ทำไมอินเดียมีประชาธิปไตยแต่จน – จีนเป็นเผด็จการแต่รวย
  AREA แถลง ฉบับที่ 732/2565: วันพฤหัสบดีที่ 06 ตุลาคม 2565

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            หลายคนสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าทำไมประเทศอินเดียที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก กลับยากจนเหลือเกิน ในขณะที่จีนซึ่งถือเป็นประเทศเผด็จการ กลับร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เมื่อก่อนก็จนเหมือนอินเดีย

            ในจินตนาการของคนเราเชื่อว่าประชาธิปไตยจะทำให้เกิดความเท่าเทียม ความโปร่งใส ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนได้รับการพัฒนามากขึ้น ในทางตรงกันข้ามถ้าประเทศมีเผด็จการทรราช ก็จะทำให้ประชาชนยากไร้ เพราะทรัพยากรต่างๆ ถูกกักเก็บไว้ที่ชนชั้นนำเป็นสำคัญ  แต่ทำไมกรณีนี้จึงแตกต่างกันอย่างชัดเจนในกรณีอินเดียและจีน หรือว่าเผด็จการจะดีกว่าประชาธิปไตยกันแน่

            การวัดความเป็นประชาธิปไตยมากหรือน้อยอาจจะเกิดความสับสนขึ้นได้ เพราะประชาธิปไตยก็แล้วแต่การตีความ  จีนและประเทศสังคมนิยมทั้งหลายก็ถือตนเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยรวมศูนย์หรือเป็นเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพที่ตามทฤษฎีถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในขณะที่อินเดียที่ว่าเป็นประชาธิปไตยนั้น จะเป็นแต่ในนามหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันต่อไป ดังนั้นการวัดความเป็นประชาธิปไตยอาจจะยากในที่นี้จึงใช้ตัววัดประชาธิปไตยที่ความโปร่งใส

            อันที่จริงสามัญสำนึกของคนเรานั้นถูกต้องแล้ว ประเทศที่มีประชาธิปไตยต่ำแสดงออกด้วยความโปร่งใสน้อยก็มักมีรายได้น้อย เช่น (เรียงตามลำดับอักษร) กัมพูชา กีนี กีนีบิสเซา คองโก,สป คองโก,สาธารณรัฐ คีร์กิสถาน แคเมอรูน โคโมรอส ชาด ซิมบับเว ซูดาน ซูดานใต้ โซมาเลีย ทาจีกิสถาน นิการากัว ไนจีเรีย บังคลาเทศ ปากีสถาน มอริทาเนีย เมียนมา ยูกันดา เยเมน อาฟกานิสถาน อีริเทีย อุสเบกิสถาน แองโกลา ฮอนดูรัส และไฮติ เป็นต้น ประเทศเหล่านี้ทั้งจนและไม่เป็นประชาธิปไตย (ขาดความโปร่งใส)

            ในทางตรงกันข้ามประเทศที่โปร่งใสซึ่งถือว่ามีประชาธิปไตยจึงเป็นเช่นนี้ ก็มักเป็นประเทศที่ร่ำรวย มีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูง ได้แก่ (เรียงตามลำดับอักษร) เกาหลีใต้ แคนาดา ชิลี เซเชลส์ ญี่ปุ่น เดนมาร์ก ไต้หวัน นอรเวย์ นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม โปรตุเกส ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ ยูเออี เยอรมนี ลักเซมเบอร์ก ลิทัวเนีย สเปน สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ออสเตรีย อังกฤษ อุรักวัย เอสโตเนีย ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ และฮ่องกง เป็นต้น

            อย่างไรก็ตามก็มีบางประเทศที่มีความโปร่งใสน้อยแต่มีรายได้สูงมาก เช่น กาตาร์ คาซักสถาน คูเวต เตอร์กเมนิสถาน ตูรกี บาห์เรน ปานามา เม็กซิโก รัสเซีย ลิเบีย เลบานอน เวเนซูเอล่า อิรัก และอิหร่าน เป็นต้น ทั้งนี้คงเป็นเพราะการผลิตน้ำมันขายหรืออื่นใด  ส่วนบางประเทศก็มีความโปร่งใสสูง แต่รายได้ต่ำมาก ด้วยอาจเป็นเพราะเป็นประเทศที่มีทรัพยากรอันจำกัด เช่น กานา เซเนกัล โซโลมอนไอแลนด์ ติมอร์เลสเต บูร์กินาฟาโซ เบนิน มาลาวี รวันดา เลซูทู และ วานูอาตู เป็นต้น

            ในการนี้ใช้การวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงตัวแปรระหว่างความโปร่งใส (แสดงว่ามีประชาธิปไตยจริง) ซึ่งมาจาก Corruption Perception Index (CPI) ซึ่งมีการจัดทำขึ้นทุกปี กับรายได้ประชาชาติต่อหัว (ยิ่งสูงยิ่งรวย) จาก World Population Review เพื่อที่จะดูว่าตัวแปรทั้งสองตัวมีความสัมพันธ์กันในทางใดหรือไม่ ถ้าไม่มีความสัมพันธ์กันเลย ก็แสดงว่าทั้งสองตัวแปรนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน  แต่ถ้ามีความสัมพันธ์ เป็นความสัมพันธ์กันในทางใด เป็นแบบยิ่งโปร่งใส ยิ่งรวย หรือแบบยิ่งโปร่งใส ยิ่งจน นั่นเอง

            ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงตัวแปรนี้ใช้ตัวแปรทั้งสองจากประเทศต่างๆ 121 ประเทศที่มีข้อมูลครบทั้งตัวแปรความโปร่งใส และตัวแปรรายได้ประชาชาติต่อหัว โดยเอาประเทศที่มีลักษณะผ่าเหล่าผ่ากอ (Outliers) ออก เช่น ประเทศที่มีความโปร่งใสสูงแต่ยากจน ซึ่งอาจเป็นเพราะมีทรัพยากรอันจำกัด กับประเทศที่ไม่ค่อยโปร่งใสแต่ร่ำรวย เช่น ประเทศส่งออกน้ำมัน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ข้อมูลที่วิเคราะห์ไม่มีความเบี่ยงเบนมากจนเกินไป

            ผลการวิเคราะห์พบว่ามีความสัมพันธ์เชิงตัวแปรที่ชัดเจนระหว่างตัวแปรทั้งสองในลักษณะที่ว่า ประเทศที่ยิ่งยากจน ยิ่งมีความโปร่งใสต่ำ หรือประเทศที่มีความโปร่งใสต่ำ มักยากจน ส่วนประเทศที่มีความโปร่งใสสูงขึ้นเรื่อยๆ มักจะเป็นประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ร่ำรวย 30-40 อันดับแรกๆ นั้น มักมีความโปร่งใสมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้เป็นไปตามสูตรดังนี้:

            = y = 3.8994*(x^2.2059)

            = รายได้ประชาชาติต่อหัว = 3.8994*(ระดับความโปร่งใส ยกกำลัง 2.2059)

 

 

            ทั้งนี้โดยมีค่า R-Squared หรือค่าความผันแปรของตัวแปรตอบสนองที่สามารถอธิบายได้มีอยู่ในตัวแบบเชิงเส้นนี้ กี่เปอร์เซ็นต์ โดยอยู่ที่ 0.8683 หรือ 87% หรือใกล้เคียง 100% แสดงว่าสูตรนี้มีความน่าเชื่อถือสูง ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ประชาชนย่อมมีรายได้ดีกว่าประเทศที่มีประชาธิปไตยในระดับที่ต่ำกว่า หรืออีกนัยหนึ่งประเทศที่ร่ำรวยมักเป็นประเทศประชาธิปไตยในเชิงเปรียบเทียบนั่นเอง

 

 

            เมื่อเปรียบเทียบขนาดพื้นที่ประเทศไทย จีนและอินเดีย จะพบว่าประเทศไทยมีขนาดเล็กมาก โดยอินเดียมีขนาดใหญ่กว่าไทย 6 เท่า และจีนมีขนาดใหญ่กว่าไทยถึง 18 เท่า  ส่วนประชากรทั้งอินเดียและจีนมีจำนวนประชากรมากกว่าไทยถึง 20 เท่า  ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงความหนาแน่นของประชากร อินเดียจึงมีความหนาแน่นกว่าไทยและจีนเป็นอย่างมาก โดยอินเดียมีความหนาแน่น 467 คน  จีน 151 คน  ส่วนไทยมีความหนาแน่นเพียง 136 คนต่อตารางกิโลเมตร

            ในด้านความโปร่งใสหรือความเป็นประชาธิปไตย ไทยต่ำสุดคือได้ 35 จาก 100 คะแนน อินเดียได้ 40 คะแนน และจีนได้สูงถึง 45 คะแนน  จะว่าจีนไม่เป็นประชาธิปไตยเสียเลยก็คงไม่ได้  ในด้านรายได้ประชาชาติต่อหัว

ไทยสูงสุดคือ 18,236 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี จีนก็ใกล้เคียงกันคือ 17,192 เหรียญสหรัฐ  ส่วนอินเดียต่ำสุดคือ 6,461 เหรียญสหรัฐ  ถ้าใช้สูตรคำนวณข้างต้นจะพบว่า

            1. ไทยที่มีคะแนนความโปร่งใสอยู่ที่ 35 ควรมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเพียง 8,947 เหรียญสหรัฐ  แต่ไทยกลับมีรายได้สูงกว่าถึง 1 เท่าตัว ทั้งนี้แม้ระบบการเมืองไทยจะไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ผลิตภาพของภาคเอกชนเข้มแข็งมาก

            2. อินเดียน่าจะมีรายได้ 12,210 เหรียญสหรัฐตามคะแนนความโปร่งใสซึ่งสูงกว่าความเป็นจริงที่ได้เพียง 6,461 เหรียญ ทั้งนี้อินเดียมีประชากรมากแต่พื้นที่น้อย ทรัพยากรจึงอาจไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร ทำให้ยากจนซ้ำซากมานาน อีกทั้งยังมีการแบ่งชนชั้นวรรณะอีกต่างหาก

            3. มีเพียงจีนที่ตัวเลขออกมาใกล้เคียงกัน  บางท่านอาจมองว่าจีนได้ดีเพราะระบบเผด็จการ แต่คงเป็นเพราะผลิตภาพที่สูงเด่นของภาคเอกชนต่างหาก

            บางท่านอาจยังสงสัยว่าทั้งจีนและอินเดียต่างเคยเป็นประเทศยากจนมาด้วยกัน ระบบเผด็จการทำให้จีนรุ่งเรืองขึ้นหรือไม่  สังคมอินเดียที่ยากจนมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลที่มีขอทานมากมายอยู่แล้ว แต่ทั้งคนจีนและอินเดียก็ถูกส่งออกเป็นแรงงานไปหลายประเทศทั่วโลกทดแทนทาสผิวดำ  อันที่จริงการอพยพของคนจีนก็ปกติเหมือนคนต่างชาติอื่นที่มาทำการค้าขายหรืออย่างกรณี เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว <3> แต่การอพยพครั้งใหญ่ของจีนเกิดขึ้นก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะทุพภิกขภัยนั่นเอง

            จีนรุ่งเรืองขึ้นมาเพราะการลงทุนจากต่างประเทศตั้งแต่เปิดประเทศเมื่อ 40 ปีก่อน เพราะมีแรงงานราคาสุดถูก จีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ และที่สำคัญจีนได้ (ขโมย) นำเทคโนโลยีของต่างประเทศมาพัฒนาต่อ (ต่างจากไทยที่มีรถไฟมาตั้งแต่ปี 2439 แต่ยังผลิตหัวรถจักรเองไม่ได้) จนหลายอย่างกลายเป็นเทคโนโลยีของจีนเอง อันที่จริงเผด็จการอย่างซูฮาร์โต มาคอส ไม่ได้พัฒนาเมืองหรือพัฒนาประเทศอย่างที่บางท่านเข้าใจ <5> ในทางตรงกันข้ามหลายประเทศเจริญขึ้นเพราะเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย เช่น เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เมียนมา (ก่อนรัฐประหารล่าสุด)

            ยุคเผด็จการคือยุคมืดที่ไม่มีการตรวจสอบและจบลงด้วยการโกงมหาศาลต่างหาก

 

อ้างอิง

<1> Corruption Perception Index. https://www.transparency.org/en/cpi/2021          

<2> GDP Per Capita. World Population Review. https://worldpopulationreview.com/country-rankings/gdp-per-capita-by-country           

<3> โปรดดู https://bit.ly/3TFtYJM

<4> UNESCO. The Overseas Chinese: A long history. https://en.unesco.org/courier/2021-4/overseas-chinese-long-history

<5> เผด็จการไม่ได้พัฒนา (เมือง) https://bit.ly/1VYzRkA

อ่าน 1,241 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved