อ่าน 3,219 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 129/2556: 23 กันยายน 2556
3 เคล็ดวิชาผังเมืองที่ลืมเรียนมาจากต่างประเทศ

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

           นักผังเมืองไทยไปศึกษาจากต่างประเทศมามากมายทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่มี 3 สิ่งที่ลืมเรียนมา และหรือเรียนมาแบบผิด ๆ และกลับทำให้นครต่าง ๆ ของไทยเติบโตแบบไร้ทิศผิดทาง อยากรู้ไหม พวกนักผังเมืองไทย ลืมเรียนอะไรมาจากต่างประเทศ
           กรุงเทพมหานครแลดูประหนึ่งเติบโตแบบไร้ทิศผิดทางแม้จะมีความพยายามในการวางผังเมืองมาตั้งแต่ พ.ศ.2535 หรือเมื่อเพียง 21 ปีมานี้ นับแต่การตั้งกรุงเทพมหานครมา 231 ปี และมีกฎหมายผังเมืองฉบับแรกมา 61 ปีแล้ว ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ สาเหตุสำคัญก็คงเป็นเพราะการผังเมืองไทยถูกผู้มีอำนาจละเลย เพราะกลัวที่ดินที่ตนเองมีอยู่มหาศาลจะเสียประโยชน์ จึงไม่มีผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครมาเป็นเวลา 40 ปีหลังจากมี พรบ.ผังเมืองฉบับแรก และแม้ขณะนี้ก็ยังไม่มีผังเมืองเฉพาะเลย
           ยิ่งกว่านั้นองค์ความรู้สำคัญบางประการ นักผังเมืองไทยกลับไม่ได้ไปศึกษามาจากต่างประเทศ องค์ความรู้เหล่านี้ได้แก่
           1. แนวกันชนสีเขียว หรือ Green Belt ซึ่งมีไว้สำหรับการจำกัดการขยายตัวของมหานคร เช่น มหานครลอนดอน ก็มีกฎหมาย Green Belt มาตั้งแต่ พ.ศ.2481 ในเขตกรุงเทพมหานครของเราก็พยายามทำแบบลอนดอนเหมือนกัน โดยกำหนดให้พื้นที่แถวตลิ่งชัน และแถนมีนบุรีต่อเนื่องกับลาดกระบัง ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียวทะแยงในผังเมือง) แต่ของไทยเป็น Green Belt แบบลุ่ม ๆ ดอน ๆ ก็คือ ยังมีคน "ทะลึ่ง" ไปสร้างตึกแถวทั้งที่ผังเมืองห้ามไว้ โดยสร้างเป็นแบบ "บ้านเดี่ยว" ที่หน้าตาคล้ายตึกแถว โดยให้แต่ละหลังห่างกันแค่คืบเดียวเป็นต้น
           สิ่งที่นักผังเมืองไทยเรียนมาไม่ครบจากอังกฤษหรือประเทศตะวันตกก็คือ การทำแนวกันชนสีเขียวนี้ รัฐบาลต้องออกเงินไปซื้อที่ดินของเอกชนมาทำ ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ไปจำกัดสิทธิของชาวบ้าน ห้ามเขาสร้างโน่นสร้างนี่ตามลักษณะการใช้อำนาจบาตรใหญ่แบบระบบเจ้าขุนมูลนายแบบไทย ๆ ก็เพราะเราแค่ออกกฎหมายมาสั่งห้ามโน่นนี่ จำกัดหรือรอนสิทธิของประชาชน ก็เลยมีการฝ่าฝืน และด้วยระบบการทุจริตและประพฤติมิชอบที่ฝังรากลึก ก็เลิยเกิดการ "เอาหูไปนา เอาตาไปไร่" Green Belt ของไทยจึงเป็นเพียงสิ่งกำมะลอไป


ที่มา: www.telegraph.co.uk/earth/greenpolitics/planning/9708387/Interactive-map-Englands-green-belt.html

           2. การอนุญาตให้สร้างอาคารแบบหนาแน่นใจกลางเมือง ถ้าเราไปที่ยุโรปหรือแม้แต่มหานครต่าง ๆ ในญี่ปุ่น จีน หรือเกาหลี จะเห็นได้ว่า อาคารในเขตใจกลางเมืองจะไม่มีช่องว่าง หรือถ้ามีก็จะมีไม่มากนัก ทำให้ในเขตใจกลางมหานครมีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเข้มข้น เช่น ในนครนิวยอร์กมีประชากร 11,000 คนต่อตารางกิโลเมตร การนี้ทำให้เมืองไม่ขยายออกไปสู่นอกเมือง ทำให้เมืองเติบโตอย่างเป็นระบบ
           แต่สำหรับกรณีประเทศไทย เรากลับนำแนวคิดการร่นระยะของอาคารมาใช้ในเขตใจกลางเมือง ทั้งร่นหน้า ร่นหลัง ร่นข้างซ้าย ข้างขวา ซึ่งควรจะใช้เฉพาะในเขตที่อยู่อาศัยนอกเมืองเพื่อให้แลดูโปร่งโล่งสบาย ๆ นี่เป็นสิ่งอันตรายที่ทำลายพื้นที่ธุรกิจใจกลางเมือง ไม่ว่าจะเป็นบางลำพู เยาวราช สำเพ็ง ฯลฯ เพราะเมื่ออาคารเสื่อมโทรมลง เราจะไม่สามารถสร้างชิดติดกับแบบเดิม บางคนยังอ้างว่า เราไม่ควรให้สร้างชิดติดกันแบบตะวันตกนั้น เพราะบ้านเราเป็นประเทศร้อนมีเชื้อรามาก ซึ่งไม่เป็นความจริงเพราะเราก็อยู่แบบชิดติดกันมาสองร้อยปีแล้วในย่านเยาวราช เป็นต้น
           ยิ่งกว่านั้นในเขตใจกลางเมือง แม้มีการจำกัดความสูง เช่น ไม่เกิน 37 เมตรในกรุงปารีส หรือนครเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก ก็ห้ามสูงเกินพระราชวังฤดูร้อน แต่ปรากฏว่า เขาให้สร้างแทบเต็มพื้นที่ ไม่มีการร่นระยะหน้าหลังซ้ายขวาแบบบ้านเราเช่นกัน ในส่วนกลางของอาคาร ก็ทำเป็นลานว่าง (Courtyard) ซึ่งมีขนาดไม่เกิน 1/6 ของพื้นที่ดินโดยรวม แต่ตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับล่าสุด การพัฒนาที่ดินใจกลางเมืองนอกจากต้องร่นกันไม่หวาดไม่ไหวแล้ว ยังต้องมีพื้นที่โล่งถึงประมาณหนึ่งในสามของที่ดิน ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองพื้นที่เป็นอย่างมาก


ตัวอย่างการก่อสร้างอาคารใหม่ในเขตใจกลางเมืองเก่าของกรุงบูดาเปสที่ติดติดกับอาคารข้างเคียง

           3. การสร้างเมืองใหม่ข้างเมืองเก่า แม้ในใจกลางเมืองของประเทศตะวันตกจะมุ่งอนุรักษ์อาคารที่เป็นสถาปัตยกรรมสวยงามดั้งเดิมเพราะแต่ละอาคารก่อสร้างมาประมาณ 100-300 ปีมาแล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่ของไทยไม่มีอาคารเก่าแก่ที่พึงอนุรักษ์เช่นนั้น แต่เขาก็พยายามที่จะให้มีเมืองใหม่ ที่อนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารสมัยใหม่ที่สวยสดงดงาม ที่สำคัญสร้างกันสูง ๆ ได้โดยแทบจะไม่จำกัด และถือเป็นการสร้างประสิทธิภาพสูงสุดให้กับเมือง ปรากฏการณ์นี้พบได้ในแทบทุกเมืองใหญ่เช่น ปารีส เวียนนาและอื่น ๆ
           แต่ของไทยเราไม่มี เรากลับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารสำนักงานกันแบบกระจัดกระจาย เราจะสังเกตได้ว่ามีอาคารสำนักงานกันทั้งแถวบางกะปิ คลองประปา แจ้งวัฒนะ บางนา พระรามสอง ฯลฯ หากอาคารเหล่านี้ได้ถูกนำมารวมกันในพื้นที่หนึ่ง ๆ ที่เชื่อมต่อกันด้วยระบบรถไฟฟ้า ก็จะทำให้เมืองมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบระเบียบ อาคารเชิงพาณิชย์เหล่านี้มารวมกัน ก็จะเกิดพลังร่วม ทำให้ค่าเช่าแพงกว่าที่จะต่างคนต่างอยู่เช่นปัจจุบันนั่นเอง


ศูนย์ธุรกิจใหม่ใจกลางกรุงปารีสที่มองเห็นประตูชัยชัดเจน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างได้สูง ๆ

          สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่นักผังเมืองไทยเรียนมาไม่ครบ เรียนมาไม่จบ เรียนมาไม่สมบูรณ์จากต่างประเทศ จึงมาปรับใช้อย่างผิด ๆ ถูก ๆ ทำให้บ้านเมืองไทยพัฒนาไปอย่างไร้ทิศผิดทางเช่นทุกวันนี้


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved