อ่าน 7,773 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 148/2556: 21 ตุลาคม 2556
ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมเพื่อต้านเขื่อนแม่วงก์

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
www.facebook.com/dr.sopon4

          หลายคนเห็นป่า ณ สถานที่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์แล้วเสียดาย ไม่อยากให้ตัดทิ้งไปสร้างเขื่อน แต่ความจริงก็คือป่านี้เพิ่งสร้างขึ้นมาเพื่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์นั่นเอง ถ้าสร้างเขื่อนก็ควรสร้างป่าทดแทนความสูญเสียนี้
          อย่าเข้าใจผิดว่าพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์มีสภาพเป็นป่าดงดิบ แต่เป็นป่าปลูกใหม่ที่เกิดขึ้นจากการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมหลังจากเป็นเขตอุทยานฯ {1} ในโครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)ฯ ระบุว่า เป็นป่าเต็งรัง 33% ป่าไผ่ 9% ป่าไม้เบญจพรรณ 51% ที่รกร้าง 5% และแหล่งน้ำ 2% {2} นายวีระกร คำประกอบ อดีต ส.ส.นครสวรรค์กล่าวว่า "ข้อเท็จจริงมันเป็นป่าเสื่อมโทรมที่มีชนกลุ่มน้อยบุกรุกทำลายป่ามาแล้วเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา จึงไม่มีต้นไม้ใหญ่หลงเหลืออยู่มากนัก" {3}
          เขื่อนแม่วงก์เริ่มคิดมานาน JICA ก็ทำการศึกษาจนปี พ.ศ.2532 คณะรัฐมนตรีจึงให้ศึกษา EIA {4} แต่ในระหว่างนั้น ทางราชการก็ฟื้นฟูต้นไม้ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมนี้ แต่ในปัจจุบันต้นไม้ส่วนมากก็ยังมีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง (DBH) เพียง 10-30 ซม.เท่านั้น การที่ DBH เล็ก แสดงว่าอายุน้อย เช่น ในเขตป่าทั่วไป กระถินเทพา อายุ 8 ปี DBH 15.8 ซม. หนามหัน อายุ 18 ปี DBH 18.1ซม. ไม้สัก อายุ 8 ปี DBH 10.5 ซม. {5} ไม้สักอายุ 14 และ 20 ปีมี DBH 21 ซม และ 33.5 ซม. ตามลำดับ {6}
          สาธารณชนจึงควรมองเห็นภาพเชิงซ้อน/ซ่อนเร้นให้ชัดว่า ในขณะที่มีการเสนอสร้างเขื่อนบนที่ป่าเสื่อมโทรมนี้ ก็มีการตั้งแง่ให้ไปศึกษาใหม่ไม่จบสิ้น เช่นให้ไปศึกษาทางเลือกพื้นอื่น (พ.ศ.2537) ให้ทำประชาพิจารณ์ (พ.ศ.2541) ให้ศึกษาการจัดการลุ่มน้ำ (พ.ศ.2546) เป็นต้น เขื่อนก็ไม่ได้สร้างสักที  ต้นไม้ก็เติบโตขึ้นทุกวันเพื่อให้ฝ่ายต้านเขื่อนมีข้ออ้างเพิ่มขึ้นอีก ถ้าสร้างเขื่อนแต่แรกก็คงไม่มีข้ออ้างเรื่องป่านี้
          หากมีความจำเป็นต้องตัดต้นไม้อายุสิบกว่าปีนี้เพื่อสร้างเขื่อน รายงาน EIA ก็ระบุชัดว่า ไม้มีมูลค่า 1,073 ล้านบาท รวมทั้งปริมาณธาตุอาหารพืช 11.71 ล้านบาทต่อปี {7} ซึ่งก็ยังดีกว่าการไปเวนคืนที่ดินนับหมื่นไร่ กระทบต่อชาวบ้านนับพันๆ ครอบครัวในบริเวณอื่น ยิ่งกว่านั้นเราสามารถนำเงินจำนวนนี้มาชดเชยเพื่อลดค่าก่อสร้างเขื่อน
          ส่วนการกลัวว่าจะมีพื้นที่ฟอกคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง ทางราชการและชาวบ้านก็จะร่วมกันปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ใกล้เคียงอีก 3 เท่า {8} รวมทั้งการปลูกป่าเพิ่มเติมในป่าแม่วงก์และผืนป่าตะวันตกโดยรวมที่เสียหายจากการบุกรุกเป็นหย่อมๆ และไฟป่าปีละนับร้อยครั้ง ก็จะทำให้มีป่าไม้ดังเดิม ยิ่งเมื่อมีเขื่อนก็จะยิ่งมีน้ำอุดมสมบูรณ์เป็นประโยชน์ต่อป่าและสามารถใช้ดับไฟป่าได้ทันท่วงทีอีกด้วย
          ในรายงาน EIA ยังระบุถึงประโยชน์ของการสร้างเขื่อนต่อสัตว์-ป่าว่า จะเพิ่มประสิทธิภาพดิน 40% ดินชุ่มชื้นขึ้น สัตว์ป่ามีน้ำดื่ม (จากเดิมแห้งแทบไม่มีน้ำในหน้าแล้ง) เขื่อนสร้างแหล่งอาหารให้สัตว์ ทำให้ป่าสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ฯลฯ สำหรับประโยชน์ต่อมนุษย์ก็คือการชลประทาน แก้ภัยแล้งโดยได้อานิสงส์ถึงราว 50,000 คนจาก127 หมู่บ้านใน 3 จังหวัด ทั้งยังทำให้เกิดการประมง การท่องเที่ยว เขื่อนจึงจะทำให้ทั้งมนุษย์และสัตว์มีชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีขึ้น
          การใด ๆ ก็ย่อมมีทั้งข้อดีและเสีย ดังนั้นสาธารณชนจึงพึงชั่งใจให้ดีโดยปราศจากมายาคติ

อ้างอิง:
{1} โปรดดู www.wcsthailand.org/main/news/maewong_wildlife_recovery
{2} โครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ (EIA) โดย บริษัท ครีเอทีฟ เทคโนโลยี จำกัด เมษายน 2555 หน้า 3-162, 166-168
{3} โปรดดู www.matichon.co.th/play_clip.php?newsid=1335505221
{4} มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=840
{5} โปรดดู www.conference.tgo.or.th/download/2011/research/PPT/180811/J14/05_r.pdf (หน้า 40)
{6} โปรดดู www.teak-teca.com/wp-content/uploads/2010/10/การจัดการสวนป่าไม้สักอายุ-14-ปีขึ้นไป.ppt (หน้า 21)
{7} รายงาน EIA หน้า ษษ และ ศศ
{8} โปรดดูรายงานข่าวนี้ที่ www.manager.co.th/politics/viewnews.aspx?NewsID=9560000118879


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved