อ่าน 1,762 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 120/2556: 6 กันยายน 2556
       วิเคราะห์คำชี้แจงของ ดร.เกรียงพล ผอ.สำนักผังเมือง กทม.

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ตามที่ผมได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอื่น คัดค้านผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ดร.เกรียงพล พัฒนรัฐ ผอ.สำนักผังเมือง กทม. ได้ทำหนังสือเลขที่ กท.1704/1702 ชี้แจงการค้านของผม ผมจึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ เพื่อให้สาธารณชนได้ทราบ และวิเคราะห์ให้เห็นว่าคำชี้แจงดังกล่าว ไม่ได้ตอบปัญหาเกี่ยวกับผังเมืองแต่อย่างใด

          ประเด็นที่ 1
          ดร.โสภณ คัดค้านว่า: ในพื้นที่ธุรกิจใจกลางเมืองถูกจำกัดการก่อสร้างทั้งที่ควรให้พัฒนาในแนวสูง เพื่อใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่าและเก็บภาษีได้มาก เช่น พื้นที่ ย.9 ย.10 แถวสุขุมวิท สามารถสร้างได้เพียง 7-8 เท่าของขนาดที่ดินและต้องมีอัตราส่วนของที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวมถึง 4-5 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ หากเจ้าของที่ดินมีที่ดินแปลงหนึ่งขนาด 1 ไร่ ก็ต้องเว้นพื้นที่โดยรอบถึงราว 32 เปอร์เซ็นต์หรือหนึ่งในสามกรุงเทพมหานครมักอ้างว่า มีไฟไหม้อาคารขนาดใหญ่บ่อยครั้ง ซึ่งไม่จริง ในช่วง พ.ศ. 2550-5 อาคารเหล่านี้เกิดเพลิงไหม้ลดลงจาก 9 เปอร์เซนต์ เหลือ 1 เปอร์เซ็นต์ อาคารเหล่านี้มีระบบป้องกันไฟไหม้ที่ดี กรุงเทพมหานครควรปรับปรุงประสิทธิภาพในการดับเพลิงแทนที่จะนำมาอ้างเพื่อกีดขวางการพัฒนา
          ดร.เกรียงพล ชี้แจงว่า: ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ไม่ได้จำกัดความสูงของอาคาร ยกเว้นบางบริเวณ  หากเจ้าของที่ดินมีความต้องการพัฒนาอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่สามารถทำได้ภายในเงื่อนไขที่กำหนด และการกำหนดอัตราส่วนพื้นที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม หรือ OSR นั้น มีเจตนารมณ์ต้องการควบคุมความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่โดยรอบ รูปแบบของอาคาร ความโปร่งโล่งของพื้นที่ ทัศนียภาพและสภาพแวดล้อมของเมือง รวมทั้งการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม การควบคุมอาคารขนาดใหญ่หรืออาคารสูงมิให้ตั้งอยู่ริมถนนที่มีขนาดเล็กนั้น เพื่อประสิทธิภาพการดับเพลิงเพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการเข้าระงับอัคคีภัยและลดปัญหาการจราจรแออัดบนถนนขนาดเล็กอันเกิดจากผู้อยู่อาศัยในอาคาร
          ดร.โสภณ วิพากษ์ว่า: ประการแรก แม้พื้นที่ส่วนใหญ่ตามผังเมืองรวมไม่ได้จำกัดความสูงโดยตรง แต่โดยที่กำหนดให้มี OSR มาก ถึงราว 1/3 ของพื้นที่ดิน ก็ทำให้ไม่สามารถสร้างสูง จึงเท่ากับจำกัดความสูง ประการที่สอง OSR ที่ว่าต้องการควบคุมความหนาแน่นนั้น กทม.เข้าใจผิด เพราะเราสามารถทำให้ใจกลางเมืองมีคาวมหนาแน่น (High Density) แต่ไม่แออัด (Overcrowdedness) ทัศนียภาพที่สวยงามของเมืองยังสามารถสร้างได้แม้มีความหนาแน่นเช่นมหานครอื่นทั่วโลก กทม.ไม่พึงอ้างความไม่มีประสิทธิภาพในการดับเพลิงมากีดขวางความเจริญ หากเมืองยิ่งขยายตัวในแนวราบ ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหามากยิ่งขึ้น

          ประเด็นที่ 2
          ดร.โสภณ คัดค้านว่า: ร่างผังเมืองนี้ทำให้เมืองขยายออกไปในแนวราบ รุกทำลายสิ่งแวดล้อมและพื้นที่เกษตรกรรมสิ้นเปลืองงบประมาณขยายสาธารณูปโภคไม่สิ้นสุด ยังทำให้ประชาชนเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก ซึ่งเป็นการผลักภาระและปัญหาไปสู่จังหวัดอื่น เช่น 2.1 ในพื้นที่ ย.3 ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหลายร้อยตารางกิโลเมตรและมีอพาร์ตเมนต์ให้บริการผู้มีรายได้น้อยมากมาย กรุงเทพมหานครกลับห้ามสร้างอพาร์ตเมนต์ ขนาดเกิน 1,000 ตารางเมตร หากถนนผ่านหน้าที่ดินที่มีความกว้างไม่ถึง 30 เมตร ทั้งที่รู้ว่าในความเป็นจริงไม่มีซอยใดที่จะมีความกว้างเช่นนี้
          ดร.เกรียงพล ชี้แจงว่า: พื้นที่ ย.3 กำหนดให้เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างรอยต่อของเมืองชั้นกลางกับชั้นนอก พื้นที่ส่วนใหญ่ระบบสาธารณูปโภคยังไม่ทั่วถึงและอยู่นอกเขตการให้บริการของระบบขนส่งมวลชนทางราง เป็นพื้นที่อยู่อาศัยเบาบาง การก่อสร้างอาคารอยู่อาศัยรวมขนาด 1,000 ตารางเมตรสามารถสร้างได้ ส่วนขนาดที่ใหญ่กว่าก็จะมีผลต่อจำนวนผู้เข้าอยู่อาศัย ซึ่งจะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อจำนวนยวดยานพาหนะและสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น ด้วยโครงข่ายสาธารณูปโภคสาธารณูปการที่มีอยู่ในปัจจุบัน หากส่งเสริมให้มีอาคารอยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นสูงจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัยโดยรวมและก่อให้เกิดปัญหาการจราจรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง
          ดร.โสภณ วิพากษ์ว่า: เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการกลั่นแกล้งเพราะไม่มีถนนใดมีความกว้าง 30 เมตร และในปัจจุบันมีการก่อสร้างอาคาร 1,000 ตารางเมตร หรือเท่ากับห้องเช่าเพียง 30 ห้องอยู่ทั่วไป การจำกัดสิทธิเช่นนี้เท่ากับกีดกันผู้มีรายได้น้อยให้ออกไปอยู่นอกเมือง สร้างต้นทุนให้กับประชาชน

          ดร.โสภณ คัดค้านว่า: ในพื้นที่ ย.2 ห้ามสร้างทาวน์เฮาส์ ทั้งที่บริเวณเหล่านี้มีทาวน์เฮาส์สำหรับผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อยอยู่มากมาย ดังนั้นต่อไปประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางต้องระเห็จออกไปอยู่นอกเมือง โดยตามรอยตะเข็บเขตจังหวัดสมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี กลับมีโครงการใหญ่ๆ ประเภทอาคารชุดและทาวน์เฮาส์มากมาย เพราะไม่สามารถสร้างในเขตกรุงเทพมหานครได้
          ดร.เกรียงพล ชี้แจงว่า: การกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินจะพิจารณาให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรในอนาคต สัมพันธ์กับลักษณะทางกายภาพของพื้นที่และศักยภาพการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานบริเวณที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยจะไม่ส่งเสริมอาคารที่หนาแน่น ยกเว้นริมถนนขนาดใหญ่ที่อาจไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยแบบบ้านเดี่ยวจึงอนุญาตอาคารอยู่อาศัยรวมหรือทาวน์เฮาส์ และผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 ได้เพิ่มพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) เป็นจำนวนมากในเขตพื้นที่ที่มีการให้บริการระบบขนส่งมวลชนทางราง จึงเอื้อประโยชน์ต่อผู้มีรายได้น้อยในการมีที่อยู่อาศัยในระยะที่ใกล้เขตเมืองชั้นในและลดความจำเป็นในการเดินทางโดยใช้รถยนต์
          ดร.โสภณ วิพากษ์ว่า: หากพิจารณาจากความเป็นจริง มีโครงการทาวน์เฮาส์เกิดขึ้นอยู่ทั่วไปมากมายนับสิบ ๆ โครงการ แต่อยู่ดี ๆ กลับห้ามสร้าง แต่ไปสร้างอยู่นอกเมืองได้เช่นนี้ เท่ากับกีดกันผู้มีรายได้น้อยอย่างชัดเจน เพราะในเมื่อมีความต้องการซื้อบ้านในราคาถูกแต่ กทม. ไม่อนุญาตให้สร้าง ก็ต้องออกไปสร้างนอกเขต กทม. เท่ากับเป็นการปัดปัญหาออกไปนอกเมืองโดยตรง แสดงว่า กทม. ขาดความรับผิดชอบอย่างชัดเจน

          ประเด็นที่ 3
          ดร.โสภณ คัดค้านว่า: ตามร่างผังเมืองใหม่ก็ไม่ได้กำหนดให้มีแผนการป้องกันน้ำท่วมอย่างเป็นรูปธรรม เพราะไม่ได้ทำถนนและเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ระบบเปิดปิดน้ำกันน้ำทะเลหนุน และระบบคลองระบายน้ำาใหม่ๆ เป็นต้น ยิ่งกว่านั้นกรุงเทพมหานครควรดำเนินการอย่างมีบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น
          ดร.เกรียงพล ชี้แจงว่า: ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ได้เพิ่มแผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค ซึ่งได้กำหนดให้มีโครงการปรับปรุง ขยาย และขุดคลองเพื่อการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมเพื่อให้สามารถระบายน้ำจากภายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และน้ำหลากจากพื้นที่ตอนเหนือให้ไหลผ่านกรุงเทพมหานครลงสู่อ่าวไทยได้โดยสะดวก นอกจากนี้ แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภคยังได้กำหนดโครงการอุโมงค์เพื่อการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ตลอดจนโครงการโรงบำบัดน้ำเสียและโครงการโรงควบคุมคุณภาพน้ำเพื่อการดำเนินการของกรุงเทพมหานครต่อไปในอนาคต โดยในขั้นตอนการจัดทำแผนผังแสดงโครงการสาธารณูปโภคนั้นได้มีการประชุมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำข้อมูล ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ มาบูรณาการเพื่อการจัดทำแผนผังดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ส่วนในกรณีเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นโครงการที่สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ดำเนินการอยู่แล้ว
          ดร.โสภณ: สิ่งที่ กทม. ทำตามคำชี้แจงข้างต้น ไม่ได้ตอบคำถามเลย หากน้ำเหนือหลากมากอีก กทม. ก็คงถูกน้ำท่วมอีกอย่างแน่นอน ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า ผังเมือง กทม. ไม่ได้มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างแท้จริง มาตรการอุโมงค์น้ำที่ผ่านมาก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย

          ประเด็นที่ 4
          ดร.โสภณ คัดค้านว่า: ผังเมืองที่ออกมาไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในหลายประการ เช่น ถนนบางเส้นไม่จำเป็นต้องสร้าง เช่น ถนน ง.2 หนองจอก เพราะสภาพเป็นทุ่งนาแต่บางเส้นเล็กและคดเคี้ยวกลับไม่ตัดถนน เช่น ทางเข้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตบางขุนเทียน
          ดร.เกรียงพล ชี้แจงว่า: การกำหนดแนวถนนจะกำหนดให้สัมพันธ์กับประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณศูนย์ชุมชนหนองจอก ซึ่งกำหนดให้เป็นย่านพาณิชยกรรมเพื่อให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่และเป็นชุมชนชานเมือง การกำหนดแนวถนนโครงการเพื่อรองรับการพัฒนาชุมชนชานเมืองในอนาคต ส่วนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตบางขุนเทียนและบริเวณโดยรอบ อยู่ในบริเวณที่สภาพพื้นที่ยังไม่มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นเมืองเนื่องจากเป็นที่ชุ่มน้ำและน้ำกร่อยถึงเค็ม
          ดร.โสภณ วิพากษ์ว่า กรณีนี้เห็นชัดว่า กทม. วางผังชุมชนหนองจอกก่อนกาล เพราะยังมีสภาพเป็นทุ่งนา ส่วนบางขุนเทียนที่มีสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ มีนักศึกษาและบุคลากรสัญจรไปมาแต่ละวันเป็นจำนวนมาก กลับไม่มีแนวคิดที่จะตัดถนนใด ๆ เลย

          ดร.โสภณ คัดค้านว่า กำหนดการใช้พื้นที่ไม่เป็นจริง เช่น พื้นที่พาณิชยกรรม พ.1-12 ถนนนวมินทร์กลับมีสภาพจริงเป็นหมู่บ้านจัดสรร หรือพื้นที่ อ.1-4 ถนนเทียนทะเลที่กำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรมเฉพาะ 200 เมตรแรกที่ติดถนน (ฝั่งซ้าย) และตลอดแนวคลองที่ขนานกับถนน (ฝั่งขวา) แต่ในความเป็นจริง พื้นที่โดยรอบก็มีโรงงานมากมาย ผังเมืองจึงวางอย่างละเอียดรอบคอบกว่านี้
          ดร.เกรียงพล ชี้แจงว่า: การกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินหากเป็นบริเวณที่มีศักยภาพมีการให้บริการพื้นฐาน จะส่งเสริมการพัฒนาที่สอดคล้องกับสภาพการพัฒนาในปัจจุบัน หากปัจจุบันยังไม่มีการพัฒนาจะไม่ส่งเสริมการพัฒนา การวางผังเมืองเป็นการวางแผนระยะยาวและไม่มีผลย้อนหลัง การใช้ประโยชน์ที่ดินปัจจุบันจะดำเนินต่อไปได้ ทั้งหมู่บ้านจัดสรรและโรงงานอุตสาหกรรม
          ดร.โสภณ วิพากษ์ว่า: คำชี้แจงข้างต้นไม่ได้ตอบคำถามเลย  บริเวณ พ.1-12 กำหนดให้เป็นเขตพาณิชยกรรมทั้งที่เป็นเขตที่อยู่อาศัยชัดเจน ส่วนพื้นที่บางขุนเทียนมีโรงงานอยู่เต็ม แต่กลับพยายามรับรู้ด้วยการขีดเขียนพื้นที่อุตสาหกรรมเพียงเล็กน้อยขัดกับความเป็นจริงอย่างชัดเจน

          ดร.โสภณ คัดค้านว่า: ในข้อ 36 ของร่างผังเมืองฉบับนี้กำหนดว่าที่ดินติดถนนน้อยกว่า 12 เมตร หรือที่ดินลึกจากถนนเกิน 200 เมตร ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ทำให้ที่ดินเหล่านี้ต้องปล่อยรกร้างหรือทำประโยชน์ได้จำกัด และสำหรับที่ดินที่อยู่ติดถนนที่มีความกว้าง 12 เมตร 16 เมตร หรือ 30 เมตร ต้องกว้างตามนั้นโดยตลอดเส้น หากส่วนใดของถนนเส้นนี้มีผู้บุกรุกหรือสร้างล้ำเกิน แม้ทะเบียนถนนจะระบุชัดว่ากว้างตามกำหนดก็ถือว่าไม่ได้ กรณีนี้ทำให้เจ้าของที่ดินที่สุจริตหมดโอกาสพัฒนาที่ดิน
          ดร.เกรียงพล ชี้แจงว่า: เพื่อให้การใช้ประโยชน์ที่ดินสามารถกระทำได้อย่างมีนัยสัมพันธ์กับขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรของ ถนนสาธารณะที่เป็นที่ตั้งของกิจการการใช้ประโยชน์ที่ดินนั้นๆ ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๕๖ จึงได้กำหนดให้การใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าว สามารถกระทำได้ภายในระยะไม่เกิน ๒๐๐ เมตร ๓๐๐ เมตร และ๕๐๐ เมตร จากเขตทางของถนนสาธารณะที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า ๑๐ เมตร หรือ ๑๒ เมตร ๑๖ เมตร และ ๓๐ เมตรตามลำดับ ซึ่งเขตที่ดินที่ลึกเกินกว่าระยะที่กำหนดก็ยังสามารถทำประโยชน์ในกิจการอื่นๆ ได้ตามที่กฎกระทรวงกำหนดไว้  กรณีความกว้างของถนนนั้น ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ได้มีความพยายามที่จะทำให้การบังคับใช้ตามแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่งสามารถเข้าใจได้ง่ายและลดข้อขัดแย้งในขนาดความกว้างของถนนสาธารณะ จึงได้กำหนดขนาดเขตทางไว้ในรายการประกอบแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน
          ดร.โสภณ วิพากษ์ว่า: ที่ กทม. พยายามชี้แจงว่าส่วนที่เกินกว่า 200, 300 และ 500 เมตรนั้น เอาไปทำประโยชน์ได้ ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่สำคัญไม่ได้ให้หลักประกันใด ๆ เพราะถนนหลายเส้นมีเขตทางกว้างตามที่กำหนด แต่ในความเป็นจริงแคบกว่า ทำให้เสียสิทธิ เช่นกรณีโรงแรมดิเอทัส ซึ่งถูกศาลสั่งรื้อทั้งที่ กทม. เป็นผู้ให้ใบอนุญาตก่อสร้างเอง

          ประเด็นที่ 5
          ดร.โสภณ คัดค้านว่า: แผนก่อสร้างและปรับปรุงถนน 140 สายตามร่างผังเมืองรวมนั้น หลายสายก็วาดไว้ตั้งแต่ผังเมืองฉบับปัจจุบันที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2549 แต่ยังไม่ได้ก่อสร้าง บางสายวาดต่างไปจากเดิม ที่สำคัญก็คืองบประมาณก่อสร้างถนนตามที่วาดไว้ยังไม่มีการจัดหาไว้ ซึ่งแสดงถึงความไม่แน่นอน
          ดร.เกรียงพล ชี้แจงว่า: ถนนโครงการผังเมืองตามกฎกระทรวง พ.ศ. 2549 ได้ก่อสร้างไปแล้วหลายสายที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งต้องใช้เวลาและงบประมาณ โดยการวางผังเมืองเป็นแผนในระยะ 20 ปีกรุงเทพมหานครจะจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ ตามแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่งในกฎกระทรวงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 กำหนดถนนไว้จำนวน 140 สาย ส่วนใหญ่เป็นถนนเดิมขยายและจัดวางเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ปิดล้อม และกำหนดเพื่อให้เจ้าของที่ดินถอยร่นอาคารเมื่อมีการสร้างอาคารใหม่
          ดร.โสภณ วิพากษ์ว่า: ที่ว่าถนนทั้งหลายนั้นกำหนดตามแผน 20 ปี ประชาชนทั่วไปแทบไม่มีใครทราบ เพราะในแต่ละผังเมือง ก็กำหนดเขตถนนที่จะสร้าง ถ้าเป็นเช่นที่ ดร.เกรียงพล ชี้แจงจริง ควรระบุให้ชัดว่าถนนไหน เป็นแผน 5, 10, 15 หรือ 20 ปี ไม่เช่นนั้นประชาชนก็จะสับสน ควรทำให้โปร่งใส

          ประเด็นที่ 6
          ดร.โสภณ คัดค้านว่า: ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครขาดการพัฒนาสวนสาธารณะ ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่เพียง 4.65 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับมหานครทั่วโลก ที่สำคัญพื้นที่สวนสาธารณะ 26 ตารางกิโลเมตร ยังรวมสวนในหมู่บ้านเอกชน เกาะกลางถนน บึงน้ำ พื้นที่ว่างของกองทัพ ฯลฯ เข้าไปด้วย นอกจากนี้สวนสาธารณะส่วนมากจะสร้างในเขตรอบนอกซึ่งมีความจำเป็นน้อย ไม่มีการวางแผนสร้างสวนสาธารณะใจกลางเมือง ดังนั้นการกล่าวอ้างว่าผังเมืองจะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองสีเขียว (Green City) จึงไม่จริง
          ดร.เกรียงพล ชี้แจงว่า: เมืองสีเขียวตามนิยามสากลไม่ใช่เฉพาะการมีพื้นที่สวนสาธารณะ แต่หมายถึงการที่เมืองสามารถฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติ และสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งมีแหล่งกำเนิดสำคัญจากการคมนาคมขนส่ง และพลังงานที่ใช้ในอาคาร ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 ไม่เพียงแต่กำหนดให้มีข้อกำหนดพื้นที่น้ำซึมผ่านได้เพื่อปลูกต้นไม้ ยังมีแผนผังแสดงที่โล่งที่จะก่อให้เกิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวตลอดจนยังมีมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดให้มีที่ว่างเพื่อการใช้ประโยชน์สาธารณะ และการดำเนินการประสานกับหน่วยงานภาครัฐที่ครอบครองที่ดินที่อาจนำมาใช้ประโยชน์เป็นสวนสาธารณะต่อไป ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินโดยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก
          ดร.โสภณ วิพากษ์ว่า กทม. ควรระบุให้ชัดว่า การนับพื้นที่สีเขียวหมายถึงอะไร เพราะประชาชนเกิดความสับสน การนับรวมพื้นที่ของบุคคลอื่น ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า กทม. ได้สร้างสวนสาธารณะจำนวนมากทั้งที่ไม่ได้ทำจริง การให้น้ำซึมผ่านพื้นที่ของเอกชนเองดูคล้ายกับว่าระบบระบายน้ำของ กทม. ย่ำแย่จนต้องอาศัยเอกชนตามมีตามเกิด

          ประเด็นที่ 7 ร่างผังเมืองนี้พยายามเสนอข้อดีบางประการซึ่งไม่เป็นจริง เช่น
          ดร.โสภณ คัดค้านว่า จะเพิ่มการควบคุมกิจกรรมที่ขัดต่อสุขลักษณะ 5 กิจกรรม เช่น สนามแข่งม้า สนามแข่งรถ และสนามยิงปืนนั้น ในความเป็นจริงไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติอยู่แล้ว เพราะแทบไม่มีการขอนุญาต

          ดร.เกรียงพล ชี้แจงว่า: ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๕๖ ได้เพิ่มประเภทกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขลักษณะ ความปลอดภัยของประชาชน และสวัสดิภาพของสังคม ได้แก่ สนามแข่งรถ สนามแข่งม้า สนามยิงปืน สถานสงเคราะห์หรือรับเลี้ยงคนพิการ และที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงาน กิจกรรมเหล่านี้มีการดำเนินการน้อย แต่ถ้าเกิดขึ้นจะมีผลกระทบสูง จำเป็นต้องมีการควบคุมและกำหนดให้ดำเนินการได้ในพื้นที่ที่เหมาะสมกับลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
          ดร.โสภณ วิพากษ์ว่า การกำหนดนี้เห็นชัดว่าเป็นเพียงการแสดงให้เห็นว่า กทม.ได้แสดงความพยายามทำเพื่อประชาชนในพื้นที่ตามผังเมืองรวม แต่ในความเป็นจริง ก็แทบไม่ได้มีการขออนุญาตดังกล่าวอยู่แล้ว 

          ดร.โสภณ คัดค้านว่า การแจก “แจกโบนัส 5-20 เปอร์เซ็นต์” คือให้สร้างเพิ่มเติมกว่ากฎหมายปกติกำหนดในรัศมี 500 เมตรรอบสถานีรถไฟฟ้านั้น ก็ใช้ได้เฉพาะสถานีที่สร้างเสร็จแล้ว ไม่ใช่กำลังก่อสร้างอยู่ ดังนั้นจึงไม่มีผลอะไร
          ดร.เกรียงพล ชี้แจงว่า: วัตถุประสงค์ของโบนัส เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบริเวณที่มีศักยภาพจากการมีระบบขนส่งมวลชนทางราง หากสถานียังไม่เสร็จหรือไม่เกิดเลย บริเวณดังกล่าวอาจจะมีปัญหาจราจรได้จึงจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขให้ใช้เฉพาะกรณีสถานีเปิดบริการแล้ว
          ดร.โสภณ วิพากษ์ว่า สิ่งที่เป็นโบนัสนั้นไม่คุ้มกับการลงทุนจริง เช่นให้เพิ่ม 20% ในส่วนจอดรถนั้น ปกติแต่ละอาคารก็แทบไม่มีพื้นที่พอจอดรถอยู่แล้ว หากต้องสร้างให้บุคคลอื่นจอดเพิ่ม แม้จะเก็บค่าจอดได้ก็ไม่คุ้มกับการก่อสร้างอยู่ดี โบนัสเหล่านี้จึงไม่เป็นจริง

          ดร.โสภณ คัดค้านว่า การพัฒนาศูนย์เมืองย่อย เช่น ในย่านมีนบุรีที่แนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู-สีส้มมาบรรจบกันย่านถนนพระรามที่ 2 ใกล้กับถนนกาญจนาภิเษก และย่านรามอินทราใกล้จุดตัดถนนรัชดา-รามอินทรา เป็นต้น หากร่างผังเมืองนี้ได้ประกาศใช้ในปีนี้และหมดอายุในปี 2560 ก็ไม่แน่ใจว่ารถไฟฟ้าทั้งสองสายจะสร้างเสร็จ
          ดร.เกรียงพล ชี้แจงว่า: การกำหนดศูนย์ชุมชนในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ในบริเวณที่มีความสัมพันธ์กับแนวระบบขนส่งมวลชนทางรางนั้น มีความสอดคล้องกับแผนการขนส่งมวลชนทางราง ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคมและขนส่งกำหนดไว้ โดยที่การก่อสร้างขนส่งมวลชนทางรางทุกสายทางมีแผนจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2572 ซึ่งในทางปฏิบัติ บางสายทาง อาจมีการปรับเปลี่ยนระยะการดำเนินงานไปตามสถานการณ์และความจำเป็นในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 เป็นการคาดการณ์และวางแผนรองรับการเจริญเติบโตของเมืองในระยะ 20 ปี ถึงปี พ.ศ. 2575 และสามารถปรับปรุงผังได้ในระยะ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ดังนั้น ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 จึงยังสอดคล้องกับแผนการขนส่งมวลชนทางรางอย่างแน่นอน

          ดร.โสภณ วิพากษ์ว่า การวางผังเมืองโดยที่ กทม. คิดเอง แต่ไม่ได้สอดรับกับแผนจริงๆ นั้น ทำให้ประชาชนสับสน แผนต่าง ๆ ไม่เป็นจริง ผังเมืองควรเป็นแผนแม่บทของทุกหน่วยงานร่วมกันกำหนดว่าในระยะ 5 หรือ 10 ปีข้างหน้าจะดำเนินการอะไรร่วมกันบ้าง เพื่อให้ทุกอย่างสอดรับกัน การเสียงบประมาณการจัดทำผังเมืองมากมายแต่ขาดการประสานงานก็เท่ากับเป็นแค่ แพลน และนิ่ง ไม่ใช่ Planning ที่แท้จริง

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved