การที่ไทยไม่ได้สร้างรถไฟความเร็วสูงที่ควรจะเริ่มก่อสร้างเมื่อ 8-9 ปีก่อน ทำให้มีต้นทุนค่าเสียโอกาส ต้นทุนนี้เป็นอย่างไร มาลองพิจารณากันดู
ในระหว่างวันที่ 12-16 กรกฎาคม 2565 ผมได้เดินทางไปเยือนประเทศลาว ซึ่งก็คงเหมือนกันคนไทยทั้งหลายที่ตั้งใจจะขึ้นรถไฟความเร็วปานกลาง (แต่เรามักเรียกว่ารถไฟความเร็วสูง) ประมาณ 140-150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนขบวนรถแต่ละขบวน มีผู้โดยสารประมาณ 1,000 คน โดยแทบทั้งหมดมีแต่คนไทยไปขึ้นรถไฟก็ว่าได้ แทบไม่เคยเห็นคนลาวไปขึ้นรถไฟเลย ทั้งนี้คงเป็นเพราะค่าโดยสารแพง ชาวบ้านลาวอาจขึ้นรถประจำทางก็ได้ การเดินทางจากหลวงพระบางไปเวียงจันทน์
- เครื่องบิน 40 นาที (ค่าโดยสารไปกลับประมาณ 10,000 บาท)
- รถไฟความเร็วปานกลาง 1 ชั่วโมง 50 นาที (ค่าโดยสารเที่ยวเดียวประมาณ 1,000 บาท)
- รถประจำทาง 7-10 ชั่วโมง (ค่าโดยสารประมาณ 700 บาท)
ถ้าไทยมีรถไฟความเร็วสูงก่อนลาว ก็คงทำให้มีคนชาติอื่น เช่น ลาว เขมร เวียดนาม เมียนมา มาเที่ยวขึ้นรถไฟความเร็วสูงของไทยแล้ว แต่นี่กลับกลายเป็นว่าคนไทยนับพันๆ คนต่อวันเดินทางไปท่องเที่ยวเพื่อหาโอกาสขึ้นรถไฟความเร็วปานกลางของลาว ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของลาว แต่ในอีกแง่หนึ่งก็มองได้ว่าไทยมีต้นทุนค่าเสียโอกาสไปมาก
มาดูคำจำกัดความของคำว่า “ต้นทุนค่าเสียโอกาส” จาก Wikipedia https://bit.ly/3uKuYRN
ต้นทุนค่าเสียโอกาส (อังกฤษ: Opportunity cost) คือมูลค่าของผลตอบแทนจากกิจกรรมที่สูญเสียโอกาสไปในการเลือกทำกิจกรรมอย่างหนึ่ง ต้นทุนค่าเสียโอกาสเป็นต้นทุนที่ถูกอ้างถึงในวิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะมันบ่งบอกถึงการเลือกตัวเลือกที่เป็นที่ต้องการทั้งหมดแต่ไม่สามารถเลือกพร้อมกันได้ และเป็นแนวคิดที่สำคัญในการที่จะใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ต้นทุนค่าเสียโอกาสไม่ได้หมายถึงมูลค่ารวม แต่หมายถึงเฉพาะมูลค่าที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในบรรดาตัวเลือกอื่นที่เสียโอกาสไปเท่านั้น
การคำนึงถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสเป็นความแตกต่างที่สำคัญที่สุดของต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์และต้นทุนทางบัญชี ต้นทุนค่าเสียโอกาสนับว่าเป็นต้นทุนที่แท้จริงในการทำกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม เพราะมันทำให้เห็นถึงโอกาสซึ่งเป็นต้นทุนที่ถูกซ่อนอยู่ (และไม่สามารถมองเห็นหากคำนวณทางบัญชี) อย่างไรก็ตาม การคำนวณหาต้นทุนค่าเสียโอกาสนั้นส่วนใหญ่ทำได้ยาก เพราะเป็นการคำนวณจากการคาดคะเนเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง
ยกตัวอย่างเช่น
1. ต้นทุนค่าเสียโอกาสของการเรียนต่อในระดับปริญญาเอกไม่ใช่เพียงค่าเล่าเรียนที่เสียไป แต่หมายถึงรายได้ที่คาดว่าจะได้รับหากไม่เรียนต่อแต่ไปทำงานแทนด้วย
2. ผู้ที่นำเงินไปลงทุนในหุ้นสูญเสียโอกาสที่เขาจะได้รับดอกเบี้ยจากการฝากธนาคาร ดังนั้นต้นทุนค่าเสียโอกาสในการลงทุนนี้จึงหมายถึงดอกเบี้ยที่ควรจะได้รับ (หรือหมายถึงผลตอบแทนใด ๆ ที่จะได้รับ หากสามารถนำเงินไปลงทุนอย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าดอกเบี้ยธนาคาร)
3. หากรัฐตัดสินใจจะสร้างโรงพยาบาลในที่ว่างที่เป็นของรัฐ ต้นทุนค่าเสียโอกาสจะหมายถึงมูลค่าที่สูงที่สุดของกำไรในการนำที่ดินนี้และเงินค่าก่อสร้างไปทำประโยชน์อย่างอื่น เช่น ในการสร้างโรงพยาบาลนี้ รัฐเสียโอกาสที่จะสร้างโรงเรียน หรือห้องสมุด หรือโอกาสที่จะขายที่ดินนี้เพื่อลดหนี้ของรัฐ
ในกรณีที่ไม่ได้ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในไทยที่ควรจะเสร็จเมื่อ 2-3 ปีก่อน (ถ้าได้เริ่มก่อสร้างจริงเมื่อ 8-9 ปีก่อน ก่อนที่จะมีรัฐประหารในปี 2557 นั้น) ก่อให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสก็คือ
1. รายได้ที่จะได้จากการท่องเที่ยว เช่น ค่ารถไฟประมาณ 2,000 บาทต่อเที่ยว วันละ 10,000 ราย เป็นเวลา 2 ปี รวม 14,600 บาท
2. รายได้จากการขนส่งผักหรือสินค้าอื่นๆ
3. รายได้จากการท่องเที่ยว นอกเหนือจากค่าโดยสารทั่วไป เป็นต้น
ประเทศไทยสูญเสียโอกาสไปมากแล้วในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ควรมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีกว่านี้ ผู้มีอำนาจไม่ควรฝืนการเปลี่ยนแปลง