ตึกแถวจะสูญพันธุ์หรือไม่
  AREA แถลง ฉบับที่ 350/2565: วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม 2565

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ตึกแถวจะสูญพันธุ์หรือไม่ นับเป็นคำถามที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ยังมีใครคิดจะทำตึกแถวหรือไม่ ทำต่อไปจะมีอนาคตไหม ถ้าจะทำต้องทำอย่างไร

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่าตึกแถวอาจเรียกว่าอาคารพาณิชย์ซึ่งก่อสร้างเป็นห้องแถว (barracks-typed housing)ซึ่งชั้นล่างจะใช้เพื่อการพาณิชย์ ส่วนชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย  ตึกแถวในประเทศไทยต้องมีตัวอาคารแต่ละหน่วยที่มีหน้ากว้างไม่ต่ำกว่า 4 เมตรและมักมีความลึก 12 เมตร ทั้งนี้ทางด้านหน้าอาจต้องเว้นระยะ 4-12 เมตร และด้านหลังอีก 2-3เมตร เป็นสำคัญ

            น่าแปลกใจว่าตึกแถวเคยมีสัดส่วนถึง 27.3% หรือมากกว่าหนึ่งในสี่ของที่อยู่อาศัยทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้เป็นผลสำรวจตามโครงการศึกษาการจัดการที่ดินกรุงเทพมหานครโดย ดร.โสภณได้รับมอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย (Asian Development Bank) มาทำการศึกษาอยู่ ณ การเคหะแห่งชาติในปี 2530 โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศของปี 2517 เทียบกับปี 2527

            ผลการศึกษาจากการแปรภาพถ่ายทางอากาศเมื่อปี 2527 หรือเมื่อราว 38 ปีก่อน  พบว่าตึกแถวเป็นที่อยู่อาศัยที่ได้รับความนิยมสูงมาก ยิ่งเมื่อเทียบกับภาพถ่ายทางอากาศปี 2517 มีตึกแถวในสัดส่วน 24.4% แสดงว่าตลอด 10 ปีดังกล่าว (พ.ศ.2517-2527) ตึกแถวมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งนับว่าน่าแปลกมากที่มีตึกแถวถึงหนึ่งในสี่ของที่อยู่อาศัยทั้งหมด ทั้งที่ประชาชนที่ประกอบอาชีพค้าขายคงมีไม่ถึงหนึ่งในสี่ แสดงว่าตึกแถวมีไว้เพื่อการอยู่อาศัยล้วนๆ ไม่ใช่ว่าส่วนใหญ่ของตึกแถวใช้เพื่อการพาณิชย์

            อย่างไรก็ตามในภายหลังจำนวนตึกแถวก็ลดลงตามลำดับ เช่น ณ สิ้นปี 2564 มีที่อยู่อาศัยในมือผู้ประกอบการเหลือขายอยู่ทั้งหมด 211,770 หน่วย ซึ่งสามารถเป็นที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนได้ถึง 600,000 คน  อย่างไรก็ตาม สินค้ารอขายของตึกแถวมีอยู่เพียง 3,532 หน่วย หรือประมาณ 1.7% ของทั้งหมด แสดงว่าในทุกวันนี้จำนวนตึกแถวมีน้อยมาก  ทั้งนี้ก็เพราะที่อยู่อาศัยหลักในปัจจุบัน เป็นอาคารชุดซึ่งมักไม่มีองค์ประกอบของตึกแถวรวมอยู่ด้วย

            ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงจำนวนหน่วยขายเปิดใหม่เฉพาะในปี 2564 ที่ผ่านมาอันเป็นผลการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ปรากฏว่ามีการเปิดตัวตึกแถวใหม่เพียง 461 หน่วยเท่านั้น หรือเฉลี่ยเดือนละ 38 หน่วยเท่านั้น  จำนวนนี้มีสัดส่วนเพียง 0.8% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมดจำนวน 66,118 หน่วยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เปิดตัวคือห้องชุดจำนวน 23,445 หน่วย ทาวน์เฮาส์ 23,248 หน่วย และบ้านเดี่ยว 7,771 หน่วย


            1. ในบางบริเวณธุรกิจโดยเฉพาะในเขตเมืองเก่า เขต China Town ยังมีความต้องการตึกแถว            การที่ตึกแถวเปิดตัวเพียง 0.8% นี้อาจทำให้เข้าใจว่าตึกแถวหมดยุคไปแล้ว ทั้งนี้มีส่วนจริงเพราะหดตัวจากหนึ่งในสี่ของที่อยู่อาศัยทั้งหมดที่มีอยู่ในปี 2527 เหลือจำนวนการเปิดใหม่ไม่ถึง 1% เท่านั้น  แต่ทั้งนี้คงไม่ถึงขนาดสูญพันธุ์จริงๆ เพราะ

                2. ในพื้นที่จัดสรรแนวราบที่มีทาวน์เฮาส์ หรือบ้านเดี่ยว ก็อาจมีการก่อสร้างตึกแถวไว้ด้านหน้าได้เช่นกัน

                3. ในต่างจังหวัด การสร้างตึกแถวขายก็ยังมีดกดื่น คล้ายกับในกรุงพนมเปญที่ยังไม่ได้เจริญเท่าไทย ก็ยังมีความนิยมสร้างตึกแถว (แต่ก็สร่างซาลงไปจากเมื่อ 10 ปีก่อน)

                4. ตึกแถวบางส่วนอาจแปลงโฉมใหม่เป็นโฮมออฟฟิศ ซึ่งก็มีการหน้าที่ในการเป็นสถานประกอบการที่ชั้นล่างและเป็นที่อยู่อาศัยในชั้นบนๆ

            อย่างไรก็ตามก็เชื่อว่าในอนาคต 10 ปีข้างหน้า ความต้องการตึกแถวก็ยังคงไม่ได้เพิ่มขึ้นแม้อาจจะไม่ได้ลดลงไปกว่านี้แล้วก็ตามเพราะการอยู่อาศัยแบบอาคารชุดจะเป็นที่อยู่อาศัยหลัก (แม้ขณะนี้จะมีภาวะล้นตลาดในชั่วขณะก็ตาม) ซึ่งอาคารชุดก็คงแทบไม่มีองค์ประกอบเป็นตึกแถวในโครงการด้วย

อ่าน 1,173 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved