อ่าน 3,402 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 7/2550: 13 พฤศจิกายน 2550
สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยยังน่าเป็นห่วง

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ตามที่มีข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า “นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวหลังการประชุมร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และธนาคารโลก เกี่ยวกับรายงานการวัดผลความสะดวกในการประกอบธุรกิจประจำปี 2551 (Doing Business 2008) ซึ่งการสำรวจข้อมูลมีขึ้นระหว่างเดือน เม.ย. 2549-มิ.ย. 2550 จาก 178 ประเทศ และเขตเศรษฐกิจต่างๆ ว่า ธนาคารโลกได้ไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่สะดวกในการประกอบธุรกิจอันดับที่ 15 เลื่อนจากอันดับ 17 ในปีก่อน” (ไทยโพสต์ 13 พฤศจิกายน 2550) ผมได้ไปฟังการนำเสนอของทางธนาคารโลกเมื่อวานนี้เช่นกัน จึงขอเสนอความเห็นดังนี้:

          การที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 15 ยังเป็นสิ่งที่น่าสงสัยอยู่ กล่าวคือมีเพียงการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ที่ไทยอยู่อันดับที่ 12 นอกนั้นอยู่ต่ำกว่าอันดับที่ 15 ทั้งหมด (ตัวเลขในวงเล็บต่อไปนี้ แสดงอันดับที่) ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งกิจการ (36) การจ้างลูกจ้าง (49) การลงทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ (20) การเข้าถึงแหล่งทุน (36) การคุ้มครองนักลงทุน (33) การจ่ายภาษี (89) การค้ากับต่างประเทศ (50) การบังคับใช้สัญญา (26) การเลิกกิจการ (44)

          ผมเห็นว่ายังมีข้อผิดพลาดบางประการ เช่น การจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ที่บอกว่าใช้เวลา 2 วัน ความจริงใช้เวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมงด้วยซ้ำไป ส่วนการชดเชยกรณีให้ลูกจ้างออกจากงานที่อ้างว่าต้องจ่ายถึง 54 สัปดาห์ คงสูงเกินความเป็นจริง

ข้อเสนอแนะที่ทางธนาคารโลกนำเสนอให้ไทยปรับปรุงนั้นบางประการไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น
  1. เสนอให้ลดค่าธรรมเนียมการจัดตั้งบริษัททั้งที่ค่าจดทะเบียนเป็นเงินเพียง 5,000 บาท สำหรับบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านบาท และ 250,000 บาทสำหรับบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 50 ล้านขึ้นไป หรือประมาณ 0.5% ของทุนจดทะเบียน
  2. เสนอให้เก็บค่าธรรมเนียมต่ำ ทั้งที่ต่ำมากอยู่แล้ว และไม่เคยได้รับการร้องเรียนจากผู้ซื้อ-ขายทรัพย์สิน และประเทศไทยยังไม่มีภาระภาษีทรัพย์สินด้วยซ้ำ

          ในยามที่เศรษฐกิจฟื้นตัวสุดขีด เช่น ช่วงปี 2529-2534 สิ่งต่าง ๆ แทบไม่เป็นอุปสรรคเลย นักลงทุนจากต่างประเทศแห่เข้าไทยเป็นจำนวนมาก ยุคนั้นประเทศไทยห้ามคนต่างชาติซื้ออาคารชุด ก็ยังมีคนมากันมากมาย ทุกวันนี้แม้เวียดนาม เขมร ลาว อยู่ในอันดับประเทศที่ขาดความสะดวกในการลงทุน ก็ยังมีคนแห่ไปลงทุนในประเทศเหล่านี้มากมาย จนประเทศไทย “ห่อเหี่ยว” ไปถนัดตา

          ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ สาเหตุที่จะมีคนมาลงทุนในประเทศมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับ ประการแรก การมีค่าแรงถูก ประการที่สอง การมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ ประการที่สาม การมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย (หลายประเทศในอาฟริกา แม้มีประชากรมาก แต่ก็ขาดทรัพยากร จึงไม่มีใครไปลงทุน) และประการที่สี่ ความมั่นคงทางการเมือง

          ผมได้รับเชิญจากสมาคมนายธนาคารเพื่อการลงทุนของมาเลเซียเมื่อกลางปี 2550 ทางนายธนาคารที่นั่นเห็นว่า นับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในมาเลเซียและเวียดนามมากกว่ามาประเทศไทย ดังนั้นหากประเทศไทยไม่มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม หรือเกิดการรัฐประหารซ้ำหรือซ้อนใด ๆ ขึ้น ประเทศไทยก็คงมีผู้สนใจมาลงทุนน้อยลงไปอีกแม้อันดับความสะดวกในการประกอบธุรกิจจะอยู่ระดับต้น ๆ ก็ตาม

          เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมการนำเสนอผลการสำรวจการลงทุนข้ามชาติ (Foreign Direct Investment) ที่นำเสนอโดย อังถัด (UNCTAD: United Nations Conference on Trade And Development) ทราบว่า การลงทุนข้ามชาติสำคัญเป็นในภาคการขุดหาทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำมันและอื่น ๆ

          การลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์เป็นเพียงผลพลอยได้ ไม่ใช่เป็นประเด็นเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นการที่ไทยหรือประเทศไทยคิดจะอำนวยความสะดวกให้ต่างชาติมาครอบครองทรัพย์สินในไทยจึงไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้องแน่นอน

          อย่างไรก็ตามมีข่าวดีว่าเมื่อปี 2549 ประเทศไทยมีการลงทุนจากต่างชาติมากเป็นอันดับที่สองรองจากสิงคโปร์ น่าแปลกที่ประเทศสิงคโปร์มีขนาดเพียงหนึ่งในสามของกรุงเทพมหานคร กลับมีคนไปลงทุนมากกว่ามาไทย

          แต่ข่าวร้ายก็คือปี 2550 น่าจะไม่มีการลงทุนจากต่างชาติมากเช่นปี 2549 เพราะเมื่อปี 2549 ที่มีการลงทุนจากต่างชาติมาก นั้นเป็นผลจากการโอนหุ้นชินคอร์ป 73,000 ล้านบาท ปีนี้คงไม่มีกรณีการลงทุนข้ามชาติมากมายเช่นนี้อย่างแน่นอน


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved