกนั้นไปสิ้นสุดที่ใด แต่ก็แสดงให้เห็นว่ามีการแยกเส้นทางไปสองทาง เส้นทางที่ขึ้นเหนือนั้นดูเหมือนว่าจะโฉบไปทางด้านทิศตะวันออกของอ่างเก็บน้ำบางพระในปัจจุบัน และในตำแหน่งที่เป็นอ่างเก็บน้ำบางพระในปัจจุบันนั้น สมัยก่อนจะเป็นบ่อน้ำร้อนและบ่อน้ำเย็น ซึ่งในขณะนี้ทั้งสองบ่อจมอยู่ใต้น้ำของอ่างเก็บน้ำบางพระแล้ว (ในกรอบสี่เหลี่ยมเหลือง)
รูปที่ ๓ แผนที่เส้นทางรถไฟเล็กลากไม้สายตะวันออก จากหนังสือ จากหนังสือ The Railway Atlas of Thailand, Laos and Cambodia โดย B.R. Whyte สำนักพิมพ์ Whits Lotus ปีค.ศ. 2010 ในแผนที่ดังกล่าวยังปรากฏบ่อน้ำร้อนและบ่อน้ำเย็น ซึ่งปัจจุบันจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำบางพระ คำบรรยายภาพบอกว่าแผนที่นี้เป็นสมัยปีค.ศ. 1929-30 (พ.ศ. 2472-2473) พิมพ์ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484)
ในแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พ.ศ. ๒๔๙๗ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๑ ตอนที่ ๗๑ วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ (รูปที่ ๔) ยังปรากฏเส้นทางรถไฟดังกล่าวจากศรีราชา ไปยังบ้านหนองอีบู่ และบ้านหนองค้อ แต่ทางรถไฟที่แยกจากบ้านหนองอีบู่ไปยังบ้านวังหินนั้นหายไปแล้ว แสดงว่าเส้นทางสายนี้ถูกรื้อถอนไปก่อนสิ้นปีพ.ศ. ๒๔๙๗
รูปที่ ๔ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๔๙๗ จะเห็นว่าเส้นทางรถไฟที่แยกจากบ้านหนองอีบู่ไปทางบ้านวังหินและบ่อน้ำร้อน (ที่ตั้งอ่างเก็บน้ำบางพระในปัจจุบัน) ได้หายไปแล้ว
เส้นทางรถไฟลากไม้สายดังกล่าวที่หลงเหลืออยู่ ในภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นเส้นทางรถไฟสำหรับขนอ้อยจากไร่เข้าสู่โรงงานน้ำตาล ความทรงจำที่ภรรยาผมเคยเห็นก็คือรถไฟสายดังกล่าวเป็นรถไฟบรรทุกอ้อย (ภรรยาผมเกิดไม่ทันสมัยที่เขายังทำป่าไม้กันอยู่) ในแผนที่แนบท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลหัวกุญแจ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ในปีพ.ศ. ๒๕๐๖ ก็แสดงให้เห็นเส้นทางรถไฟของบริษัทน้ำตาลชลบุรี (รูปที่ ๕) ซึ่งในปัจจุบันเส้นทางดังกล่าวก็ได้กลายเป็นถนนไปแล้ว (ดูแผนที่ปัจจุบันในรูปที่ ๖) เส้นทางสายนี้น่าจะเป็นเส้นทางที่ภรรยาของผมเล่าให้ฟังว่าเคยเห็นเมื่อตอนยังเป็นเด็กอยู่ และน่าจะถูกรื้อถอนไปหลังปีพ.ศ. ๒๕๑๓
รูปที่ ๕ แผนที่แสดงเขตสุขาภิบาลหัวกุญแจ จากประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลหัวกุญแจ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ประกาศ ณ วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๐๖ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๘๐ ตอนที่ ๒๖ วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๐๖ ยังปรากฏแนวเส้นทางรถไฟบริษัทน้ำตาลชลบุรี
เส้นทางรถไฟที่ไปยังบ้านหัวกุญแจนี้เป็นเส้นทางที่แยกออกมาจากตลาดหนองค้อ (น่าจะเป็นบริเวณบ้านหนองค้อที่กลายเป็นอ่างเก็บน้ำในปัจจุบัน) พิจารณาจากแผนที่ในรูปที่ ๗ ดูแล้วเข้าใจว่าเส้นทางที่แยกจากบ้านหนองอีบู่เป็นเส้นที่อยู่ทางด้านตะวันตกของเขาเขียว (เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาเขียว) ซึ่งไม่ปรากฏในแผนที่ในรูปที่ ๗ แล้ว ส่วนเส้นทางที่แยกจากตลาดหนองค้อนั้นเป็นเส้นทางที่อยู่ทางด้านตะวันออกของเขาเขียว เส้นทางไปบ้านหัวกุญแจนี้ในแผนที่แสดงให้เห็นว่าผ่านบริเวณวัดโค้งดารา (บ้านโค้งดาราในปัจจุบัน) แล้วโฉบขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (น่าจะเป็นแนวถนน ชบ ๑๐๘๐ ในปัจจุบัน)
รูปที่ ๖ แผนที่บริเวณบ้านหัวกุญแจในปัจจุบัน เส้นทางรถไฟเดิมกลายเป็นถนนทางรถไฟเก่า
บ้านโค้งดารานี้ผมมีโอกาสแวะไปหลายครั้ง ปัจจุบันที่นั่นมีคนจากกรุงเทพและหลายจังหวัดแวะเวียนไป ที่เขาไปกันคือไปสถานปฏิบัติธรรมชื่อ "สวนสันติธรรม" ผมเองก็เคยแวะไปที่นั่น แต่ไม่ได้แวะไปฟังธรรมหรอก ไปดูคนที่เขาไปฟังธรรมมากกว่า (ไปดูพฤติกรรมประหลาด ๆ หลายอย่าง เรื่องหนึ่งเคยเล่าเอาไว้ใน Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๙๕ วันศุกร์ที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๓ เรื่อง "ไปวัดแล้วได้อะไร") แต่เหตุผลหลักคือแม่ค้าขายกล้วยทอดที่อยู่ที่ปากทางแยกจากบ้านโค้งดาราไปสวนสันติธรรมนั้น (ถ้าขับรถเข้าไปจะอยู่ทางขวามือ) ทอดกล้วยได้อร่อย ชอบกันทั้งครอบครัว ผ่านไปแถวนั้นทีไรต้องแวะซื้อกินกันก่อนแล้วค่อยขับรถกลับ
แนวทางรถไฟที่ปรากฏในแผนที่ในรูปที่ ๗ นั้นน่าจะผ่านไปทางด้านหน้าที่ตั้งสวนสันติธรรมในปัจจุบัน ซึ่งเป็นถนนที่ตัดผ่านด้านหลังเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาเขียวออกไป และเป็นบริเวณที่อยู่ระหว่างเนินเขาสองลูก ซึ่งเหมาะต่อการตัดเส้นทางมากกว่า ถนนเส้นนี้ปรกติผมก็ใช้เป็นเส้นทางเลี่ยงในการขับรถจากบางพระไปบ้านบึง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง ขับมาตั้งแต่ยังเป็นถนนลูกรัง/หินคลุกตัดผ่านไร่มัน จนตอนนี้มีการทำเป็นทางลาดยางเกือบทั้งเส้น เว้นแต่เฉพาะช่วงที่ตัดผ่านเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาเขียว ซึ่งยังคงเป็นถนนลูกรังผสมหินคลุกอยู่
รูปที่ ๗ ในหน้าสุดท้ายนำมาจาก ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลอ่าวอุดม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ประกาศ ณ วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๓ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๘๗ ตอนที่ ๑๐๐ วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๒ นั่นแสดงว่าในปีพ.ศ. ๒๕๑๓ นั้นทางรถไฟสายดังกล่าวยังมีอยู่ และยังทอดยาวไปถึงเขตรอยต่อกับจังหวัดระยองด้วย แผนที่นี้ผมนำมาจากไฟล์ต้นฉบับที่เป็น .pdf รูปต้นฉบับตัวจริงใหญ่กว่าหน้ากระดาษ A4 และชัดเจนกว่า ถ้าอยากเห็นภาพที่ชัดกว่านี้ก็ต้องไปดาวน์โหลดไฟล์จากเว็บของราชกิจจานุเบกษา แล้วเปิดขยายดูบนคอมพิวเตอร์ หรือไม่ก็ลองอ่านไฟล์ที่ส่งให้นี้บนคอมพิวเตอร์แล้วก็ขยายภาพดูเอาเอง
ในประเทศไทยนั้น ทางรถไฟและลำคลองที่เคยมีชื่อปรากฏในอดีต ค่อย ๆ ทยอยหายไป ถูกแทนที่ด้วยถนนและท่อระบายน้ำ แต่ก็ยังดีที่หลายแห่งยังมีการอนุรักษ์ชื่อเดิมเอาไว้ เพื่อให้คนรุ่นหลังรู้ว่าก่อนที่จะมาเป็นถนนในปัจจุบันนั้น เส้นทางดังกล่าวเคยเป็นอะไรมาก่อน ในกรุงเทพนั้นชื่อถนนชื่อสี่แยกยังคงมีอยู่ (เช่น "ถนนทางรถไฟสายปากน้ำ" ที่ทางรถไฟหายไปแล้ว "แยกสะพานเหลือง" ที่ตอนนี้ไม่มีสะพานหลงเหลือให้ดู) แต่ในต่างจังหวัดนั้นมักจะตั้งชื่อถนนโดยใช้รหัสตัวเลขแทน (ถ้าเป็นของจังหวัดก็จะมีรหัสจังหวัดนำหน้า) ซึ่งจะทำให้ความทรงจำของสิ่งเดิมที่เคยมีอยู่ตรงที่เหล่านั้นหายไป