อ่าน 2,333 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 155/2556: 01 พฤศจิกายน 2556
โพลล์เขื่อนแม่วงก์: โพลล์ไหนจริง/เท็จ?

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
www.facebook.com/dr.sopon4

          ดร.โสภณ พรโชคชัย สำรวจพบว่าประชาชนนครสวรรค์ถึงสองในสามต้องการเขื่อนแม่วงก์ สัดส่วนจะเป็น 69% และ 31%ตามลำดับ ส่วนเอแบคโพลล์บอกว่า 81.1% ของคนใน 17 จังหวัดเห็นควรชะลอและทบทวนโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ส่วนผลโพลล์ 7 สี ถามคนนครสวรรค์พบว่ามีเพียง 22.7% ที่ต้องการเขื่อน โพลล์ไหนเชื่อได้หรือไม่ได้
          กรณีเอแบคโพลล์ ดร.นพดล กรรณิกา ประธานเครือข่ายวิชาการทำประชาพิจารณ์และสาธารณมติเพื่อนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับ คุณจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาลุ่มน้ำเพื่อเกษตกร ได้สำรวจพบว่า 59.5% คิดว่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ 81.1% ระบุควรชะลอและทบทวนโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์
          การศึกษานี้ไม่อาจนำมาอ้างอิงได้ เนื่องจากเป็นการศึกษาจากประชากรนอกพื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ พะเยา นครสวรรค์ นครพนม อุดรธานี สุรินทร์ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช ชุมพร และสงขลา จากการสำรวจของ ดร.โสภณ พบว่า สำหรับประชาชนที่ไม่ได้ประโยชน์จากเขื่อน ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกร ไม่เดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม-ฝนแล้ง และอยู่ห่างจากพื้นที่ดังกล่าว ก็มักไม่เห็นด้วยและเชื่อตามข้อมูลของเอ็นจีโอที่โฆษณาไว้ก่อนหน้านี้
          สำหรับผลสำรวจอีกอันหนึ่ง คือ ผลโพลล์ 7 สี ถามคนในนครสวรรค์ว่าต้องการให้สร้างเขื่อนแม่วงก์หรือไม่ ปรากฏว่ามี 22.7% ต้องการเขื่อน 32.5% ต้องการเขื่อนถ้าไม่มีผลกระทบโดยรวม และ 34.2% ไม่ต้องการเขื่อน ในขณะที่ 10% ไม่แน่ใจ การสำรวจนี้คงสำรวจเฉพาะในเขตเมืองเป็นสำคัญ ไม่ได้สำรวจในท้องถิ่นต่าง ๆ ผลการสำรวจของ ดร.โสภณ ก็พบว่าประชาชนในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ ก็เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนเพียง 25% เท่านั้น ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน ก็เพราะตนเองไม่ได้เดือดร้อนอะไรและเห็นใจสัตว์ป่า
          ส่วนการสำรวจของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ดำเนินการครอบคลุม 6 อำเภอที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนครสวรรค์ รวม 80 จุด ไม่ได้ถามเฉพาะในเขตเมือง พบกลุ่มที่ต้องการและไม่ต้องการเขื่อนแม่วงก์ สัดส่วนจะเป็น 69% และ 31%ตามลำดับ หากมีการลงประชามติจากประชาชนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ก็คาดว่าจะมีผู้เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน 238,486 คน
          สังคมควรฟังฝ่ายใด บางคนบอกว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ต้องถามคนที่อื่นก่อน เพราะทุกคนเป็นเจ้าของทรัพยากร ถ้าเราคิดเช่นนี้ การที่รัฐบาลใช้ภาษีอากรมหาศาลไปสร้างสาธารณูปโภคมากมายกระจุกให้กับชาวกรุง ก็ต้องถามประชาชนจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เลย ยะลา ฯลฯ ด้วยหรือไม่ ในความเป็นจริง หากเป็นกรณีความเดือดร้อนของประชาชน รัฐบาลก็สามารถที่จะนำเงินส่วนรวมมาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้
          ในกรณีเขื่อนแม่วงก์ ก็เช่นกัน ประชาชนได้สรุปบทเรียนมานับสิบๆ ปีแล้วว่าเขื่อนแม่วงก์จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้งได้ ก็ควรที่จะสร้าง เพราะได้ประโยชน์ต่อประชาชนถึง 127 หมู่บ้านใน 3 จังหวัด ซึ่งก็เป็นเฉกเช่นการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมให้กับนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ หาไม่บริษัทต่างชาติจะย้ายหนี ทำให้เศรษฐกิจชาติเสียหาย หรือนำเงินไปช่วยเยียวยาในกรณีประสบเภทภัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นต้น
          หากเรานำประเด็นการสร้างเขื่อนไปถามคนในจังหวัดอื่นที่ไม่เคยได้รับความเดือดร้อน (จนต้องรีบขาวข้าวในนายามน้ำท่วมเหลือเพียง 3,000-4,000 บาทต่อเกวียน จากราคาประกัน 13,000 บาท) เขาก็ไม่เอาเขื่อนอยู่แล้ว จากการสัมภาษณ์พบว่าประชาชนในพื้นที่บางส่วนก็ไม่เอาเขื่อน เนื่องจากตนเองไม่ถูกน้ำท่วม ไม่ได้ทำนา มีแต่ประชาชนที่ไม่เดือดร้อนแต่เห็นใจประชาชนที่เดือดร้อน จึงเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน ดังนั้นประชาชนที่อยู่ไกล ย่อมสงสารป่ามากกว่าคนอยู่แล้ว
          ดังนั้นการไปล่ารายชื่อจำนวนแสนชื่อมาค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จึงไม่มีผลอะไร เป็นเพียงกฏหมู่ เช่นถ้าถามประชาชนต่างจังหวัดว่าควรขุดคลองใหม่เพื่อระบายน้ำท่วมกรุงหรือไม่ พวกที่ไม่เดือดร้อนและไม่เห็นใจคนอื่น ก็ต้องตอบว่าไม่เช่นกัน
          การที่ผลโพลล์ต่างกันเช่นนี้ น่าจะมีการพิสูจน์ทราบ เพื่อจะได้ไม่มีการนำความรู้ทางวิชาการไปบิดเบือน และควรให้ประชาชนในพื้นที่ลงประชามติในโครงการที่พวกเขาได้รับผลกระทบโดยตรงนี้

หมายเหตุ:
ดูรายละเอียดที่ AREA แถลง ฉบับที่ 154/2556: 31 ตุลาคม 2556 เรื่องเสียงสะท้อนจากประชาชนนครสวรรค์ต่อเขื่อนแม่วงก์ www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement595.htm


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved