เดือนกรกฎาคม 2565 มีโครงการอสังหาริมทรัพย์เปิดใหม่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลทั้งหมด 36 โครงการ เป็นที่อยู่อาศัย 35 โครงการ และอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ อีก 1 โครงการ มีจำนวนหน่วยขายรวม 6,229 หน่วย และมีมูลค่าการพัฒนาโครงการรวม 27,692 ล้านบาท คาดทั้งปีจะเปิดขายถึง 101,654 หน่วย สูงกว่าปีที่แล้วที่เปิดใหม่เพียง 60,489 หน่วยหรือเพิ่มขึ้น 68% จากปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตามการเปิดตัวโครงการใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2565 ถือว่าลดลงจากเดือนมิถุนายน 2565 จำนวน 11 โครงการ ประเภทที่เปิดขายมากที่สุดในเดือนนี้ยังคงเป็นอาคารชุด มีสัดส่วนถึง 44.7% รองลงมาคือทาวน์เฮ้าส์ 29.7% ส่วนอันดับ 3 คือบ้านเดี่ยว 16.5% ของจำนวนหน่วยขายที่เปิดขายใหม่ทั้งหมด หากเป็นบ้านเดี่ยวจะเน้นที่ระดับราคา 5-10 ล้านบาท ทาวน์เฮ้าส์จะเน้นราคา 2-3 ล้านบาท และอาคารชุดที่ราคา 2-3 ล้านบาท ราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยของเดือนนี้ประมาณ 4.446 ล้านบาท แต่เดือนที่ผ่านมามีราคาขายเฉลี่ยที่ 3.462 ล้านบาท
ด้านอัตราการขายในเดือนแรกของการเปิดตัวมีอัตราการขายเฉลี่ย 17% ซึ่งลดลงจากเดือนที่ผ่านมาที่มีอัตราการขายได้ที่ 20% ต่อเดือน โดยประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่มีอัตราการได้สูงสุด และมีจำนวนหน่วยขายเป็นส่วนใหญ่ของตลาด คือ อาคารชุดระดับราคา 1-2 ล้านบาท จำนวน 694 หน่วย ขายได้แล้ว 264 หน่วย (38%) รองลงคือ บ้านแฝดระดับราคา 5-10 ล้านบาท จำนวน 294 หน่วย ขายได้แล้ว 79 หน่วย (27%) และอันดับ 3 คือ อาคารชุดระดับราคา 2-3 ล้านบาท จำนวน 1,114 หน่วย ขายได้แล้ว 249 หน่วย (22%)
เมื่อพิจารณาถึงผู้ประกอบการที่เปิดตัวโครงการใหม่ในเดือนนี้ เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ (มหาชน) 13 แห่ง นอกจากนี้ก็ยังมีบริษัทในเครือ และบริษัททั่วไปอีกจำนวนหนึ่ง จะเห็นได้ว่าบริษัทมหาชนเพียงไม่เกิน 10 แห่งสามารถครองส่วนแบ่งตลาดถึง 77% ของจำนวนหน่วยทั้งหมด และมูลค่าการพัฒนาสูงถึง 69% ของทั้งหมดในเดือนกรกฎาคม 2565 หากเปรียบเทียบการพัฒนาระหว่างบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทในเครือ และบริษัททั่วไป มีข้อมูลประกอบดังนี้
ในด้านทำเลที่ตั้ง สำหรับอาคารชุดที่เปิดขายจะตั้งอยู่ในบริเวณพระราม 4 ศรีนครินทร์ จรัญสนิทวงศ์ และศาลายา ส่วนที่อยู่อาศัยแนวราบที่มีการเปิดใหม่ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นกลางและรอบนอก เช่น ถนน ถนนสายไหม ถนนเลียบวงแหวนกาญจนาภิเษก ย่านบางใหญ่-บางบัวทอง และถนนประชาอุทิศ-พระราม 2 เป็นต้น ราชพฤกษ์ แจ้งวัฒนะ ติวานนท์ เทพารักษ์ วิภาวดีรังสิต รามอินทรา นวมินทร์ ลาดปลาเค้า ลาดกระบัง เป็นต้น
หากเปรียบเทียบสถานการณ์โครงการอสังหาริมทรัพย์เปิดใหม่กับเดือนเดียวกันของปี 2564 พบว่าสถานการณ์ปีนี้ดีกว่ามากในทุกด้าน แต่ราคาเฉลี่ยต่อหน่วยก็เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าเมื่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 คลี่คลาย ก็ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มคึกคัก ในขณะที่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 การระบาดของโควิด 19 ค่อนข้างรุนแรง ทำให้ไม่มีการออกไปซื้ออสังหาริมทรัพย์มากนักและแทบไม่มีการท่องเที่ยวเลย
เมื่อเปรียบเทียบจำนวนโครงการที่เปิดใหม่ 7 เดือนแรก 2565 มีจำนวนโครงการเปิดใหม่รวม 210 โครงการ มากกว่า 7 เดือนแรก 2564 จำนวน 58 โครงการ หรือเพิ่มขึ้น 38.2% (7 เดือนแรก 2564 มีจำนวน 152 โครงการ) มีมูลค่าโครงการรวม 222,166 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69,991 ล้านบาท หรือ 46.0% (7 เดือนแรก 2564 มีมูลค่า 152,175 ล้านบาท) มีจำนวนหน่วยขายรวม 59,298 หน่วย เพิ่มขึ้น 30,555 หน่วย หรือเพิ่ม 106.3% (7 เดือนแรก 2564 มีจำนวน 28,743 หน่วย) ทั้งนี้แสดงว่าสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2565 ดีกว่าปี 2564 อย่างชัดเจน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ประเมินว่า ทั้งปี 2565 จะเปิดขายสินค้าที่อยู่อาศัยใหม่รวมกันถึง 101,654 หน่วย สูงกว่าปีที่แล้วที่เปิดใหม่เพียง 60,489 หน่วยหรือเพิ่มขึ้น 68% จากปีที่แล้ว การแห่เปิดตัวกันมากมายเช่นนี้ แสดงว่าตลาดกำลังคลี่คลายไปในทางที่ดี แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็อาจก่อให้เกิดภาวะล้นตลาดได้ในปี 2566 ต่อไป