ผมเขียนเรื่องนี้ ปรากฏว่ามี ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ จากกลุ่มอนุรักษ์ฯ และ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ จากกรมอุทยานฯ ออกมาช่วยมองต่างมุม แต่ก็ทำให้ผมยิ่งเห็นชัดว่าในพื้นที่สร้างเขื่อนแม่วงก์ไม่มีเสือจริง ๆ เราลองมาดูกันครับ
ภาพที่ 1: ‘มองต่างมุม’ เรื่องเสือที่ไม่พึงเชื่อง่ายๆ จากการสร้างข่าว
ดร.นณณ์ อธิบายว่า “เวลานักอนุรักษ์บอกว่าป่าบริเวณนั้นเป็นบ้านแหล่งใหญ่ที่สุดของเสือ เราไม่ได้มองแต่พื้นที่บริเวณที่จะมีการสร้างเขื่อนแค่ 13,000 ไร่ตามที่ท่านเข้าใจ เราไม่ได้มองแค่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ครับ เรามองป่าตะวันตกทั้งผืน” แต่สิ่งที่นักอนุรักษ์นำออกมาโฆษณาชวนเชื่อตามสื่อต่าง ๆ ก็คือมีเสื้อในพื้นที่ก่อสร้างเขื่อน จึงไม่ควรสร้างเขื่อน
ภาพที่ 2: การชั่งน้ำหนักของคำพูดของประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร
แต่ในความเป็นจริง พื้นที่นี้ตั้งอยู่ชายขอบของป่า ล้อมรอบด้วยบ้านชาวบ้านและชุมชนมากมาย มีขนาดเพียง 0.1% หรือ 1 ใน 1,000 ของผืนป่าตะวันตก ผมถึงให้ข้อคิดว่าเสือ 11 ตัวจะมาชุมนุมในพื้นที่เล็ก ๆ ขนาดเพียง 2 เท่าของเขตสาทร เขตที่เล็กที่สุดเขตหนึ่งของกรุงเทพมหานครได้อย่างไร เสือคงไปอยู่ในพื้นที่ 99.9% ของผืนป่ามากกว่า
บรรดาภาพถ่ายเสือที่พบร่องรอยเสือจากองค์กรสัตว์ป่านานาชาติ หรือเจ้าหน้าที่อุทยานนั้น แน่นอนว่าเป็นการพบในป่าลึก ไม่ใช่ในละแวกบ้านของชาวบ้าน ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ระบุจุดพิกัด นำมาตีขลุมได้ และล้วนนำเสนอโดยกลุ่มที่เอนเอียงไปทางพวกต่อต้านการสร้างเขื่อน จึงต้อง “ฟังหูไว้หู” ใช่ว่าจะเชื่อถือได้เสียทีเดียว แล้วรายงาน EIA (ไม่ใช่ EHIA ซึ่ง อ.ศศิน ออกมาคัดค้านทั้งที่ยังทำไม่เสร็จ ไม่มีตัวตน) ก็ต้องตรวจสอบที่มาของข้อมูลเช่นกัน
ภาพที่ 3: ความสวยงามของยอดเขาโมโกจูกับที่ตั้งเขื่อนห่างกันมาก
ดร.ศักดิ์สิทธิ์ บอกว่า “เสือในป่านั้นกลัวคน หากได้กลิ่นคนก็จะเดินหนี” ส่วน ดร.นณณ์ ย้ำว่า (เสือที่ออกมากินคน) “น่าจะเป็นเสือหลุด (จากกรง)” ข้อนี้เรามาดูข้อเท็จจริง (Hard Facts) กัน:
1. ข่าว “ชาวบ้าน อ.ประทาย โคราช ออกไล่ล่าเสือโคร่ง หลังพบออกมาหากินในพื้นที่” (www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1374306107)
2. ข่าว “ชาวบ้านพบเสือ 2 ตัว - ผู้ว่าฯ ตาก วอนอย่าล่า (เพราะออกมาจากป่าสมบูรณ์)” (http://hilight.kapook.com/view/57796)
3. ข่าว “เสือเบตง สิ้นฤทธิ์ จับตายเสือเบตง หลังตะปบชาวบ้านดับ 3 ราย” (http://hilight.kapook.com/view/79574)
4. ข่าว “ชาวบ้านขอนแก่นผวา เสือดาวบุกกินไก่ วอน จนท.เร่งล่า” (www.thairath.co.th/content/region/358936)
5. ข่าว “ชาวบุรีรัมย์ผวาพบเสือ-รอยเท้าเกลื่อนขณะเข้าป่าหาเห็ด วอน จนท.เร่งจับตัว” (http://www.manager.co.th/Local/viewnews.aspx?NewsID=9560000096492)
เสือเหล่านี้ส่วนมากคงไม่ได้มาตามสมมติฐานที่ว่าเป็นเสือที่หลุดออกมาจากกรงเป็นหลัก แต่ออกมาหากินโดยพลัดหลงออกมาจากป่าก็มีจนกระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดตากต้องออกมาขอร้องไม่ให้ประชาชนไล่ล่าเสือ ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า หากบริเวณใดที่พบเสือ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งโดยรอบก็มีหมู่บ้านชาวบ้านอยู่กันเป็นจำนวนมากนั้น ชาวบ้านคงต้องรู้หรือเคยเห็น และคงผวาเช่นเดียวกับที่อื่น ๆ จนเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ต้องถือปืนยาวออกมาไล่ล่าเหมือนที่อื่น ๆ แล้ว
ภาพที่ 4: การจับตายเสือเบตงที่ออกมาจากป่ากัดคนตาย 3 ศพ รวมทั้งสัตว์เลี้ยง
การอ้างสัญชาตญาณเสือว่าจะไม่ทำร้ายใคร กลัวคน จึงไม่ออกจากป่า คงเป็นแค่การใช้ความรู้เรื่องเสือมาปรามคนอื่นเท่านั้น แต่จากข้อมูลเรื่องเสือทั้งหลายที่ (หลง) ออกจากป่ามากินคนหรือสัตว์นั้น เราได้เห็นกันอยู่เนือง ๆ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นตามข่าวเร็ว ๆ นี้ที่แสดงไว้ ยิ่งกว่านั้นนักต้านเขื่อน (แม่วงก์) ยังแสดงความปริวิตกอีกว่า หากมีการสร้างเขื่อนอาจมีคนแอบผสมโรงล่าสัตว์ ตัดไม้ กรณีนี้นักต้านฯ เหล่านี้ก็ควรออกมาคอยตรวจสอบ หรือนี่เป็นงาน “ปิดทองหลังพระ” ไม่ดังเท่าการออกมาเดินเคลื่อนไหวให้คนสับสน
นักวิชาการบางคนยังอ้างแบบ “จับแพะชนแกะ” ว่าขนาดญี่ปุ่น (ประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่) ยังรักษาป่าไว้ถึง 67% ของพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ความจริงก็คือญี่ปุ่นที่มีขนาดเพียง 71% ของไทยนั้น มีพื้นที่เพาะปลูกได้เพียง 12% เท่านั้น (https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/ja.html) ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขา-ภูเขาสูง บุกรุกขึ้นไปอยู่คงไม่ไหวเองต่างหาก
ฟังนักวิชาการ (แม้แต่ผม) ก็ต้องฉุกคิดไว้บ้างครับ โดยเฉพาะพวกนักต้านเขื่อนที่มักพูดจากอคติ