เศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก โดยอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวแปรตามภาวะเศรษฐกิจอยู่เสมอ ในช่วงที่ผ่านมา ดัชนีที่อยู่อาศัยของสหรัฐอเมริกาตกต่ำลงอย่างมาก
ภาพรวมการก่อสร้างบ้าน
ภาพรวมแห่งการตกต่ำเป็นเช่นนี้:
1. บ้านที่ได้ใบอนุญาตก่อสร้างในสหรัฐอเมริกาในปี 2552 นี้คาดว่าจะมีเพียง 563,000 หน่วย ซึ่งต่ำกว่าปี 2551 ซึ่งมี 905,400 หน่วย ถึง 38% และยิ่งเทียบกับปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่มีการขออนุญาตมากที่สุด ซึ่งมี 2,155,300 หน่วย ปรากฏว่าจำนวนในปี 2552 ลดลงไปถึง 74%
2. บ้านที่ได้เริ่มก่อสร้างในสหรัฐอเมริกาในปี 2552 นี้คาดว่าจะมีเพียง 582,000 หน่วย ซึ่งต่ำกว่าปี 2551 ซึ่งมี 905,500 หน่วย ถึง 36% และยิ่งเทียบกับปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่มีจำนวนหน่วยเริ่มก่อสร้างมากที่สุด ซึ่งมี 2,068,300 หน่วย ปรากฏว่าจำนวนในปี 2552 ลดลงไปถึง 72%
3. บ้านที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จในสหรัฐอเมริกาในปี 2552 นี้คาดว่าจะมี 818,000 หน่วย ซึ่งต่ำกว่าปี 2551 ซึ่งมี 1,119.7 หน่วย ถึง 27% และยิ่งเทียบกับปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่มีจำนวนหน่วยที่สร้างเสร็จมากที่สุด ซึ่งมี 1,931,400 หน่วย ปรากฏว่าจำนวนในปี 2552 ลดลงไปถึง 58%
จะสังเกตได้ว่า จำนวนหน่วยสร้างเสร็จมีมากกว่าจำนวนหน่วยที่ขอนุญาต แสดงว่าเป็นการสร้างเกิน (Over Built) ซึ่งมักเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติของตลาดที่อยู่อาศัย ตัวเลขที่เป็นเครื่องชี้สำคัญที่สะท้อนภาวะปัจจุบันที่แท้จึงเป็นตัวเลขบ้านที่เริ่มก่อสร้างจริงหรืออาจใช้ตัวเลขที่ขออนุญาตก่อสร้างก็ได้ เพราะในสหรัฐอเมริกายังไม่มีการรวบรวมตัวเลขในภาคสนามถึงจำนวนโครงการที่เปิดตัวเช่นที่ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ดำเนินการไว้ในประเทศไทย
ภูมิภาคที่มีปัญหา
ภูมิภาคที่มีปัญหาได้แก่ภาคตะวันตกของประเทศ อันประกอบด้วยมลรัฐวอชิงตัน แคลิฟอร์เนีย และอื่น ๆ ในภูมิภาคตะวันตกนี้ ถ้าเทียบจำนวนที่ได้รับอนุญาตปรากฏว่าหดตัวลงไปถึง 80% หากเทียบตัวเลขการขออนุญาตในปี 2548 และ 2552 แสดงว่าขณะนี้ตลาดกำลังวาย ตัวเลขบ้านที่เริ่มก่อสร้างก็หดตัวลงถึง 77% ในห้วงเวลาเดียวกัน แสดงว่า ภาวะตลาดหดตัวรุนแรงมาก อย่างไรก็ตามในกรณีการก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ ซึ่งหดตัวลงเช่นกัน แต่หดตัวลงในอัตราต่ำกว่า คือหดตัวลง 63% สำหรับตัวเลขบ้านที่สร้างเสร็จในปี 2548 เทียบกับปี 2552
ในทางตรงกันข้าม อาจกล่าวได้ว่าภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา มีการหดตัวในสัดส่วนที่น้อยกว่าอย่างชัดเจน ทั้งนี้คงเป็นเพราะในภูมิภาคดังกล่าว มีการพัฒนาที่ดำเนินการมายาวนานกว่า การพัฒนาอสังหาริมทรัพย้ใหม่ ๆ จึงเกิดน้อยกว่า ตลาดไม่มีความแปรปรวนเท่ากับในภูมิภาคอื่นที่มีการเติบโตในภายหลัง
การวิเคราะห์เปรียบเทียบ
เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในปี 2551 มีการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 1.3% และการเติบโตในปี 2549 และ 2550 เป็น 2.8 และ 2% ตามลำดับ ส่วนกรณีของไทย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงปี 2549-2551 เป็น 5.2%, 4.9% และ 3.6% ตามลำดับ (ข้อมูลจาก CIA.gov) สำหรับในปี 2552 สหรัฐอเมริกา คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบถึง 5.56% (forecasts.org) ส่วนของไทยคาดว่าจะเป็นประมาณติดลบ 3% (fpo.go.th) ซึ่งย่ำแย่พอ ๆ กับสหรัฐอเมริกา
หากเศรษฐกิจไทยมีการเติบโตแบบติดลบหรือหดตัวลงเช่นนี้ อาจส่งผลกระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัยอย่างรุนแรง และอาจส่งผลกระทบต่อราคาที่อยู่อาศัย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า หากเศรษฐกิจไทยติดลบ 2-3 ปี อาจทำให้ราคาที่อยู่อาศัยตกต่ำได้ อย่างไรก็ตามหวังว่าภาวะเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้น และรัฐบาลจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นในเร็ววัน