ภาษีอสังหาริมทรัพย์ (ที่แท้) ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม
  AREA แถลง ฉบับที่ 776/2565: วันพุธที่ 26 ตุลาคม 2565

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

            หลายคนบอกว่าในประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำกันมากเหลือเกิน ควรสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม แต่หลายคนก็ไม่รู้ว่าเครื่องมือในการสร้างความเท่าเทียมกันก็คือภาษีโดยเฉพาะภาษีอสังหาริมทรัพย์นั่นเอง

            ความเท่าเทียมคืออะไร เราก็สามารถนึกถึงสนามฟุตบอลที่หญ้าแทบทุกต้นจะสูงพอๆ กัน ไม่มีต้นไหนจะสูงไปกว่ากันมากนัก โดยเฉพาะไม่มีเหง้าขนาดใหญ่ (เปรียบเสมือนคนรวยมากๆ) ซึ่งเป็นลำต้นที่อยู่ใต้ดินซึ่งมีข้อปล้อง มีตาขนาดใหญ่กว่าหญ้าต้นอื่นๆ  เหง้าพวกนี้โดยมากมักโดนขุดทิ้งเพราะมีขนาดใหญ่และทำให้สนามไม่ราบเรียบ กินปุ๋ย กินน้ำมากกว่าต้นหญ้าทั่วไป

            ด้วยเหตุนี้ในทางปฏิบัติสำหรับสังคมมนุษย์จึงมักมีภาษีมรดก อย่างในประเทศญี่ปุ่นมีการเก็บภาษีมรดกกันอย่างเข้มงวดเช่น

 

            เมื่อเปรียบเทียบกับของไทยต่างกันมหาศาลกล่าวคือผู้ที่จะเสียภาษีมรดกโดยเป็นผู้สืบสันดาน จะเสียก็ต่อเมื่อราคาอสังหาริมทรัพย์เกินกว่า 100 ล้านบาทตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของกรมธนารักษ์ ซึ่งประมาณการว่าราวหนึ่งในสามของราคาตลาด คือต้องมีราคาเกิน 300 ล้านบาทตามราคาตลาดจึงจะเสียภาษี เช่น สมมติเกินมา 50 ล้านบาท  ส่วนที่เกินนี้ก็จะเสียภาษีในกรณีผู้สืบสันดานเพียง 5% หรือเพียง 2.5 ล้านบาทเท่านั้น  แต่ถ้าเป็นในกรณีของญี่ปุ่น ส่วนที่เกิน 156 ล้าน คือ194 ล้าน (350-156) ต้องเสียภาษีถึง 55% หรือ 106.7 ล้านบาท แถมก่อนหน้าถึงช่วงที่ 156 ล้านบาท ยังต้องเสียภาษีตามลำดับ (โปรดดูตารางข้างต้น)  ยิ่งกว่านั้นในกรณีของไทย ถ้าเราค่อยๆ ทะยอยยกให้ลูกขณะมีชีวิต ไม่เกินปีละ 40 ล้านบาท ก็ไม่ต้องเสียภาษีใดๆ  ดังนั้นในกรณีประเทศไทย จึงมีเศรษฐี มหาเศรษฐีอยู่เหนือผู้คนทั่วไปมากมายเพราะ (แทบ) ไม่ต้องเสียภาษี

 

            สำหรับในกรณีประเทศไทย ภาษีกำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์ มีส่วนลดให้ต่างหาก เช่น

            จำนวนปีที่ถือครอง       ค่าใช้จ่ายเหมารวมที่หักได้

                   1 ปี                              92%

                   2 ปี                              84%

                   3 ปี                              77%

                   4 ปี                              71%

                   5 ปี                              65%

                   6 ปี                              60%

                   7 ปี                              55%

                   8 ปีขึ้นไป                       50%

            จะเห็นได้ว่าภาษีจากกำไรจากการขาย ก็อาจอ้างอิงตามราคาประเมินราชการ แล้วแต่จะแจ้ง มีค่าใช้จ่ายหักเหมารวมมากมาย  และอัตราภาษีก็ต่ำ แต่ถ้าเป็นในกรณีประเทศญี่ปุ่น คิดง่ายๆ แค่ว่า

            1. ถ้าถือครองน้อยกว่า 5 ปี ต้องเสียภาษี 39.63%

            2. ถ้าถือครองนานกว่า 5 ปี ต้องเสียภาษี 20.315%

            การนี้แสดงว่าญี่ปุ่นเน้นว่าใครถือครองอสังหาริมทรัพย์สั้นๆ ก็ต้องเสียภาษีสูงเพราะอาจถือว่าเป็นการเก็งกำไร จึงต้องหักภาษีจากกำไรมากๆ เพื่อเป็นการไม่ส่งเสริมการเก็งกำไร ทำให้ผู้ซื้อบ้านตัวจริงเดือดร้อน ต้องซื้อบ้านในราคาแพงขึ้น ส่วนที่ถือครองนานๆ ก็ต้องเสียภาษีอย่างน้อย 20.315% ของกำไร ไม่ใช่จะ “ฟัน” กำไรเข้าตัวเองโดย (แทบ) ไม่เสียภาษีเช่นในกรณีระเทศไทยที่ช่วยพวกมีทรัพย์สินมากมายนั่นเอง

