ตกลงว่านายกฯ โง่หรือไม่โง่เรื่องวิทยุทรานซิสเตอร์
  AREA แถลง ฉบับที่ 731/2565: วันพฤหัสบดีที่ 06 ตุลาคม 2565

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            มีหลายคนออกมา “ชเลียร์” และออกมา “ถล่ม” นายกฯ เรื่องใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ในการสื่อสารระหว่างเกิดภัยพิบัติ ตกลงเรื่องนี้ใครโง่ ใครฉลาดกันแน่

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่าหลังจากนายกฯ พูดเรื่องนี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกฯ ก็ออกมาชี้แจงว่าที่นายกฯ “แนะนำให้ใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ในการออกอากาศแจ้งเตือนประชาชน หากระบบเตือนภัยน้ำท่วม ซึ่งเคยใช้กันเมื่อปี 2554 เพราะตอนนั้นไฟฟ้าดับหมด” <1>  ประเด็นนี้ ดร.โสภณถามว่าเขาใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ในการแจ้งเตือนภัยพิบัติปีนั้นเป็นสำคัญจริงหรือ ซึ่งไม่น่าจะจริง

            นายอนุชากล่าวว่า “พฤติกรรมการรับฟังวิทยุปี 2022 จำนวนผู้ฟังวิทยุรายเดือน แยกตามช่วงอายุ โดยข้อมูลล่าสุดในเดือน ส.ค. 2565 ผู้ฟังกลุ่มอายุ 40-59 ปี เป็นกลุ่มที่ฟังวิทยุมากที่สุดถึงกว่า 3.5 ล้านคน รองลงมาคือ ผู้ฟังกลุ่มที่มีอายุ 20-29 ปี ฟังวิทยุกว่า 3.3 ล้านคน ขณะที่กลุ่มอายุ 60-71 ปี ฟังวิทยุสูงเกือบ 2 ล้านคน และกลุ่มที่มีอายุ 12-19 ปี ก็มีการฟังวิทยุถึงกว่า 800,000 คน. . .” ในกรณีนี้ ดร.โสภณให้ความเห็นว่าจำนวนรวมมีทั้งหมดแค่ 7-8 ล้านคนจากประชากรไทย 70 ล้านคน แสดงว่าน้อยมากต่างหาก

            นายอนุชายังกล่าวว่า

            1. “ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยประสบภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง. . .” แต่ ดร.โสภณให้ความเห็นว่าประเทศไทยไม่ได้มีภัยพิบัติมากมายเช่นหลายประเทศ

            2. “เพื่อป้องกัน แก้ไขและบรรเทาเหตุภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้น หรือคาดหมายได้ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต” ดร.โสภณแย้งว่าการแจ้งเตือนภัยในช่องทางอื่นรวดเร็วกว่ามาก

            ดร.โสภณได้สอบถามไปยังเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์จากประเทศต่างๆ  ที่มีภัยพิบัติรุนแรง และขอยกตัวอย่างประเทศต่างๆ ที่มีภัยพิบัติรุนแรงมากมายว่าเขามีการป้องกันอย่างไรบ้าง เช่น

            1. ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนกว่าไทย ก็มีการสื่อสารผ่านวิทยุทรานซิสเตอร์ในต่างจังหวัดเช่นกัน แต่มีข้อจำกัดเพราะเป็นการสื่อสารทางเดียว ในกรณีฉุกเฉินทางการใช้วิทยุสื่อสาร ซึ่งสื่อสารได้ 2 ทางได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือต่างหาก ที่สำคัญที่สุดศูนย์เตือนภัยของรัฐบาลจะเตือนผ่านมือถือ ว่ากันว่าฟิลิปปินส์เป็น “the world's SMS capital”

            2. เกาหลีใต้ รัฐบาลส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือถึงประชาชนโดยตรง และมือถือก็ต่างสามารถรับฟังวิทยุ AM/FM ได้ การเตือนภัย เขาสามารถเตือนได้ภายในระยะเวลา 25 วินาที ไม่ใช่แบบที่นายกฯ คิดว่าจะรอวิทยุทรานซิสเตอร์ และประเทศไทยก็ไม่สามารถแจ้งผ่านมือถือประชาชนได้ (ยกเว้นแก้ง Call Centre ที่สามารถเข้าถึงมือถือของประชาชนได้อย่างน่าประหลาด)

            3. ไต้หวันก็ใช้มือถือเป็นหลัก ข้ออ้างที่ว่าถ้าเกิดแผ่นดินไหวใหญ่หรือสึนามิ เสาส่งสัญญาอาจหักโค่นหรือไม่มีไฟ เป็นข้ออ้างสำหรับคนไม่รู้ ในประเทศที่มีแผ่นดินไหวใหญ่ในแถบ Ring of Fire (รวมญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์) เขาทำเสาส่งสัญญาณมือถือแข็งแรงมาก ไม่พังยามเกิดแผ่นดินไหว ดังนั้นโทรศัพท์มือถือจึงใช้ได้ตลอด

            4. ญี่ปุ่นมีวิทยุเหมือนกัน แต่ไม่ใช่วิทยุทั่วไปแบบบ้านเรา แต่เป็นวิทยุฉุกเฉินพิเศษที่สามารถชาร์จไฟได้ และมีแผงโซล่าด้วย อย่างไรก็ตามปกติก็ใช้มือถือแจ้งเตือนภัยอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

            5. สหรัฐอเมริกาก็มีการใช้วิทยุในพื้นที่พิบัติภัยเหมือนกัน แต่เป็นวิทยุฉุกเฉินพิเศษ ไม่ใช่วิทยุทรานซิสเตอร์แบบบ้านเรา วิทยุฉุกเฉินมีระบบแจ้งเตือนภัยจากทางราชการอยู่ในตัว ชาร์จไฟได้ เป็นทั้งไฟฉาย ฯลฯ <2>

            โดยสรุปแล้วโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ลำพังการแจ้งเตือนผ่านวิทยุทรานซิสเตอร์ธรรมดาที่เป็นการสื่อสารทางเดียว คงไม่ได้ผลเท่ามือถือ วิทยุสื่อสาร และการไปช่วยเหลืออย่างทันท่วงที นี่เป็นประสบการณ์จากประเทศที่มีภัยพิบัติมากกว่าไทย

 

อ้างอิง

<1> รัฐบาลเฉลยสาเหตุที่ ‘บิ๊กตู่’ แนะใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ยันดีที่สุด-คนฟังอื้อ-มีทุกตำบล https://www.dailynews.co.th/news/1542726/

<2> The best emergency radios in 2022. https://us.cnn.com/2022/06/28/cnn-underscored/reviews/the-best-emergency-radios-in-2022

ที่มาภาพประกอบ:

https://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2022/10/%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B310-4-1024x578.jpg

อ่าน 1,030 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved