AREA แถลง ฉบับที่ 124/2556: 12 กันยายน 2556
การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม สไตล์ ดร.โสภณ พรโชคชัย
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
ดร.โสภณ มีแนวทางการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมที่น่าสนใจ ที่ไม่ใช่ไป “ไถ” เงินคนอื่นมาทำดี หรือไม่ได้ใช้อภิสิทธิ์จากเครือข่ายใดมาทำดี ลองพิจารณาเป็นกรณีศึกษาในที่นี้
การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมหรือการช่วยเหลือสังคม (Social Contribution) เป็นปางหนึ่งของความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ซึ่งยังประกอบด้วยอีกสองปางคือการปฏิบัติตามครรลองของกฎหมาย (Hard Laws) โดยเคร่งครัด และการมีมาตรฐานจรรยาบรรณ (Soft Laws) ในกรณีการบำเพ็ญประโยชน์สไตล์หนึ่ง ดร.โสภณ พรโชคชัย คือการก่อตั้งมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย
ดร.โสภณ ก่อตั้งมูลนิธินี้ตั้งแต่ พ.ศ.2544 เพื่อมุ่งหวังบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ให้ความรู้แก่ประชาชนด้วยคติที่ว่า Knowledge Is Not Private Property หรือ ความรู้ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของใคร ควรได้รับการแบ่งปัน จนบัดนี้มูลนิธิถือเป็นองค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมมากที่สุด มูลนิธิไม่ได้แข่งขันกับสมาคมวิชาชีพที่ ดร.โสภณ ก็เคยเป็นกรรมการและร่วมก่อตั้ง แต่ยังช่วยสนับสนุนสมาคมอยู่เนือง ๆ
การก่อตั้งมูลนิธินี้ ดร.โสภณ ใช้เงินสดส่วนตัว 200,000 บาทเพื่อบริจาคตามกฎหมาย และขณะนี้มีเงินทุนเพื่อการบำเพ็ญประโยชน์ประมาณ 2 ล้านบาทแล้ว เงินจำนวนนี้ ดร.โสภณ ไม่ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปเที่ยว “ไถ” ลูกน้องหรือคหบดีในนามการกุศลแต่อย่างใด แต่ได้มาจากการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ เป็นสำคัญ
สิ่งที่มูลนิธิดำเนินการจนถือเป็นองค์กรที่มีความคึกคักที่สุด เช่น
1. การจัดเสวนาวิชาการรายเดือนติดต่อกันทุกเดือนมา 134 ครั้ง (นับถึงเดือนกันยายน 2556) โดยสมาชิกเข้าร่วมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทุกคนในสังคมสามารถ Download เอกสารประกอบย้อนหลังได้ทุกครั้งโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการศึกษาต่อเนื่อง (Continuing Professional Development หรือ CPD Program) สำหรับนักวิชาชีพได้อีกด้วย
2. การจัดพิมพ์วารสารราย 2 เดือนติดต่อกันมา 12 ปีติดต่อกัน โดยมียอดพิมพ์ครั้งละ 5,000 เล่ม แจกจ่ายไปตามหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศโดยไม่คิดมูลค่า ทุกคนในสังคมสามารถ Download วารสารสี่สีรูปสวยงามได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ฉบับพิมพ์จริงพิมพ์เพียงสีเดียวเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
3. การจัดประกวดเรียงความ ครั้งล่าสุดเป็นครั้งที่ 5 (2556) ชิงโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง “อย่าซื้อที่ดิน สปก.4-01 ภบท.5 ผิดกฎหมายและทำลายป่า” การจัดประกวดเรียงความแต่ละครั้งใช้จ่ายเงินประมาณ 400,000 บาท เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาต่าง ๆ
4. การจัดดูงานอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศเพื่อเปิดวิสัยทัศน์สากล โดย ดร.โสภณ ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาขององค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และอื่น ๆ และเป็นกรรมการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ระดับนานาชาติ จึงคุ้นเคยกับหน่วยงานทั่วโลก สามารถติดต่อดูงานทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกาและออสเตรเลีย ทำให้ผู้ไปดูงานได้ประโยชน์อย่างลึกซึ้ง ทั้งนี้รายได้จากการนี้ ดร.โสภณ ยกให้กับมูลนิธิทั้งหมด โดยตัวเองเป็นผู้ร่วมออกเงิน-แรงด้วย
มูลนิธิคิดค่าสมาชิกเพียงปีละ 1,000 บาท โดยสมาชิกจะได้รับหนังสือมูลค่า 300 บาท กระเป๋ามูลค่า 200 บาท เสวนาวิชาการรายเดือนฟรีตลอด 12 เดือน วารสารทุก 2 เดือน รวมทั้งส่วนลดในกิจกรรมอื่น ๆ ดังนั้นมูลนิธิจึงไม่ได้หวังหารายได้จากสมาชิก แต่เพียงให้สมาชิกมีส่วนร่วมสนับสนุนมูลนิธิบ้างเท่านั้น
ทำไม ดร.โสภณ จึงสามารถสร้างเงินทุนให้มูลนิธิได้ถึง 2 ล้านบาท เงินเหล่านี้มาจากการบริจาคด้วย แต่ส่วนสำคัญมาจาก ดร.โสภณ เช่นในกรณีการเสวนาวิชาการทุกเดือน ซึ่งส่วนมากจัด ณ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส นั้น ค่าอาหาร เครื่องดื่ม ค่าประสานงาน และสถานที่ ดร.โสภณ เป็นผู้จ่าย แต่เงินบริจาคทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย ยกให้มูลนิธิ
และด้วยมูลนิธิบำเพ็ญประโยชน์อยู่เนือง ๆ จึงมีผู้สนับสนุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บุคคลที่มีชื่อเสียงและสมาชิกที่สนใจจึงเมตตามาร่วมเป็นคณะกรรมการมูลนิธิ แม้แต่ตำแหน่งประธานกรรมการ ดร.โสภณ ก็เชิญศาสตราภิชานกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล เป็นประธานแทน และตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกรรมการก็จะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนทุก 1-2 ปี มูลนิธิไม่ได้รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากกรรมการ และกรรมการก็อาสามาช่วยงานโดยไม่ได้มาแสวงหาประโยชน์ใด การบำเพ็ญประโยชน์ด้วยการตั้งมูลนิธินี้ ดร.โสภณ ตั้งใจให้เห็นว่า ขนาดคน ๆ เดียวยังทำงานเพื่อสังคมได้มากมาย หากทุกคนในวงการร่วมกันดำเนินการ ก็คงสร้างประโยชน์ได้เป็นอเนกอนันต์ การทำดีแบบนี้ก็ส่งผลดีต่อธุรกิจบริการวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินและวิจัยอสังหาริมทรัพย์ในทางอ้อมด้วยความศรัทธาในการทำดีของ ดร.โสภณ เป็นสำคัญ
การทำดีแบบนี้ ทำด้วยความบริสุทธิ์ เงินทุนไม่ได้เปื้อนสิ่งใดมา ไม่สงวนสิทธิ์การลอกเลียนแบบ และหวังให้มีการทำดีที่ดีกว่านี้อีกเพื่อสังคมที่ดียิ่งขึ้น
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน
|