            อย่างไรก็ตามหลายคนพอพูดถึงภาษี ก็จะเบือนหน้าหนี เพราะวันๆ ก็แทบจะหากินลำบาก ยังต้องจ่ายภาษีอีกหรือ ดังนั้นจึงมีความพยายามที่จะเลี่ยงภาษีกันสุดชีวิต และด้วยเหตุนี้นี่เอง ทางราชการก็จัดรายการลดหย่อนภาษีนิดๆ หน่อยๆ ให้กับประชาชนทั่วไป และเมื่อลดหย่อนให้กับประชาชนด้วย ก็อ้าง “ความเท่าเทียม” ลดหย่อนภาษีให้กับคนรวยๆ มหาศาล ทำให้ไม่มีเงินมาพัฒนาประเทศเท่าที่ควร ไหนงบประมาณยังอาจถูกเอาไปโกง หรืออาจถูกเอาไปใช้ในสิ่ง “ไร้สาระ” ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอีก

            อย่างไรก็ตามหากเราจัดการภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ถูกที่ถูกทาง ประโยชน์ที่เราจะได้จะมากกว่าภาษีเสียอีก เช่น เราเห็นคนชอบขี่จักรยานยนต์บนทางเท้าซึ่งไม่ควรทำ เพราะอาจชนชาวบ้านหรือลูกเด็กเล็กแดงที่เดินๆ อยู่ หรือบางทีเราเห็นภาพคนอาบน้ำบนถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ เพื่อประชดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาช่วยเหลือทำถนนให้ใหม่ 

            ภาพเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะเราไม่มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพียงพอ ถ้าเรามีมากกว่านี้โดยเก็บจากประชาชน เราก็อาจจ้าง “ตำรวจบ้าน” มาคอยเดินลาดตระเวนถี่ๆ ใครบังอาจขับรถขึ้นบนทางเท้า ก็จับปรับทันที คนก็จะไม่กล้าอีกต่อไป ถ้ากฎหมายเข้มแข็ง แถมการเดินลาดตะเวนของ “ตำรวจบ้าน” พวกนี้ก็ช่วยแก้ปัญหาโจรขโมย ทำให้เราไม่สูญเสียทรัพย์สิน หรือกระทั่งสูญเสียชีวิตหากมีอาชญากรรมเกิดขึ้น หรืออย่างกรณีถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ถ้าแต่ละเทศบาลหรือ อบต. สามารถจัดเก็บภาษีในท้องถิ่นได้เพียงพอ ก็จะทำให้มีงบประมาณในการซ่อมสร้างสิ่งต่างๆ ได้ทันท่วงที ไม่ต้องรอเงินจากส่วนกลางเป็นหลัก นี่แหละภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นคุณอย่างยิ่งต่อประชาชนทั่วไป

            อย่างไรก็ตามภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกลับมีข้อยกเว้นให้คนรวย จนสามารถถือครองที่ดินไว้ได้นานๆ โดยแทบไม่เสียภาษี หรือบางครั้งค่าเดินทางไปเสียภาษียังอาจสูงกว่าภาษีที่เสียไปเสียอีก ยกตัวอย่างเช่น ที่ดินของนายกฯ ประยุทธ์ที่เคยขายไปแล้วจำนวน 50.77 ไร่ หรือ 20,308 ตารางวา มีราคาประเมินราชการอยู่ที่ 369.51 ล้านบาท เจ้าของใหม่นำไปปลูกต้นไม้ ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา ก็ไม่ต้องเสียภาษีเลย แต่ในกรณีบริษัทก็เสียภาษี 0.01%-0.1% แล้วแต่ว่ามูลค่าเท่าไหร่ ในกรณีนี้ หากสมมติตัวเลขกลางๆ ที่ 0.05% ก็เท่ากับเสียภาษีเพียง 184,755 บาทต่อปี และเมื่อก่อนหน้านี้มีลดให้ 90% เหลือเสียภาษีเพียง 18,475.5 บาทเท่านั้น

            กรณีนี้นับว่าเป็นการลดหย่อนภาษีเพื่อช่วยคนรวยๆ โดยตรง แต่ถ้าเป็นในสหรัฐอเมริกาแต่ละคนต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประมาณ 1-3% ของราคาตลาด (ไม่ใช่ราคาประเมินต่ำๆ เช่นในประเทศไทย) ดังนั้นถ้าเรามีที่ดินราคา 369.51 ล้านบาทตามราคาตลาด หรือตามราคาตลาดที่ 800 ล้านบาท และเสียภาษี 1% ปีหนึ่งๆ ต้องเสียภาษีปีละ 8 ล้านบาท ไม่ใช่ 184,755 บาทเช่นในกรณีประเทศไทย

            ถ้าเราเก็บภาษีจากคนรวยๆ มาเจือจานสังคมได้ สังคมก็จะสงบสุข ไม่มีสงครามกลางเมือง  ไม่ต้องมีการปฏิวัติโดยประชาชนเช่นในกรณีประเทศจีนหรือรัสเซียจนพวกรวยๆ ต้องระเห็จไปอยู่ต่างประเทศจนไม่มีอะไรเหลือในที่สุด

อ่าน 1,681 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved