เป็นเรื่องสุดเหลือเชื่อที่รัฐบาลสิงคโปร์ รักชาติ รักประชาชนมากจริงๆ โดยพิจารณาได้จากระบบอสังหาริมทรัพย์ที่มุ่งคุ้มครองประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช่นายทุน
สิงคโปร์ถือเป็นประเทศ “ร้อยพ่อพันแม่” ที่ประกอบด้วยกลุ่มคนจีน 74% มาเลย์ 14% อินเดีย 9% และอื่นๆ ถ้าพิจารณาในแง่ศาสนา เป็นคนพุทธ 31% คริสต์ 19% มุสลิม 16% ลัทธิเต๋า 9% ฮินดู 5% และยังมีผู้ที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ อีก 20% แต่กลุ่มชนที่แตกต่างกันมากมายนี้ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ เพราะเขาไม่ให้มีการตั้งหมู่บ้านพุทธ หมู่บ้านคริสต์ หมู่บ้านมุสลิม หรือหมู่บ้านแขกฮินดูใดๆ ทั้งสิ้น
ที่อยู่อาศัยถึง 80% สร้างโดยการเคหะแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งส่วนมากเป็นอาคารชุด ทางราชการสิงคโปร์กำหนดไว้ชัดเจนว่า ห้องชุดแต่ละห้องจะต้องมีการจับฉลากให้เข้าอยู่ รัฐบาลไม่ยอมให้คนศาสนาเดียวกัน ชาติพันธุ์เดียวกันอยู่รวมกันในชั้นเดียวกัน ซอยเดียวกัน หรือหมู่บ้านเดียวกันอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันการรวมกลุ่มตามเชื้อชาติ ศาสนาและอาจพาลไปกีดกันชนชาติหรือคนต่างศาสนา
ในด้านการซื้ออสังหาริมทรัพย์
1. คนที่ไม่เคยมีบ้านและซื้อบ้านหลังแรก ไม่ต้องเสียภาษีเลย แต่ถ้าใครซื้อบ้านหลังที่สองเพื่อการลงทุนหรือเหตุผลใดๆ ก็ตามต้องเสียภาษีถึง 17% เช่น ห้องชุดห้องหนึ่งราคา 20 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเข้าหลวง 3.4 ล้านบาท (12%) เพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศ ดังนั้นผู้ซื้อต้องจ่ายรวม 23.4 ล้านบาท สำหรับบ้านราคา 20 ล้านบาท ยิ่งถ้าใครซื้อเป็นบ้านหลังที่ 3 ขึ้นไป ก็ต้องเสียภาษีถึง 25%
2. คนต่างด้าวที่มีถิ่นพำนักถาวรในสิงคโปร์ ต้องเสียภาษี 5% สำหรับการซื้อบ้านหลังแรก สำหรับบ้านหลังที่ 2 เสีย 25% และหลังถัดๆ ไปต้องเสีย 30% ทั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า สิงคโปร์เห็นแก่ประชาชนชาวสิงคโปร์ก่อนคนชาติอื่น
3. ในกรณีชาวต่างประเทศที่มาซื้อบ้านหรือห้องชุดในสิงคโปร์ ต้องเสียภาษี 30% แต่ของไทยแทบไม่เก็บเลย การที่สิงคโปร์เก็บก็เพื่อป้องกันการมาเก็งกำไรของชาวต่างชาติ ซึ่งแม้จะเป็นผลดีต่อผู้พัฒนาที่ดินในชั้นแรก แต่อาจเป็นผลเสียต่อประเทศชาติในระยะยาว
4. ถ้าซื้อในนามบริษัทต่างชาติ ก็ต้องเสียภาษีในอัตรา 35%
5. ในกรณีบริษัทพัฒนาที่ดินที่มาซื้อที่ดินในสิงคโปร์ (อันที่จริงคงเป็นการเซ้งระยะยาว 99 ปี) จากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนาที่ดินสิงคโปร์หรือนักพัฒนาที่ดินต่างชาติ ต้องเสียภาษีสูงถึง 40% รัฐบาลจะได้นำเงินไปพัฒนาประเทศ จะสังเกตได้ว่ารัฐบาลสิงคโปร์ไม่กลัวว่านักพัฒนาที่ดินจะอ้างว่าจะผลักภาระภาษีให้ประชาชน แต่รัฐบาลของเขาเก็บภาษีมาพัฒนาประเทศก่อนเลย (https://bit.ly/3KisRL5)
การเป็นนักพัฒนาที่ดินในสิงคโปร์ต้องได้รับในอนุญาต ไม่ใช่ตั้งบริษัทขึ้นมาลอยๆ และแต่ละโครงการที่พัฒนาก็ต้องได้รับใบอนุญาตเช่นกัน ที่สำคัญนักพัฒนาที่ดินจะต้องมีหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นจำนวนเงินอย่างน้อย 140% ของต้นทุนการก่อสร้างโครงการทั้งหมด พร้อมใบรับรองของต้นทุนการก่อสร้างทั้งหมดโดยสถาปนิกที่รับผิดชอบโครงการ เผื่อว่าโครงการนั้นๆ ประสบปัญหา จะได้มีเงินทุนมาก่อสร้างต่อเพื่อผู้บริโภคนั่นเอง
สำหรับกรณีนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์ คนที่จะทำอาชีพนายหน้า ต้องมีใบอนุญาตประกอบอาชีพ ไม่ใช่ใครก็เป็นนายหน้าได้ เริ่มต้นจะต้องสมัครเป็น “พนักงานขาย” (Salespersons) ก่อน โดยจะต้อง
1. มีอายุ 21 ปีขึ้นไป
2. จะต้องเป็นชาวสิงคโปร์หรือเป็นผู้มีถิ่นพำนักในสิงคโปร์เป็นเวลา 10 ปีขึ้นไป
3. เรียนจบชั้นมัธยมต้น (4 GCE ‘O’ Level)
4. ผ่านการสอบอาชีพ “พนักงานขาย” ที่จัดโดยคณะกรรมการควบคุมอาชีพนายหน้า (Council of Estate Agents) ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ (ไม่ใช่ให้สมาคมทดสอบเอง) ไม่เกิน 2 ปี
5. ต้องทำงานนายหน้าที่เดียว (ไม่อนุญาตให้ทำธุรกิจนี้มากกว่า 1 บริษัท)
6. ไม่ใช่ “ผู้ให้กู้เงิน” (Moneylender) ที่ได้รับอนุญาตหรือพนักงานที่เกี่ยวข้อง
ส่วนในกรณีที่จะขออนุญาตเป็นผู้บริหารบริษัทนายหน้า (Key Executive Officer – KEO) ก็มีคุณสมบัติคล้ายกัน แต่ต้องมีคุณสมบัติเพิ่มคือ ต้องมีบันทึกการเป็นนายหน้าสำเร็จมาแล้ว 30 รายในรอบ 3 ปี และเป็นผู้บริหารบริษัทมาแล้ว 3 ปี นายหน้าในสิงคโปร์จึงเรียกว่า Salesperson ส่วนบริษัทนายหน้าเรียกว่า Estate Agents เขาไม่ใช้คำว่า Brokers เพราะฟังดูคล้ายคำว่า Broke (ล้มละลาย) บริษัทนายหน้าจะต้องไปจดทะเบียนกับ องค์กรกำกับดูแลการบัญชีและองค์กร (Accounting and Corporate Regulatory Authority) ของรัฐบาลสิงคโปร์ และบริษัทนายหน้าต้องไม่ทำอาชีพให้กู้เงินเช่นกัน
สำหรับความรู้ของผู้เป็นนายหน้าบุคคล (Salesperson) ที่ต้องผ่านการสอบประกอบด้วยความรู้เรื่องตลาดอสังหาริมทรัพย์ กฎหมายอสังหาริมทรัพย์ การเงินอสังหาริมทรัพย์ การทำธุรกิจนายหน้า การโอนทรัพย์สิน เป็นต้น ส่วนผู้ที่จะเป็นบริษัทนายหน้า (Agents) ก็ต้องมีความรู้ในด้านการบริหารจัดการองค์กร การขายและการตลาด เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถบริหารบริษัทให้ยั่งยืนได้ และก็ต้องผ่านการสอบเช่นกัน การสอบเป็นนายหน้าบุคคล จะต้องเสียค่าสมัครเป็นเงินประมาณ 10,000 บาทต่อคน (https://bit.ly/3LHdsE4) และสำหรับในปี 2565 นี้ รอบการสอบแรกมีผู้สมัครครบ 3,000 คนแล้ว ใครสนใจสมัครก็ต้องรอไปรอบหน้า
การเป็นนายหน้านั้นจะต้องมีการประกันทางวิชาชีพ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค หากนายหน้ากระทำผิดโดยประมาท ทำให้ผู้บริโภคเสียหาย ก็ต้องมีบริษัทประกันมาชดใช้ นายหน้ามีหน้าที่ต้องซื้อประกันทางวิชาชีพเพื่อคุ้มครองในวงเงินประมาณ 1 แสนถึง 1 ล้านเหรียญสิงค์โปร์ (2.4 - 24 ล้านบาท) (https://bit.ly/3r9pC0Q) ในประเทศไทยนายหน้าก็ควรมีระบบประกันทางวิชาชีพเช่นกัน
เมื่อมีการถือครองอสังหาริมทรัพย์ แต่ละปีผู้ถือครองก็ต้องเสียภาษี โดยผู้ที่ถือครองทรัพย์สินทั้งนี้เพื่อสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ผู้ที่ถือครองที่อยู่อาศัยราคาแพงกว่า ก็ต้องเสียภาษีมากกว่า ผู้ที่ถือครองอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างรายได้ เข่น โรงแรม สำนักงาน ศูนย์การค้าก็เสียภาษีมากกว่าที่อยู่อาศัย ที่ดินเปล่า ก็ต้องเสียภาษีเช่นกัน จะแสร้งมาปลูกต้นไม้ให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมแล้วออกระเบียบว่าให้เก็บภาษีต่ำๆ แบบที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ย่อมเป็นไปไม่ได้ในสิงคโปร์
การเก็บภาษีคนที่รวยๆ กว่าทั้งในแง่การถือครองทรัพย์สินและการมีรายได้สูง (ซึ่งยังรวมถึงภาษีรายได้ส่วนบุคคล) ก็จะทำให้ประเทศชาติมีเงินเพียงพอที่จะส่งเสริมให้ผู้ที่เสียเปรียบในสังคมได้สามารถ “ลืมตาอ้าปาก” ขึ้นมาบ้าง การแตกแยกก่อการร้ายหรือทำร้ายสังคมในรูปแบบต่างๆ ก็จะลดน้อยลงไปด้วย สังคมก็จะน่าอยู่กว่าการเป็น “บ้านป่าเมืองเถื่อน” หรือการอยู่ในสังคมแบบ “มือใครยาว สาวได้สาวเอา”
มีอยู่ครั้งหนึ่งลีกวนยิวและครอบครัวแค่ซื้อห้องชุดสุดหรูใจกลางเมืองโดยได้ส่วนลด 5-12% (https://bit.ly/1NhRTqv) ก็ถูกสื่อถล่มหนัก (เพียงแต่ไม่ได้ด่าหยาบคายเช่นสื่อไทย) สิงคโปร์ได้รับการพิสูจน์ชัดว่าเป็นประเทศที่แทบจะไร้ทุจริต มีความโปร่งใสติดอันดับสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก ความสุจริตเกิดขึ้นได้ในสมัยประชาธิปไตยที่โปร่งใสเท่านั้น ไม่อาจเกิดขึ้นในยุคเผด็จการทรราช เช่น สฤษดิ์ มากอส ซูฮาร์โต ที่เราเคยเห็น
สิงคโปร์จึงเป็นประเทศที่ใช้ระบบอสังหาริมทรัพย์มาเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริงประเทศหนึ่ง
ที่มา: Photo by Jahoo Clouseau from Pexels: https://www.pexels.com/photo/photography-of-city-during-dusk-867092/