อ่าน 1,624 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 140/2556: 10 ตุลาคม 2556
แก้ปัญหาการจราจรด้วยวิชาการผังเมือง

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          เร็ว ๆ นี้ มีข่าวว่าตำรวจจะห้ามรถเกิน 7 ปีวิ่งเพื่อลดปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร แต่ข้อเสนอดังกล่าวคงแก้ปัญหาจราจรไม่ได้ สิ่งที่จะแก้ไขได้นั้น ส่วนหนึ่งต้องอาศัยความรู้ด้านผังเมือง
          สิ่งสำคัญในด้านผังเมืองก็คือ เราต้องเน้นการอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารบนพื้นที่ดินในเขตชั้นในของเมืองอย่างหนาแน่น (High Density) แต่ไม่แออัด (Overcrowdedness) ทั้งนี้เพื่อลดการเดินทางลง การจราจรก็จะไม่ติดขัดนัก อย่างไรก็ตามผังเมืองของกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ มักพยายามห้ามการก่อสร้าง เน้นการสร้างความโปร่งในใจกลางเมือง นัยว่าเพื่อรักษาความสวยงาม (ซึ่งแทบไม่มี ต่างจากนครทั้งหลายในยุโรป) และกลัวไฟไหม้ ทั้งที่ในญี่ปุ่นมีท่อแก๊ส เขายังไม่มีระยะร่น และอนุญาตให้ก่อสร้างสูงได้
          ยิ่งกว่านั้นนักผังเมือง ยังทำเป็น "ปิดตาข้างเดียว" คือหากนอกเขตผังเมืองกรุงเทพมหานคร ก็สามารถสร้างสูง ๆ และหนาแน่นได้ เช่น เขตสมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และนครปฐม ดังนั้นผังเมืองของไทยโดยเฉพาะผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร จึงเป็นผังเมืองฉบับเพิ่มโลกร้อน และเพิ่มปัญหาการจราจร เพราะประชาชนจะต้องเดินทางมากยิ่งขึ้นจากบ้านสู่ที่ทำงาน เนื่องจากไม่สามารถหาซื้อบ้านในเขตใจกลางเมืองได้ เพราะด้วยข้อจำกัดในการก่อสร้างในใจกลางเมือง บ้านใจกลางเมืองจึงแพงเกินความสามารถในการซื้ออีกต่างหาก
          ในอนาคต นักผังเมืองไทยกำลังแก้ผังเมืองตามแบบฉบับ "เพิ่มโลกร้อน" ให้ครอบคลุมไปถึงปริมณฑล ดังนั้นกรรมของคนกรุงเทพมหานครก็คือ อาจจะต้องซื้อบ้านไกลออกไปอีกถึงอยุธยา ฉะเชิงเทรา ที่ผังเมืองตามแบบฉบับเดิม ๆ ยังครอบคลุมไปไม่ถึง การจราจรในอีก 10 ปีข้างหน้าจึงจะยิ่งสาหัสกว่าปัจจุบันเสียอีก
          สิ่งหนึ่งที่นักผังเมืองไทยไม่กล้าแม้แต่จะคิดก็คือระบบรถไฟฟ้า ซึ่งราชการผังเมืองไม่มีการประสานกับราชการส่วนอื่น ๆ  ตัวอย่างเช่นในนครเซี่ยงไฮ้ มีรถไฟฟ้าเพียง 2 ปีก่อนกรุงเทพมหานคร แต่ปัจจุบันมีเพิ่มเป็น 15 สายแล้ว แต่ของกรุงเทพมหานครยัง "ยักแย่ยักยัน" อยู่ ทำให้การเดินทางไม่สะดวก และต้องมีที่จอดรถมาก
          อาคารขนาดใหญ่ ๆ ในกรุงเทพมหานครหลังหนึ่ง ๆ ต้องมีพื้นที่จอดรถประมาณ 1/4 - 1/3 ของพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งเป็นความสิ้นเปลืองเป็นอย่างมาก หากมีรถไฟฟ้าในเมือง ก็จะช่วยลดทอนปัญหาได้มากมาย แต่กลับปรากฏว่ารถไฟฟ้าตามผังเมือง มีจำนวนมากที่จะสร้างในชานเมือง ไม่ได้เชื่อมเข้าเมือง ซึ่งเป็นการวางแผนที่ไร้ประสิทธิภาพและขาดประโยชน์อย่างยิ่ง


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved