ชาวภูกระดึง 97% ต้องการกระเช้าขึ้นภูกระดึง
  AREA แถลง ฉบับที่ 588/2565: วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม 2565

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

            ตามที่มีข่าวการฟื้นโครงการกระเช้าขึ้นภูกระดึง ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เคยสำรวจความเห็นของประชาชนในพื้นที่ และพบว่า  97% ของประชาชนชาวภูกระดึงหรือเกือบทั้งหมดต้องการกระเช้านี้ ดร.โสภณ เคยทำหนังสือถึงนายกฯ ให้พิจารณาในเรื่องนี้ด้วย แต่เรื่องก็เงียบหายไป จึงขอร่วม “กระทุ้ง”

 

จดหมายถึงนายกฯ ขอให้สร้างกระเช้าภูกระดึง

เรื่อง         โปรดสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง

กราบเรียน   พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
                นายกรัฐมนตรี

                เนื่องด้วยศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย AREA ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย โดยปรากฏว่าประชาชนแทบทั้งหมดเห็นด้วยกับการสร้างกระเช้าข้างต้นซึ่งถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ผลการสำรวจนี้เป็นการยืนยันผลการสำรวจของทางราชการ และพร้อมกันนี้ ศูนย์ฯ ได้รวบรวมความคิดเห็นของประชาชนมานำเสนอเพื่อประโยชน์ต่อการสร้างกระเช้านี้ด้วย

                การสำรวจนี้ดำเนินการในวันอังคารที่ 1 มีนาคม 2559 ในเขตอำเภอภูกระดึง ประกอบด้วยบริเวณเขตตำบลภูกระดึง (แถวตลาด ตลาดหน้า ธกส. บ้านห้วยเดื่อ บ้านนาโก นายาง) ตำบลผานกเค้า (หมู่ 2, 3, 7, 8, 9) ตำบลศรีฐาน (บ้านทานตะวัน บ้านแสนสุข บ้านนาน้อย บ้านสงป่าเปลือย ม.1, ม.8 ม.12) ตำบลห้วยส้ม (ม.3, 5, 6 และ 7)  โดยสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ ลูกหาบ แม่ค้า และข้าราชการใน อบต.ภูกระดึง อบต.ผานกเค้า สำนักงานที่ดิน และที่ว่าการอำเภอภูกระดึง รวมทั้งสิ้นประมาณ 500 คน

                ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนถึงประมาณ 97% ต้องการให้มีการสร้างกระเช้าไฟฟ้า ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับตัวเลข 99% ที่ทางราชการสำรวจ อย่างไรก็ตามในจำนวนผู้ที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการบางส่วนที่เข้าใจว่าโครงการนี้จะเป็นการทำลายป่า โดยเฉพาะข้าราชการในส่วนงานที่เกี่ยวข้องที่ไม่ขอออกความเห็นและบางส่วนก็ไม่เห็นด้วย โดยรวมแล้ว ข้าราชการมีสัดส่วนที่เห็นด้วยถึง 80% อย่างไรก็ตามจำนวนข้าราชการมีเพียงส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ดังนั้นสัดส่วนโดยรวมของผู้เห็นด้วยกับกระเช้าไฟฟ้าจึงยังสูงมากเกือบ 100% เช่นเดิม

                การที่ประชาชนในพื้นที่แทบทั้งหมดต้องการให้มีการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้านี้ แสดงถึงมติมหาชนที่พึงเคารพ และเป็นการแสดงถึงภูมิปัญญาของประชาชนที่ผ่านการเรียนรู้มาด้วยตนเองว่ากระเช้าไฟฟ้านี้มีประโยชน์จริง ไม่เฉพาะแก่ประชาชนในพื้นที่ แต่มีประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศที่มาใช้บริการ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สร้างรายได้ให้กับทางราชการในการนำเงินมาอนุรักษ์ธรรมชาติและป่าไม้จนก่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ความต้องการของประชาชนภูกระดึงนี้จึงไม่ใช่การครอบครองทรัพยากรของชาติไปใช้เพื่อประโยชน์ของกลุ่มตนถ่ายเดียว

                ส่วนประเด็นปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการมีกระเช้านั้น ไม่เป็นความจริง โดยมีรายละเอียดดังนี้:
                1. ทรัพยากรธรรมชาติ โครงการก่อสร้างกระเช้าที่เป็นเพียงเสาห่างๆ และสถานีไม่เป็นปัญหาต่อการทำลายป่า ส่วนการมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่วนมากก็เพียงขึ้นมาชมทัศนียภาพภายในครึ่งวันหรือหนึ่งวัน ไม่ได้ลงไปทำร้ายธรรมชาติ คงมีเพียงส่วนน้อยนิดที่จะลงไปเดินเท้าอีกนับสิบกิโลเมตร ซึ่งต้องมีการควบคุมให้เคร่งครัด หากมีรายได้จากกระเช้า ย่อมมีงบประมาณในการจัดจ้างเจ้าหน้าที่ดูแลได้เพียงพอ และมีเงินพัฒนาป่าไม้ได้อีกด้วย การท่องเที่ยวด้วยกระเช้านี้จึงถือเป็นการท่องเที่ยวที่แทบไม่ก่อให้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อม (Low carbon tourism หรือ carbon neutral tourism)
                2. ลูกหาบ ซึ่งมีเพียง 330 คน และส่วนมากก็มีวัยวุฒิแล้ว บางคนยังเสียชีวิตจากการประกอบอาชีพลูกหาบ ในอนาคตคงไม่มีลูกหาบเหลือเพราะลูกหลานต่างมีการศึกษาสูงขึ้น นี่เป็นเพียงอาชีพเสริม ทำงานเดือนละไม่กี่วัน มีเพียงปีละ 2 เดือนที่มีนักท่องเที่ยวมาก ในเดือนอื่นๆ ก็มีนักท่องเที่ยวไม่กี่สิบคนต่อวัน น้อยกว่าจำนวนลูกหาบ ในแต่ละปีภูกระดึงยังปิด 4 เดือน ลูกหาบต่างก็เคยร่วมทำข้อตกลงสนับสนุนการสร้างกระเช้า ทางราชการก็ยินดีจัดหางานอื่น หากมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ย่อมมีงานทดแทนที่ดีกว่า
                3. การผูกขาดในธุรกิจด้านการบริการ กรณีนี้อยู่ที่การจัดการที่ดีและโปร่งใส ตั้งแต่การประมูลผู้ให้บริการในด้านต่าง ๆ อย่างในกรณีร้านค้า ก็ควรมีการแข่งขันประมูลและจัดระเบียบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อร้านค้าที่เสนอบริการที่คุ้มค่าที่สุด และที่สำคัญให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้บริการคือนักท่องเที่ยว
                4. เอกลักษณ์ในการท่องเที่ยวภูกระดึง ไม่ได้ถูกทำลาย นักท่องเที่ยวที่สนใจเดินขึ้นดังเดิม ก็ยังทำได้ ไม่มีใครห้าม แต่การสร้างกระเช้า จะทำให้ผู้สูงวัยหรือผู้ที่ไม่แข็งแรงมีโอกาสที่จะขึ้นไปชมทัศนียภาพบ้าง และลำพังสถานีและเส้นทางกระเช้าที่เปรียบขนาดได้ดังเส้นผมเส้นหนึ่งคงไม่อาจทำลายทัศนียภาพของภูกระดึงได้
                5. งบประมาณ ไม่ได้สูงเพราะใช้เงินเพียง 633 ล้านบาท ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ในปัจจุบัน หากจ้างลูกหาบแบกขึ้นเที่ยวเดียวจะเสียค่าบริการประมาณ 4,000 บาท ซึ่งสูงมากหากเทียบกับค่ากระเช้าที่ราว 500 บาท ค่ารถทัวร์ กทม-ภูกระดึง 500 บาท หรือค่าเครื่องบิน กรุงเทพมหานคร-เลยที่ 800 บาท
                6. ขยะ-น้ำเสียจะไม่เพิ่มขึ้น ในปัจจุบันค่าจ้างหาบของขึ้นภูกระดึงเป็นเงินกิโลกรัมละ 30 บาท โอกาสที่ขยะตกค้างเพราะต้นทุนการขนลงมาสูงมาก หากมีกระเช้าย่อมสามารถขนถ่ายขยะได้ง่ายขึ้น ไม่ตกค้างตามรายทางเช่นเดิม และยังมีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดจ้างเจ้าหน้าที่ในการวางแผน ดูแลขยะ-น้ำเสียและสิ่งแวดล้อมอื่นให้ดีขึ้นกว่าในปัจจุบันได้อีกด้วย

                ความวิตกกังวลข้างต้นสามารถจัดการได้ อย่าให้ผู้ใดมาอาศัยข้ออ้างเหล่านี้ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ จากการสำรวจยังพบคณะต่อต้านกระเช้าซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่ บ้างก็มาจากภาคอื่น มาปลุกระดมให้ประชาชนสับสน แต่ประชาชนแทบทั้งหมดก็ยังเห็นด้วยกับการสร้างกระเช้าไฟฟ้า ทั้งนี้มีข้อพึงพิจารณาดังนี้:
                1. ในแต่ละปี มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิต หรือป่วย ก็ไม่สามารถรักษาได้ทันท่วงที หากมีกระเช้าไฟฟ้า ก็คงไม่สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเช่นนี้
                2. ทุกวันนี้การท่องเที่ยวภูกระดึงมีแต่ถดถอยลง เพราะยังคงลักษณะเดิมๆ มาตลอด 20 ปีที่ผ่านมาในขณะที่แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อื่น เช่น ภูทับเบิก ภูป่าเปาะ ฟูจิเมืองเลย คุณหมิงเมืองไทย ต่างมีรถยนต์เข้าถึง ยิ่งกว่านั้นภูกระดึงเป็นเมืองปิด โอกาสเติบโตจึงจำกัด
                3. ประชาชนภูกระดึงต่างเฝ้าคอยที่จะได้โครงการกระเช้านี้มานับสิบปีแล้ว ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นดีขึ้นด้วย ประชาชนจะได้ลืมตาอ้าปาก ไม่เป็นภาระแก่สังคม เมื่อมีรายได้สูงขึ้นก็จะสามารรถจ่ายภาษีจุนเจือสังคม ชาวบ้านบ้างก็ให้สัมภาษณ์ว่าหากเศรษฐกิจยังฝืดเคืองเช่นนี้ อาจต้องย้ายไปอยู่จังหวัดอื่น

                ประสบการณ์จากต่างประเทศ แสดงชัดว่าโครงการกระเช้า สร้างสรรค์ประโยชน์อย่างแท้จริง ดังนี้:
                1.  กระเช้า "Kotor - Cetinju Cable Car” ประเทศมอนเตเนโกร ที่ต่อไปจะเป็นกระเช้าท่องเที่ยวที่ยาวสุดในโลกถึง 14.8 กิโลเมตร (bit.ly/1TlWTjF) จากการศึกษาล่าสุดโดยองค์การสหประชาชาติ มีผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR: internal rate of return) อยู่ระหว่าง 8.8%-11.7% ซึ่งคุ้มค่ากับการลงทุน
                2. กระเช้าลังกาวี ทำให้เกาะนี้มีผู้มาท่องเที่ยวมากขึ้น โดยสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2545 (14 ปีมาแล้ว) ทั้งนี้ช่วงห่างของกระเช้าที่ยาวที่สุดยาวถึง 920 เมตร มีค่าโดยสารเพียง 300 บาท ใช้เวลาเดินทาง 15 นาที กระเช้าและการท่องเที่ยวลังกาวียังถือเป็นการท่องเที่ยวที่สร้างมลภาวะต่ำ (Low carbon tourism)


ทางเดินป่า Skywalk บนยอดเขาผ่านกระเช้าในลังกาวี (panoramalangkawi.com)

                3. กระเช้าดานัง ที่บริเวณภูเขา Bana Hills ซึ่งก็เป็นเทือกเขาที่ไม่ได้สวยงามเยี่ยงภูกระดึง แต่ก็มีกระเช้าให้คนได้ขึ้นเขามองลงมาดูนครดานัง ฮอยอันและบริเวณใกล้เคียงอื่นๆ ใช้เวลาถึงยอด 15 นาที และเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 2556 นี้เอง (แต่ภูกระดึงยังย่ำอยู่กับที่มา 20 ปีแล้ว) เงินลงทุนอสังหาริมทรัพย์ชิ้นนี้ก็พอๆ กับไทยคือ 650 ล้านบาท (bit.ly/1TQ4JAu) สามารถให้บริการผู้โดยสารได้ชั่วโมงละ 1,500 คน


เวียดนาม ชื่นชมธรรมชาติด้วยกระเช้าโดยไม่แตะต้อง (bit.ly/1RpMQ6W)

                4. กระเช้าขึ้นเกนติ้ง (Genting Skyway) ระยะทาง 3.38 กิโลเมตร ที่สร้างเสร็จในปี 2540 ในมาเลเซีย คิดค่าโดยสาร 100 บาท
                5.  กระเช้าสิงคโปร์ ซึ่งเชื่อมระหว่างเนินเขาเตี้ยๆ ชื่อ Faber กับเกาะเซ็นโตซา เป็นต้น

                โดยสรุปแล้ว ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์สมบูรณ์ เหมาะที่จะก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ที่มีอายุยืนยาวเช่นกระเช้าไฟฟ้านี้ เพื่อศึกษาเรียนรู้ชื่นชมธรรมชาติโดยไม่แตะต้อง (คงไม่มีใครสร้างกระเช้าขึ้นภูหัวโล้น) การพัฒนาที่ดีจะสร้างรายได้เพื่อนำมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ยั่งยืนและมีคุณภาพยิ่งขึ้น  แม้แต่ลูกหาบก็ได้ประโยชน์จากการที่กิจการท่องเที่ยวดีขึ้น ยิ่งกว่านั้นในอนาคตยังสามารถพัฒนาจัดระเบียบการค้าและบริการเพิ่มมูลค่าเช่นเดียวกับในต่างประเทศ ทำให้ทางราชการมีทรัพยากรเพียงพอต่อการส่งเสริมการปลูกป่า และปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า

                 อนึ่งหากให้หน่วยราชการเพียงบางหน่วยพิจารณาความเหมาะสมของการก่อสร้างกระเช้า อาจมีอคติและความเบี่ยงเบนจากแนวคิดอนุรักษ์แบบเดิม ๆ ที่ไม่สร้างสรรค์และไม่ยึดโยงประโยชน์ของประชาชน รัฐบาลจึงสมควรรับฟังและเคารพมติของประชาชนแทบทั้งหมดในพื้นที่เป็นสำคัญ รวมทั้งพิจารณาความเป็นไปได้ในมิติอื่นๆ ประกอบด้วย และที่สำคัญดำเนินโครงการนี้โดยทันทีเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม

                 จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ด้วยความเคารพ
(ดร.โสภณ พรโชคชัย)
ประธานศูนย์ข้อมูลฯ AREA

 

 

อ่าน 1,590 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved