การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนในซินเจียงเป็นแบบอย่างที่ดีในการนำมาพัฒนาในสามจังหวัดชายแดนใต้ ก่อนที่ด้ามขวานทองจะหักหรือบิ่นไป!
เรามักจะได้ยินข่าวคราวในเชิงลบเกี่ยวกับการจัดการปัญหามุสลิมในซินเจียงหรือเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ว่ารัฐบาลจีนโดยเฉพาะในยุคสีจิ้นผิง ทารุณโหดร้ายกับชาวมุสลิมที่นั่นเป็นอย่างมาก เรื่องแบบนี้เราก็ต้อง “ฟังหูไว้หู” แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ถ้ารัฐบาลจีนไม่ได้มีมาตรการใดๆ ป่านนี้ซินเจียง มองโกเลียใน ทิเบตซึ่งมีพื้นที่รวม 4 ล้านตารางกิโลเมตรก็คงหลุดไปจากจีน และประเทศจีนก็คงเหลือพื้นที่เพียง 58% ของพื้นที่ 9.6 ล้านตารางกิโลเมตรในปัจจุบัน รัฐบาลจีนทำสิ่งที่เป็นคุณ (ในแง่บวก) ในการพัฒนาพื้นที่นี้อย่างไร และจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับไทยได้อย่างไรบ้าง
ก่อนอื่นหันมาดูกรณีประเทศไทยบ้าง ไทยมีปัญหาชนชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่พื้นที่ๆ มีชาวมุสลิมอยู่กันมาก และมีปัญหาความไม่สงบอาจรวมไปถึงราว 5 จังหวัดคือ นราธิวาส ปัตตานี สตูล ยะลาและสงขลา รวมประชากรถึง 3,777,260 คน หรือราว 5.4% ของประชากรไทยที่ 70,008,190 คนในปัจจุบัน และรวมพื้นที่ใน 5 จังหวัดนี้มีขนาด 20,810 ตารางกิโลเมตร หรือราว 4.1% ของพื้นที่ประเทศไทย ในจำนวนประชากร 3,777,260 คนในปัจจุบันใน 5 จังหวัดนี้ เป็นชาวมุสลิมถึง 64.1%หรือเป็นส่วนใหญ่นั่นเอง
หากไม่มีการแก้ไขปัญหาภาคใต้ตอนล่างนี้ อาจทำให้ทั้ง 5 จังหวัดนี้ และอีกหลายอำเภอในจังหวัดอื่นในภาคใต้ หลุดไปจากประเทศไทย ประชากรไทยก็อาจเหลือ 66,230,930 คน หรือหายไป 5.4% ส่วนขนาดประเทศไทย ก็คงลดลงไปเหลือ 492,310 ตารางกิโลเมตร หรือ หายไป 4.1% ทำให้ประชากรมุสลิมจากที่มีอยู่ในสัดส่วน 5.4% ของประชากรทั้งประเทศ เหลือเพียง 2.1% เท่านั้น
การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สำคัญในซินเจียงก็คือการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โดยมีทั้งนิคมอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมดิจิทัล และอื่นๆ โดยถือเป็นการสร้างงานให้กับประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากเกษตรกรรมต้นทาง เช่น การปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียนและอื่นๆ อาจมีอุปสรรคต่างๆ มากมาย การพัฒนาอุตสาหกรรมยังคงทำให้มีความต้องการแรงงานเพิ่มเติม ทำให้มีประชากรจากภูมิภาคอื่นเข้าไปอยู่ในพื้นที่มากขึ้น อย่างไรก็ตามในกรณีจีนมักถูกประเทศตะวันตกโจมตีเรื่องการกลืนชาติชาวอุยกูร์ แต่ในกรณีภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย เราคงไม่มีนโยบายการบีบคั้นต่างๆ นานา
การสร้างสาธารณูปโภคก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ควรดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นท่าเทียบเรือ ซึ่งอาจรวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ สนามบิน ทางด่วน การอัดฉีดการลงทุนโดยทุนจากส่วนอื่นของประเทศ หรือแม้แต่จากนักลงทุนในพื้นที่หรือในมาเลเซีย ก็จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นการส่งเสริมการมีงานทำของประชาชน
การสร้างเมืองก็เป็นส่วนสำคัญ โดยอาจสร้างเมืองใหม่ เมืองชี้นำการพัฒนาในพื้นที่ว่าง มีการวางผังเมืองที่ชัดเจน มีการแบ่งโซนให้นักพัฒนาที่ดินซื้อที่ดินไปพัฒนาต่อให้เป็นศูนย์การค้า บ้านจัดสรร อาคารชุด ตลอดจนสถานศึกษาและส่วนราชการท้องถิ่น เป็นต้น การสร้างเมืองใหม่นอกจากจะเป็นการสร้างงานแล้ว ยังไม่เป็นการรุกรานทางวัฒนธรรมและพื้นที่ของเมืองเดิมของชาวมุสลิม เป็นการลดทอนความตึงเครียดทางหนึ่ง
การท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ทำให้คนในพื้นที่มีความภาคภูมิใจในทรัพยากรทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมของตนเอง การพัฒนาโรงแรม รีสอร์ต โฮมสเตย์ ตลอดจนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งแม้ใน 3 จังหวัดนี้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวในระดับ “เมืองรอง” แต่หากได้รับการส่งเสริม ก็จะทำให้มีรายได้เข้าจังหวัดเป็นอย่างมาก เป็นการเพิ่มโอกาสแก่คนในท้องถิ่นและผู้ที่มาทำงานในพื้นที่
การพัฒนาการศึกษาก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยอาจส่งเสริมการจัดสร้างโรงเรียนนานาชาติให้แก่บุตรหลานของนักธุรกิจที่ไปลงทุนในพื้นที่ การทำให้ภาคใต้ตอนล่างเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาโดยเป็นแหล่งวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยชื่อดังระดับประเทศ หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำในมาเลเซีย ก็จะทำให้เยาวชนในพื้นที่มีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น และดึงดูดเยาวชนในพื้นที่อื่นเข้ามาศึกษาในจังหวัดเหล่านี้มากขึ้น พื้นที่นี้ก็จะไม่ใช่พื้นที่ปิดอีกต่อไป
ในด้านความมั่นคง โดยที่มีปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอด รัฐบาลควรให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเมืองการทหาร คล้ายเมืองลพบุรี เมืองตาคลี เมืองกาญจนบุรี ที่มีหน่วยทหารตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก การให้กองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือไปประจำการอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจำนวนมาก จะช่วยให้เกิดความมั่นคงมากขึ้น และโดยที่มีข้าราชการไปอยู่เป็นจำนวนมาก ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย
ในปัจจุบันกองทัพไทยมียอดกำลังพลประจำการอยู่ 305,860 นาย หากให้หนึ่งในสาม (ราว 100,000 นาย ไปอยู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และหากประมาณการว่าทหารแต่ละนายมีรายได้เดือนละ 25,000 บาท) ก็เท่ากับว่าเดือนๆ หนึ่งมีเงินเดือนหมุนเวียนถึง 2,500 ล้านบาทในพื้นที่ ความเจริญของพื้นที่ก็จะมี ความไม่สงบก็จะค่อยๆ หมดไป ยิ่งถ้าให้นายทหารระดับนายพลไปอยู่ในพื้นที่สักครึ่งหนึ่ง ก็ยิ่งจะทำให้พื้นที่นี้มีความมั่นคง ยังความมั่นใจแก่ประชาชนและนักลงทุนมากขึ้นอีกด้วย
ยิ่งกว่านั้น ยังอาจเพิ่มจำนวนเรือนจำในภาคใต้มากขึ้น เพราะในช่วงต้นๆ อาจยังมีผู้ก่อความไม่สงบ ก่อคดีอาชญากรรมขึ้นมาได้ จะได้ให้นักโทษอาญาเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ได้อย่างไม่แออัดจนเกินไป และไม่เป็นการออกไปรบกวนสังคมทั่วไป อย่างในกรณีประเทศในยุโรป เช่น เบลเยียม ภายในเรือนจำจะมีผู้ที่ทำผิดกฎหมายซึ่งมีเป็นจำนวนมากที่เป็นวัยรุ่นมุสลิม การดูแลผู้ก่อคดีอาญาในเรือนจำจะดีกว่าการปล่อยให้ออกมาก่ออาชญากรรมซ้ำซาก และยังทำให้เรือนจำเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้มีงานทำมากขึ้น ในอนาคตไทยอาจทดลองระบบเรือนจำเอกชน โดยมีการให้สัมปทานเพื่อรัฐบาลจะได้ไม่ต้องลงทุนเองเช่นในอารยประเทศก็เป็นได้
การดำเนินการข้างต้นนี้ ไทยเราจึงสามารถศึกษาแบบอย่างจีนและประเทศอื่นในการพัฒนาเมือง พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อความมั่นคงทางการเมือง และเพื่อความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนในพื้นที่ได้อีกมาก ส่วนในด้านลบ เช่น ที่มีข่าวการบังคับ การจับกุมที่ไม่มีความผิด การกลั่นแกล้งคนในท้องถิ่น (ซึ่งอาจเป็นการให้ร้ายจากโลกตะวันตกต่อจีนก็ได้ หรืออาจเป็นจริงก็ได้) เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ถือเป็นบทเรียนที่ควรหลีกเลี่ยง
ไทยและภาคใต้จะได้เจริญไปด้วยกันด้วยการ “เอาเยี่ยงกา แต่ไม่ใช่เอาอย่างกา””