สังคมอาจตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของมูลนิธิปรีดี
  AREA แถลง ฉบับที่ 386/2565: วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม 2565

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4
สังคมอาจตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของมูลนิธิปรีดี

            จากการฟังคำชี้แจงของคณะกรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เมื่อเร็วๆ นี้ อาจทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของมูลนิธิปรีดี เพราะไม่เปิดเผยข้อมูลการเช่า สัญญาเช่า แบบแปลนอาคารใดๆ เลย อาจทำให้ชื่อเสียงของมูลนิธิและท่านปรีดีเสียหายไปอย่างน่าเสียดาย

            เมื่อเวลา 14:00 น. ของวันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมการมูลนิธิสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดเวทีสนทนาสาธารณะ เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการพัฒนาพื้นที่ของสถาบันปรีดี พนมยงค์ ณ สมาคมธรรมศาสตร์ ซอยงามดูพลี เขตสาทร กรุงเทพมหานคร  ผมได้เข้าร่วมฟังด้วย  ผมมีข้อสังเกตดังนี้:

            1. น่าแปลกที่การประชุมเริ่มตรงเวลา 14:00 น. แต่ ผู้ดำเนินการใช้เวลาแนะนำตัวกันไปถึง 18 นาที จากนั้นกรรมการท่านหนึ่งก็แจงผลการดำเนินงานของมูลนิธิจนถึงเกือบบ่าย 3 โมง (14:52) จึงได้เริ่มพูดถึงโครงการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเป็นการเสียเวลาเป็นอย่างยิ่ง

            2. อย่างไรก็ตาม ก็ได้ทราบว่างบประมาณของสถาบันปีละ 5.35 ล้านบาทนั้นใช้เป็นค่าดำเนินการถึง 4.75 ล้านบาท หรือ 89% เข้าไปแล้ว เหลือเพียง 6 แสนบาทหรือ 11% เป็นค่ากิจกรรม จึงทำให้เกิดคำถามว่าการที่มูลนิธิจ้างพนักงานไว้หลายคนและมีค่าใช้จ่ายมากมายเช่นนี้ เป็นการใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ ค่าดำเนินการมากกว่าระบบราชการที่ใช้เงินเพื่อการนี้ที่ 70%เสียอีก  กิจกรรมที่ดำเนินการไปส่งผลดีต่อการสร้างชื่อเสียงของท่านปรีดีอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

            3. กรรมการมูลนิธิอ้างว่า “เงินบริจาคหายากมาก พอเป็นมูลนิธิปรีดี ไปขอที่ไหนเขาก็ไม่ให้ ยอดเงินบริจาคก็ลดลง ลูกศิษย์อาจารย์ปรีดีก็ล้มหายตายจากกันไปแทบจะไม่เหลือ” นี่เป็นข้ออ้างที่อาจไม่สมเหตุสมผล ประการแรก การจะได้เงินบริจาคหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าโครงการที่จะขอทุนดูเป็นประโยชน์จริงหรือไม่ ผู้ให้ก็คงต้องใช้วิจารณญาณ ยิ่งงบประมาณส่วนมากเอามาบริหารด้วยแล้ว คนบริจาคก็คงไม่ยินดีนัก ประการที่สองวิธีการขอรับบริจาคนั้นอาจต้องปรับปรุงหรือไม่ ผู้ที่เคารพรักในตัวท่านปรีดียังมีมากมาย แต่มูลนิธิไม่สามารถเข้าถึงได้ต่างหากหรือไม่

            4. กรรมการมูลนิธิชี้แจงว่าในเดือนพฤศจิกายน 2561บริษัทก่อสร้างได้ตรวจสอบโครงสร้างอาคารแล้ว ปรากฏว่าแข็งแรงดี ซึ่งขัดแย้งกับที่มูลนิธิเคยแถลงเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2565 ว่า “เหตุที่ต้องมีการปรับปรุงรื้อถอนอาคาร เนื่องมาจากความเสื่อมโทรมของอาคารสถานที่. . .อาจเกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัย. . .” (https://bit.ly/3MuOEjC) อันที่จริงอาคารที่ใช้งานมา 27 ปี อาจต้องซ่อมแซมงานสถาปัตยกรรม และระบบประกอบอาคาร ส่วนโครงสร้างอาคารซึ่งมีมูลค่าหลัก ยังแข็งแรงดี

            5. ในวันที่ 22 ตุลาคม 2562 มีผู้สนใจพัฒนาพื้นที่ของมูลนิธิ 10 ราย แต่เมื่อถึงวันที่ 22 มกราคม 2563 มีผู้ยื่นข้อเสนอเพียง 1 ราย และมูลนิธิก็รับข้อเสนอของบริษัทดังกล่าว ข้อน่าสังเกตก็คือ ถ้ามีผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว ก็ควรที่จะจัดการยื่นข้อเสนอกันใหม่ เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ดีที่สุด มูลนิธิไม่ควรรีบรับข้อเสนอดังกล่าว และเป็นที่น่าสังเกตว่าการให้ยื่นข้อเสนอในกรณีนี้ค่อนข้างเงียบมาก แทบไม่มีใครเคยได้ยินข่าวเลย แม้มูลนิธิจะอ้างว่าได้ติดต่อไปยังสมาคมอสังหาริมทรัพย์ แต่สมาชิกสมาคมดังกล่าว ส่วนมากทำธุรกิจบ้านจัดสรร-อาคารชุด ก็คงไม่สนใจพัฒนาที่ดินแปลงนี้

            6. ข้อครหาอีกข้อก็คือ หลังจากรับบริษัทเพียงรายเดียวที่ยื่นข้อเสนอแล้ว ในเดือนเมษายน  2563 ก็ยังตกลงยอมให้บริษัทดังกล่าวได้สิทธิเช่า 30 ปีตามกฎหมายและให้สัญญาว่าจะบวกอีก 15 ปี รวมแล้วเป็น 45 ปี ยิ่งกว่านั้นยังให้ช่วงก่อสร้างนานถึง 3 ปี 6 เดือน (ซึ่งถือว่านานเกินไปสำหรับอาคารที่ไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่) ก่อนที่นับเวลาให้เช่า 30 ปีแรก ซึ่งถ้ามีเงื่อนไขที่เอื้อต่อผู้เช่าเช่นนี้แต่แรก ก็อาจมีบริษัทอื่นสนใจอีกมาก

            7. กรรมการมูลนิธิส่อทำผิดกฎหมายหรือไม่ที่จะให้เช่าที่ดิน 30 ปี บวก 15 ปี เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สามารถเช่ากันได้เพียง 30 ปี และเมื่อครบกำหนด จึงจะสามารถทำสัญญาเช่าได้อีกไม่เกิน 30 ปี การทำสัญญากันเกินกว่าขอบเขตตามกฎหมายถือเป็นนิติกรรมอำพราง ซึ่งมูลนิธิที่มีชื่อเสียงสูงนี้ไม่ควรกระทำ และก็ไม่มีผลตามกฎหมาย ในอนาคตคณะกรรมการมูลนิธิชุดใหม่หรือชุดใดก็ตามก็สามารถยกเลิกสัญญาเช่าอีก 15 ปีได้โดยไม่ถือว่าผิดสัญญา

            8. กรรมการมูลนิธิไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลสำคัญ ได้แก่ สัญญาเช่าที่ดิน ค่าเช่า และแบบแปลนอาคารใหม่ กรณีนี้อาจทำให้สังคมเข้าใจผิดถึงความไม่โปร่งใสของคณะกรรมการได้ การปิดบังข้อมูลนี้ทำให้การประชุมในวันดังกล่าว แทบไม่มีความหมายอะไร ในที่ประชุม ผมจึงเสนอให้มูลนิธิเชิญบริษัทคู่สัญญามาร่วมกันชี้แจงด้วย ซึ่งหากบริษัทตั้งใจช่วยมูลนิธิด้วยใจจริง ก็ควรมาชี้แจงและรับฟังข้อเสนอแนะบ้าง

            9. ผมเคยนำเสนอไปแล้วว่า ที่ดิน 371 ตารางวานี้ มีมูลค่าตารางวาละ 1-1.5 ล้านบาท หากสมมติมีมูลค่ารวม 400 ล้านบาท การให้เช่าเป็นเวลา 30 ปี  น่าจะเป็นเงินอย่างน้อย 40% หรือ 160 ล้านบาท  ยิ่งถ้าให้เช่า 45 ปี ก็คงเป็นเงิน 60% หรือเป็นเงิน 240 ล้านบาท  มูลนิธิได้ค่าเช่าเท่าไหร่กันแน่ น่าจะชี้แจงให้สาธารณชนได้ทราบต่อไป

            10. อย่างไรก็ตามในตอนหนึ่งกรรมการมูลนิธิท่านหนึ่งแจงตัวเลขคร่าวๆ ว่ามูลนิธิจะได้เงินเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value หรือ NPV) เป็นเงินประมาณ 200 ล้านบาท แต่ก็เป็นการพูดปากเปล่า เป็นตัวเลขจริงหรือไม่ ก็ไม่อาจพิสูจน์ได้ กรรมการก็ได้แต่อ้างอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมท่านหนึ่ง ซึ่งการอ้างตัวบุคคลโดยไม่มีตัวเลขชัดเจน อาจทำให้เกิดความสงสัยถึงความโปร่งใสของมูลนิธิได้

            11. ตามข้อชี้แจงของมูลนิธิยังบอกว่ามูลนิธิจะได้พื้นที่ใช้สอยประมาณ 7% ของพื้นที่หรือราว 500 ตารางเมตร ในเวลาถึง 45 ปี อย่างนี้คุ้มหรือไม่ ที่จอดรถจะพอหรือไม่ ค่าส่วนกลางอีกมากมาย ผลประโยชน์ที่บริษัทคู่สัญญาได้ไป จะได้มหาศาลกว่าหรือไม่ มูลนิธิจะเสียเปรียบหรือไม่ ก็ไม่สามารถชี้แจงได้ ผมไม่อยากให้สังคมเข้าใจผิดไปว่ากรรมการมูลนิธิที่ผมเคารพ ฉ้อฉลหรือได้ประโยชน์ในทางมิชอบหรือไม่

            12. ถ้ารื้ออาคารทิ้งไปทั้งหมดให้มีสภาพเช่นมูลนิธิไชยวนา (สวนครูองุ่น) ที่อยู่ข้างๆ มูลนิธิยังมีพื้นที่ดินถึง 1,484 ตารางเมตร (371 ตารางวา) มากกว่าพื้นที่ๆ จะได้รับ 500 ตารางเมตรถึง 3 เท่า หรือถ้าไม่รื้อทิ้งทั้งหมด เพราะโครงสร้างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ผมประเมินไว้ที่ราคา 50 ล้านบาท แล้วนำมาใช้สอยตามสภาพ ก็ยังสามารถทำประโยชน์ได้อีกมากมายโดยไม่จำเป็นต้องให้มีผู้มาหาผลประโยชน์ถึง 48.5 ปี (30 ปีแรก + 15 ปี + ช่วงก่อสร้างอีก 3.5 ปี)

            13. มูลนิธิอาจจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างบางประการ คือ มีเพียงเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการไม่กี่คน นอกนั้นให้เป็นอาสาสมัครไม่รับเงินเดือน และการทำเว็บไซต์หรืออื่นๆ ให้จ้างบุคคลภายอก งบประมาณที่ใช้ไปถึงปีละ 5.35 ล้านบาท ก็อาจลดลงเหลือเพียงไม่ถึง 1 ล้านบาท ก็เป็นไปได้

            14. การที่มูลนิธิอ้างว่ามีเงินเก็บอยู่เพียง 10 ล้านบาท ไม่เพียงพอที่จะปรับปรุงจึงต้องให้ภาคเอกชนมาดำเนินการนั้น มูลนิธิอาจพยายามใหม่ในการระดมทุนให้มีประสิทธิผลกว่านี้ หรืออาจปรับปรุงอาคารเพียงระดับหนึ่ง โดยไม่ต้องใช้เงินถึง 20 ล้านตามอ้าง เพื่อให้กิจกรรมของมูลนิธิยังดำเนินการต่อไปได้

            15. คณะกรรมการมูลนิธิพึงตะหนักถึงคุณูปการของน้องสาวของท่านปรีดีที่อุตส่าห์ขายที่ดินมาก่อสร้างอาคารนี้ รวมทั้งท่านอื่นๆ ที่บริจาคเงิน และวัสดุก่อสร้างมาสร้างไว้ การรื้อทิ้งไปเสียทั้งที่โครงสร้างยังมีอายุใช้งานอีกนับร้อยปี เท่ากับไม่เคารพต่อผู้บริจาค

            ช่วยกันคิดด้วยข้อมูลที่โปร่งใสเพื่อมูลนิธิสถาบันปรีดี พนมยงค์

           

อ่าน 1,535 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved