อ่าน 3,971 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 135/2556: 6 ตุลาคม 2556
โพนทะนาผิดๆ ว่าต่างประเทศทุบทิ้งเขื่อน

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          พวกนักต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์และเขื่อนใด ๆ ก็ตามในประเทศไทย อ้างอิงบทความ {1} มาสำทับว่าสหรัฐอเมริกา (ที่เจริญกว่าไทย) รื้อเขื่อน แต่ไทย (ที่รู้น้อย) กลับยังจะสร้างเขื่อน นี่เป็นการบิดเบือนความจริงอย่างสิ้นเชิง เพียงเพื่อต่อต้านการสร้างเขื่อนแบบผิดๆ
          ในบทความดังกล่าว ระบุว่าสหรัฐอเมริกา มีเขื่อนถึง 70,000 แห่ง แต่ได้ระบุชื่อเขื่อนที่จะรื้อ 2 แห่ง แต่ในความเป็นจริงอาจมีมากกว่านี้ แต่คงเป็นเขื่อนเล็ก ๆ หรือฝาย สำหรับกรณีการรื้อเขื่อนใหญ่ เช่น เขื่อน Condit {2} ก็เป็นเพราะเขื่อนดังกล่าว ก่อสร้างมาราว 100 ปีแล้ว ใช้ผลิตไฟฟ้าจนแสนคุ้มแล้ว มีปัญหารั่วและอาจก่อให้เกิดอันตรายได้หากปล่อยทิ้งไว้ ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงค่าดูแล อาจไม่คุ้มกับค่าผลิตไฟฟ้า ดังนั้นจึงมีการรื้อเขื่อนทิ้ง
          สำหรับที่บอกว่ายังจะมีการรื้อเขื่อนอีกมากมายนั้น คงเป็นเขื่อนขนาดเล็ก ๆ หรือฝายทดน้ำ แต่ก็ยังมีเขื่อนใหญ่ที่ล้าสมัยแล้วอยู่เช่นกัน กรณีเช่นนี้ถือเป็นการยกเอาข้อยกเว้นที่นำมาถือเป็นสรณะไม่ได้ และการยกเอาตัวอย่งในประเทศหนึ่งมาเทียบกับอีกประเทศหนึ่งอย่างไม่จำแนกแยกแยะถึงที่มาที่ไป ก็เท่ากับการบิดเบือนความจริงอย่างขาดจริยธรรมเป็นอย่างยิ่ง


ภาพที่ 1: พวกฝายเล็ก ๆ ก็เอามาอ้างว่ามีการรื้อเขื่อน (ใหญ่ๆ) เพื่อสร้างกระแสว่าเดี๋ยวนี้เขาไม่เอาเขื่อนแล้ว: http://newswatch.nationalgeographic.com/2013/03/14/65-dams-removed-to-restore-rivers-in-2012/

          นอกจากนี้ในภูมิภาคนี้ ก็มีข่าว "เวียดนามล้มเขื่อนกว่า 300 แห่ง พบทำลายป่ากระทบสิ่งแวดล้อมสาหัส"{3} ซึ่งฟังดูประหนึ่งว่าการสร้างเขื่อนเป็นสิ่งเลวร้าย แต่ในความเป็นจริง นี่อาจเป็นหนึ่งในข่าวลวง เพราะเวียดนามมีเขื่อนอยู่ไม่กี่เขื่อน และยังกำลังวางแผนเปิดเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าอีก 12 แห่ง {4} การสร้างข่าวเพื่อการเอาชนะกัน เพื่อการบิดเบือนห้ามสร้างเขื่อนนี้เป็นภัยอย่างยิ่ง

          ในกรณีการเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกานั้น เขายังใช้ถ่านหิน แก๊สและน้ำมันผลิตไฟฟ้า 76% ของไทย 89% เขาใช้เขื่อนน้ำผลิตไฟฟ้า 8% ไทยใช้ 11% และใช้พลังงานสายลม-แสงแดดอีก 5% แต่ของไทย 0.2% เท่านั้น ยิ่งกว่านั้นเขาใช้ไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ถึง 10% ของไทยไม่มี


ภาพที่ 2: ที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในสหรัฐอเมริกา
ที่มา: http://nuclearinfo.net/Nuclearpower/CurrentReactors

          ต้องเปรียบเทียบให้ชัดว่า สหรัฐอเมริกามีขนาดใหญ่กว่าไทย 18 เท่า มีความหนาแน่นของประชากรเพียง 34 คนต่อตารางกิโลเมตร ในขณะที่ไทยสูงถึง 131 คน แล้วไทยจะผลิตไฟฟ้าจากสายลม-แสงแดดได้พอใช้ได้อย่างไร ยิ่งกว่านั้น สหรัฐอเมริกา ผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ถึง 10% แต่ไทยไม่กล้าผลิต เวียดนามก็กำลังจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ของไทยทำไม่ได้


ภาพที่ 3: แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศเวียดนาม
ที่มา: www.world-nuclear.org/info/Country-Profiles/Countries-T-Z/Vietnam/#.UlHnz6I5Oic

          ประเทศไทยกำลังถดถอย เพราะประเทศอื่นกำลังพัฒนา เช่นเวียดนาม มีการวางแผนไว้ถึงระยะ พ.ศ.2573 ว่าจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 แห่ง แต่ของไทย ไม่กล้าแม้แต่จะคิด เพราะถูกกีดขวางไปหมด จะใช้น้ำมันก็ไม่ได้ ถ่านหินก็ไม่ได้ พลังน้ำก็ไม่ได้ ต้องใช้สายลม-แสงแดดเป็นหลัก ประเทศเช่นนอร์เวย์ ลาว นิวซีแลนด์ ผลิตไฟฟ้าจากธรรมชาติได้ แต่ประเทศที่มีประชากรมาก เช่น สวีเดน เขมร ไทย เวียดนาม คงผลิตได้ไม่เพียงพอ
          อย่าใช้อวิชชา ทำลายชาติกันเลยครับ


ภาพที่ 4: แผนที่แสดงโครงการเวนคืนเพื่อก่อสร้างเขื่อนในสหรัฐอเมริกา
ที่มา: http://www.usbr.gov/projects/DynamicMap.jsp

อ้างอิง
{1} สฤณี อาชวานันทกุล. เศรษฐศาสตร์การรื้อเขื่อน โดย สฤณี อาชวานันทกุล www.greenworld.or.th/columnist/ecosaveworld/1842 และดูที่ https://www.facebook.com/ThaiDecommissionPakMunDam/posts/477562968975461
{2} เขื่อน Condit: http://en.wikipedia.org/wiki/Condit_Hydroelectric_Project
{3} เวียดนามล้มเขื่อนกว่า 300 แห่ง พบทำลายป่ากระทบสิ่งแวดล้อมสาหัส ASTVผู้จัดการออนไลน์ 2 ตุลาคม 2556 20:46 น. http://www.manager.co.th/indochina/viewnews.aspx?NewsID=9560000124147
{4} Dams in Vietnam. http://www.internationalrivers.org/resources/planned-dams-in-vietnam-4079


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2025 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved