ชาวมุสลิมจะนะ-เทพาไม่ควรค้านการสร้างเทวรูปกวนอิม
  AREA แถลง ฉบับที่ 374/2565: วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม 2565

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4
ชาวมุสลิมจะนะ-เทพาไม่ควรค้านการสร้างเทวรูปกวนอิม

            เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่า “ชาวมุสลิมจะนะ-เทพา ค้านทีพีไอสร้างเจ้าแม่กวนอิมกลางชุมชน”<1> ดร.โสภณ เห็นว่าชาวมุสลิมจะนะ-เทพาไม่ควรค้านการก่อสร้างเทวรูปกวนอิมซึ่งมีข้อดีต่อชุมชนเช่นกัน

            ตามข่าวข้างต้นชาวบ้านอ้างว่า “เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวล้อมรอบไปด้วยชุมชนคนมุสลิม. . .แผนการก่อสร้างเทวรูปเจ้าแม่กวนอิม มีความสูง 200 เมตร บนพื้นที่เขาล้อน ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเลสงขลา ใน ต.สะกอม อ.เทพา. . .ชุมชนคนมุสลิม. . .เห็นควรให้ยุติโครงการดังกล่าว เพราะการสร้างรูปเคารพนั้นไม่มีในศาสนาอิสลาม. . .แม้ท่านจะสร้างในที่ดินที่ท่านอาจจะมีสิทธิ์. . .จะทำหนังสือถึง. . .ประชาธิปัตย์. . .แต่หากไม่สามารถทำได้ เราก็พร้อมใจกันไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยหน้า”

            แม้ข้อนี้จะเป็นความละเอียดอ่อนทางศาสนา แต่เพื่อความเข้าใจที่ดีร่วมกัน ข้อนี้ ดร.โสภณจึงมีความเห็นที่แตกต่างไป กล่าวคือ

            1. ตามหลักศาสนาอิสลาม “การห้ามการใช้รูปเคารพมิได้มาจากคัมภีร์อัลกุรอานโดยตรง” <2> อันที่จริง “อัลกุรอานดูเหมือนจะแยกความแตกต่างระหว่างรูปปั้น และรูปเคารพ. . .นักวิชาการมุสลิมต่างเห็นพ้องกันว่าห้ามมิให้ชาวมุสลิมบูชารูปปั้น (ที่เป็นการ). . .อนุญาตให้มีรูปปั้นได้ตราบเท่าที่พวกเขาไม่เคารพสักการะ” <3> ดังนั้น แม้มีการก่อสร้างกวนอิม แต่หากชาวมุสลิมไม่ได้แสดงความเคารพ ก็น่าจะทำได้ การทำลายรูปเคารพต่างศาสนา อาจเกิดขึ้นในอาฟกานิสถาน อินโดนีเซียหรือที่อื่นบ้าง แต่คงเป็นเฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น แม้แต่สฟิงซ์ในอียิปต์ก็ยังอยู่ดี เป็นต้น

            2. ในตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา แม้มีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ (65%) แต่ก็มีชาวพุทธ (35%) ด้วย <4> การห้ามสร้างเทวรูปกวนอิมจึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควร  ในพื้นที่ทั่วประเทศไทย ก็มีการสร้างมัสยิด แม้กระทั่งบนเขาใหญ่ ซึ่งชาวมุสลิมเพิ่งไปอยู่ได้ไม่กี่สิบปีนี้เอง

            3. ณ เขาล้อนในปัจจุบัน ณ หมู่ที่ 1 ต.สะกอม อ.เทพา สงขลา ก็ยังมีเจดีย์ในพุทธศาสนาอยู่ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 <5> ชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมก็อยู่ร่วมกันในพื้นที่นี้มาช้านานแล้ว ไม่มีใครถือว่าเป็นเจ้าของพื้นที่โดยตรง และห่างออกไปเพียง 6 กิโลเมตร ก็ยังมีวัดสะกอม ซึ่งเป็นวัดพุทธ และยังมีศาลเจ้าปุนเถ้ากง

            4. จุดที่สร้างเจ้าแม่กวนอิมคงเป็นที่ดินที่ผู้สร้างมีสิทธิ์สร้าง <7> และอยู่บนเขา  ไม่ได้อยู่ในชุมชน การจำกัดสิทธิในการก่อสร้างดังกล่าวน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

            5.  การก่อสร้างนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของชุมชน และคงไม่ใช่กิจกรรมเผยแพร่ศาสนานอกอิสลามแต่อย่างใด

            ประชาชนทุกศาสนาพึงอยู่ร่วมกันอย่างสันติ   


ที่มา: https://bit.ly/3sdf4y3 


ที่มา: http://www.sakomchana.go.th/travel/detail/1530


ที่มา: http://sakomthepha.go.th/travel/detail/1484/

อ้างอิง
<1> ข่าว 27 เมษายน 2565. https://bit.ly/3w2RrcR
<2> ลัทธิทำลายรูปเคารพในศาสนาอิสลาม. https://bit.ly/3MOJgYr
<3> Does Islam permit destruction of all statues? https://bit.ly/3MVmE8L
<4> แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2561-2565 อ.บ.ต.สะกอม เทพา สงขลา (น.20) https://bit.ly/3kIutTa
<5> อาถรรพ์เจดีย์เก่าบนเขาล้อนสมัย ร.5 เกิดฟ้าผ่า สร้างไม่เสร็จ กลายเป็นจุดชมวิวทะเลสวยงาม https://bit.ly/3seszxG
<6> โปรดดูแผนที่ระหว่างจุดชมวิวเขาล้อนไปวัดสะกอมได้ที่ https://bit.ly/3sdf4y3 และดูคลิปวัดสะกอมได้ที่ https://bit.ly/3w5tWQt และกลุ่มภาพศาลเจ้าปุนเถ้ากงได้ที่ https://bit.ly/3LSPs1k 
<7> White Channel: https://bit.ly/3w65iPx

 

อ่าน 1,823 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved