การบริจาคเงินของนายจุน วนวิทย์ สะเทือนวงการเจ้าสัวจริงๆ คนเราต้องมีเงินเท่าไหร่หนอจึงบริจาคมากมายถึงเพียงนี้ เราลองมาวิเคราะห์ในเบื้องต้นกัน
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ซึ่งเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน มาให้ข้อคิดเกี่ยวกับการบริจาคในครั้ง ทั้งนี้จากการรวบรวมของประชาชาติ (https://bit.ly/3zS61a4) ระบุไว้ว่ากิจการของฮาตาริประกอบด้วย:
1. บริษัท วนวิทย์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า ปี 2564 มีรายได้รวม 5,774,766,880.63 บาท เพิ่มขึ้น 9.56% มีกำไร 645,645,044.65 บาท เพิ่มขึ้น 6.91% ส่วนปี 2563 มีรายได้รวม 5,270,406,291.32บาท เพิ่มขึ้น 8.49% และมีกำไร 603,899,494.51 บาท เพิ่มขึ้น 50.18%
2. บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด ซึ่งทำธุรกิจขายส่งเครื่องใช้ไฟฟ้า ปี 2564 มีรายได้รวม 6,336,193,438.58 บาท เพิ่มขึ้น 1.53% และมีกำไร 65,821,884.79 บาท ลดลง 10.85% ส่วนปี 2563 มีรายได้รวม 6,240,236,344.24 บาท ลดลง 4.30% และมีกำไร 73,837,658.72 บาท เพิ่มขึ้น 26.01%
3. บริษัท ฮาตาริ อีคอมเมิร์ซ จำกัด ทำธุรกิจขายปลีกพัดลมทางอินเทอร์เน็ต ปี 2564 มีรายได้รวม 7,805,204.84 บาท ลดลง 27.63% และมีกำไร 1,535,561.79 บาท เพิ่มขึ้น 2.57% ส่วนปี 2563 มีรายได้รวม 10,786,251.34 บาท และมีกำไร 1,496,978.62 บาท
4. บริษัท ฮาตาริ ไวร์เลส จำกัด ทำธุรกิจด้านสื่อดิจิทัลอย่างจอโฆษณา พัฒนาแอปพลิเคชั่น ระบบเน็ตเวิร์กสำหรับองค์กร ปี 2564 มีรายได้รวม 506,237,407.81 บาท ลดลง 8.15% และมีกำไร 23,553,832.47 บาท ลดลง 10.71% ส่วนปี 2563 มีรายได้รวม 551,158,002.05 บาท ลดลง 56.65% และมีกำไร 26,379,894.76 บาท เพิ่มขึ้น 45.75%
5. บริษัท ฮาตาริ คอนเน็คท์ จำกัด ทำธุรกิจจัดจำหน่ายอุปกรณ์สมาร์ทโฮมจากหลายแบรนด์ และให้บริการโซลูชั่นสมาร์ทโฮมสำหรับร้านค้าปลีกและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ปี 2564 มีรายได้รวม 2,326,422.99 บาท เพิ่มขึ้น 231.63% และมีกำไร 397,518.66 บาท เพิ่มขึ้น 142.42% หลังจากปี 2563 มีรายได้รวม 701,505.69 บาท ลดลง 85.59% และขาดทุน 937,083.48 บาท ขาดทุนเพิ่มจากปีก่อน 53.07%
6. บริษัท ฮาตาริ เทคโนโลยี จำกัด ทำธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ ปี 2564 มีรายได้รวม 29,792,548.13 บาท เติบโต 110.65% ขาดทุน 4,240,376.37 บาท ขาดทุนลดลง 74.60% จากปี 2563 ที่มีรายได้รวม 14,142,586.91 เพิ่มขึ้น 133.59% และขาดทุน 16,696,059.60 บาท ขาดทุนลดลง 23.19%
7. บริษัท ฮาตา ออโต้ แก๊ส จำกัด มีนายวิชัย วนวิทย์ นางจรัสพร จีระออน และนางสาวสมบุญ สังฆบารี เป็นกรรมการ ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท โดย ฮาตา ออโต้ แก๊ส ปี 2564 มีรายได้ 24,840,305.09 บาท ลดลง 22.69% และขาดทุน 210,141.70 บาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 792.77% ส่วนปี 2563 มีรายได้ 32,131,928.42 บาท ลดลง 18.01% และขาดทุน 23,537.92 บาท ขาดทุนลดลง 86.09%
ถ้าพิจารณาจากบริษัททั้ง 7 แห่งนี้ (แห่งที่ 8 เลิกกิจการไปแล้วจึงไม่ได้กล่าวถึง) มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 732.5 ล้านบาทในปี 2564 และ เป็น 664.4 ล้านบาทในปี 2563 การบริจาคเงินถึง 900 ล้านบาทนี้ แสดงให้เห็นว่าบริจาคมากกว่ากำไรสุทธิทั้งปีของบริษัทในเครือทั้งหมดเสียอีก นี่แสดงถึงความใจกว้างของท่านเจ้าสัวจุน วนวิทย์ เจ้าของอาณาจักรธุรกิจฮาตาริ เป็นอย่างยิ่ง ข้อนี้ถือเป็นความน่านับถืออย่างยิ่ง นอกจากนี้ท่านยังบริจาคให้โรงพยาบาลโดยตรง ไม่ได้ไปบริจาคเอาหน้าเช่นเจ้าสัวหลายๆ คน
จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าปกติคนเราจะบริจาคเป็นสัดส่วนประมาณ 2.69% ของรายได้ของตนเอง (https://bit.ly/2yGmqPc) เช่น หากมีรายได้เดือนละ 10,000 บาท ก็อาจต้อง “เสียภาษีสังคม” ต่างๆ ประมาณ 269 บาท แต่ในกรณีนี้ รายได้รวมของกลุ่มบริษัทฮาตาริในปี 2564 เป็นเงิน 12,682 ล้านบาท ก็ควรบริจาคเป็นเงินเพียง 341 ล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริง บริษัทที่ยิ่งมีรายได้สูง สัดส่วนการบริจาคอาจสูงถึง 2.69% อาจต่ำกว่า 1% ด้วยซ้ำไป ซึ่งถ้าหากบริจาคตามปกติไม่เกิน 1% ก็ควรบริจาคไม่เกิน 100 ล้านบาทนั่นเอง การบริจาคในมูลค่าสูงเช่นนี้ และสูงกว่ากำไรสุทธิของบริษัทในปี 2564 ที่ 732.5 ล้านบาทเสียอีก
อาจกล่าวได้ว่าถ้าเครือฮาตาริสามารถสร้างผลกำไรได้ 732.5 ล้านบาทในปีหนึ่งๆ แต่ธุรกิจพัดลมอาจไม่ยืนยาวนักในอนาคต ดังจะเห็นได้ว่าบริษัทก็พยายามไปทำธุรกิจอื่นบ้าง สมมติว่าสามารถสร้างรายได้ในระดับนี้โดยไม่ลดหรือเพิ่มขึ้นได้อีก 20 ปีต่อเนื่องกัน ณ อัตราผลตอบแทน (สมมติ) ที่ 12% ซึ่งรวมค่าความเสี่ยงทางธุรกิจต่างๆ ไว้ด้วยแล้ว มูลค่าของกิจการคร่าวๆ ก็เป็นเงินประมาณ 5,471 ล้านบาทในวันนี้* ถ้ารวมส่วนที่เป็นสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ตลอดจนแบรนด์และสิทธิบัตรต่างๆ (ถ้ามี) ก็อาจเป็นเงินรวมกันราว 7,000 ล้านบาท การบริจาคคราวเดียวที่ 900 ล้านบาทจึงเท่ากับ 12.9% ของมูลค่าของทรัพย์สินทั้งหมด
ดังนั้นนี่จึงเป็นความใจกว้างอย่างยิ่งของเจ้าสัวท่านนี้ และอาจทำให้สังคมตั้งคำถามว่าเจ้าสัวท่านอื่นๆ ทำอะไรอยู่ อันที่จริงก็อาจที่เจ้าสัวที่ “ปิดทองหลังพระ” ก็เป็นไปได้ ซึ่งกรณีนี้ก็คงต้องอนุโมทนาด้วย แต่การ “ปิดทองเอาหน้า” ก็คงมีอยู่มากมายเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าแนวคิดของเจ้าสัวไทยนั้นยังเน้นอยู่ที่การสะสมให้ลูกหลานมากกว่าการบริจาคเพื่อสังคมอย่างแท้จริง
อภิมหาเศรษฐีฝรั่งมีค่านิยมในการบริจาคเงินมหาศาลเพื่อสังคม เพราะเชื่อตามนายแอนดรูว์ คาร์เนกี อภิมหาเศรษฐีอเมริกันที่กล่าวว่า “คนที่ตายอย่างร่ำรวย ตายอย่างน่าอับอาย” (the man who dies thus rich dies disgraced) เขาจึงบริจาคทรัพย์เกือบทั้งหมดให้การกุศลก่อนตาย เหลือให้ทายาทเพียงบางส่วน ไม่ใช่ให้ทายาทเป็นส่วนใหญ่ และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือรัฐบาลในอารยประเทศเก็บภาษีมรดกสูงมาก จึงทำให้อภิมหาเศรษฐีบริจาคเงินเพื่อสร้างชื่อแทนการเสียภาษีมรดก
เจ้าสัวจุนบริจาคทรัพย์มหาศาลเพื่อโรงพยาบาลจึงนับเป็นสิ่งที่น่ายกย่องยิ่ง และทำให้เจ้าสัวอื่นต้องรู้สึกอะไรเพื่อชาติบ้าง
*หมายเหตุ
ตามสูตร
ระยะเวลา (n) = 20 ปี
ดอกเบี้ย (i) = 12%
= (1-(1/(1+i)^n))/i
ที่มา:https://bit.ly/3zS61a4