กรณีหนึ่งที่นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความโปร่งใสของตน ก็คือการขายโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ เรามาลองตรวจสอบย้อนหลังกันดูว่ารัฐบาลของนายอานันท์ โปร่งใสจริงหรือไม่ ตั้งแต่ในประเด็นการรีบร้อนขาย การเลือกบริษัทประเมินราคา ราคาที่ขายเหมาะสมหรือไม่ และอื่นๆ ทั้งนี้ผู้เขียนได้นำข่าวคราวเกี่ยวกับไทยออยล์ในหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงที่ผ่านมา มาวิเคราะห์ประกอบ
ทำไมจึงรีบร้อนขาย
ประเด็นแรกที่มีผู้ตั้งคำถามมากที่สุดก็คือ ทำไมจึงรีบร้อนขาย ทำไมไม่รอรัฐบาลจากการเลือกตั้ง โดยถือเป็นการขายที่ "ฉุกละหุก" คือมีการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขายในวันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน 2535 (ปกติจะประชุมทุกวันอังคาร) แล้วในวันรุ่งขึ้น (ศุกร์ที่ 11 กันยายน 2535) ก็ทำสัญญาซื้อขายเรียบร้อย [1] ทั้งนี้ก่อนวันเลือกตั้งใหญ่ 13 กันยายน เพียง 2 วันเท่านั้น "โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานอัยการสูงสุดอันถือว่าไม่ได้รับความเห็นชอบจากทนายแผ่นดิน" [2] นี่จึงเป็นที่มาของคำครหา
สำหรับคำชี้แจงของนายอานันท์ก็คือ "ถ้าเผื่อว่าจะสงสัย มันก็สงสัยกันได้ทุกอย่างล่ะครับ...คือผมอยากเรียนข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งผมไม่แน่ใจว่าเราเข้าใจระบบวิธีการบริหารราชการแผ่นดินกันหรือไม่ อาจจะเป็นเพราะความเคยชินในอดีตหรือเปล่าผมไม่ทราบ แต่ผมรับประกันได้ว่า ในขณะที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรี . . . ผมนี่เป็นคนที่ไม่ใช้อำนาจเด็ดขาด ในเรื่องของการบริหารงาน ผมจะฟังเสียงทุกคน. . ." [3] คำชี้แจงที่มีผู้ถามว่าทำไมต้องขายนี้ ดูจะไม่เป็นเหตุเป็นผลเท่าที่ควร
วิธีการคัดเลือกบริษัทประเมิน
ในการคัดเลือกบริษัทประเมินนั้น "ให้กระทรวงอุตสาหกรรมคัด 1 ราย ไทยออยล์คัด 1 ราย และให้บริษัททั้งสองร่วมกับคณะกรรมการคัดเลือกสถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศอย่างละ 1 ราย" [4] ประเด็นที่พึงพิจารณาก็คือ
1. บริษัทที่ทำประเมิน ไม่ใช่บริษัทวิชาชีพประเมิน เป็นสถาบันการเงินหรือหน่วยงานอื่น ซึ่งคงไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้เป็นของตนเอง อาจไปว่าจ้างบริษัทประเมินจริง ๆ มาทำการประเมินให้ในนามหรือเปล่าก็ไม่อาจทราบได้
2. บริษัทประเมินค่าทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการประเมินโรงกลั่นในอังกฤษและสหรัฐอเมริกามีมากมาย แต่กลับไม่จ้าง อาจเป็นเพราะทางราชการไม่รู้จักวิชาชีพนี้ จึงจ้างสถาบันการเงินที่ไม่ได้ประกอบวิชาชีพนี้โดยตรงมาดำเนินการแทน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง
3. ยิ่งกว่านั้นการว่าจ้างบริษัทภัทรธนกิจซึ่งเป็นบริษัทในเครือกสิกรไทย และเกี่ยวพันกับนายเกษม จาติกวณิช [5] จึงไม่เป็นการสมควร แม้ราคาที่ประเมินได้จากบริษัทนี้จะสูง แต่ราคาจริงโดยบริษัทวิชาชีพประเมิน ก็ยังอาจสูงกว่านี้ก็เป็นได้ และยังไม่ใช่บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน
ราคาที่ประเมินเหมาะสมหรือไม่
ราคาที่ประเมินได้เฉพาะตัวโรงกลั่นคือ 200, 196, 140 และ 106 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ คณะกรรมการได้แล้วเอาสูงสุดและต่ำสุดออก เฉลี่ยได้ 168 ล้านเหรียญสหรัฐ วิธีการนี้ไม่เหมาะสมกับความเป็นจริง
1. ในการพิจารณารายงานประเมินค่าทรัพย์สิน ไม่ใช่พิจารณาแต่เฉพาะตัวเลขที่ประเมินได้ ความจริงควรดูที่มาที่ไปว่าเขาคำนวณอย่างไร มีอะไรน่าเชื่อถือหรือไม่ ให้มีการตอบคำถามและประชุมร่วมกันทุกฝ่าย [6]
2. ในแง่หนึ่งถ้าพิจารณาจากตัวเลขที่ปรากฏ จะเห็นได้เบื้องต้นว่าราคาที่ประเมินได้ใกล้เคียงกัน 2 บริษัทคือ 196 และ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็มีความเป็นไปได้ที่เป็นราคาที่แท้จริงที่น่าจะเกาะอยู่ในกลุ่มนี้มากกว่าตัวเลขที่แตกต่างออกไปที่ 140 และ 106 ล้านบาท ดังนั้นมูลค่าที่ประเมินได้น่าจะเป็น 198 ล้านบาท แทนที่จะเป็น 168 ล้านเหรียญสหรัฐหรือต่างกันถึง 30 ล้านเหรียญหรือ 758 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามนายอานันท์กลับสรุปเรื่องราคาประเมินว่า "ผลการประเมินราคาก็ต่ำ เราก็บอกว่าเราไม่ใช้ราคานั้นแล้ว เรามาได้ราคาหนึ่ง ซึ่งมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์คือ 8 พันกว่าล้านบาท" [3] กรณีนี้เป็นการบิดเบือนหรือไม่ ราคาที่ประเมินได้คือราคาตัวโรงกลั่น ส่วนราคาที่สูงกว่านั้นรวมค่าเช่าที่ดินและหลังจากหักค่าเสื่อม และราคาที่ซื้อจริงไม่ได้มากกว่าเกิน 100% ตามที่นายอานันท์อ้างแต่อย่างใด
ราคาที่ซื้อขายกันเหมาะสมหรือไม่
ราคาที่มีการซื้อขายกันสุดท้ายตีไว้ 348.64 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 8,803.16 ล้านบาท ซึ่งรวมค่าเช่าที่ดินโรงกลั่นตามสัญญาและค่าตัวโรงกลั่นที่ 1 และ 2 รวมทั้งส่วนควบอื่นๆ ราคานี้มีข้อน่าสงสัยคือ
1. ถ้านายวัฒนา อัศวเหมซึ่งในขณะนั้นเสนอซื้อ 15,000 ล้านบาท จะได้แต่เครื่องและให้ย้ายออกในเวลา 6 เดือน [5] ทั้งที่ๆ ไทยออยล์ซื้อ รวมค่าเช่าที่ดินและส่วนควบอื่น การตอบโต้ของนายเกษมเช่นนี้แสดงถึงการมีเลศนัย ไม่โปร่งใสหรือไม่
2. ถ้านิติบุคคลอื่นเสนอซื้อที่ 15,000 ล้านบาท จะได้เฉพาะตัวโรงงานแล้วให้รื้อไป ใช้ท่าเรือก็ไม่ได้ แสดงว่าการที่อยู่ติดตรึงกับไทยออยล์ มีมูลค่ามากกว่านี้ใช่หรือไม่ [7] [8]
3. ในการหักค่าเสื่อมอาคารจนเป็นมูลค่าซากนั้น เป็นการหักโดยไม่คำนึงถึงอายุขัยทางเศรษฐกิจซึ่งน่าจะสูงล้ำกว่าอายุขัยทางกายภาพหรือไม่ อาคารโรงกลั่น ซึ่งได้รับการบำรุงรักษาอย่างดีเพื่อให้ใช้งานได้ น่าจะมีอายุขัยในการใช้งานนานกว่าและมีมูลค่ามากกว่าที่คาดไว้หรือไม่
จะเห็นได้ว่าไทยออยล์ได้ประโยชน์เพิ่มเติมหลังจากการซื้อโรงกลั่น ถือเป็น Goodwill ตามรายงานของไทยออยล์เองก็กล่าวว่า "ภายหลังจากการขยายกิจการโรงกลั่นน้ำมันครั้งที่ 2 เป็นที่เรียบร้อยในปี 2536 โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทฯ กลายเป็นโรงกลั่นน้ำมันเดี่ยว (Single-Site) ที่ใหญ่ที่สุด และเป็นโรงกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์ (Complex Refinery) ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ ด้วยกำลังการกลั่นน้ำมันดิบถึง 190,000 บาร์เรลต่อวัน" [9] เป็นการเพิ่มมูลค่าขึ้นซึ่งรัฐบาลไม่ได้มีส่วนได้ด้วย
ที่ดินที่เช่าจากกรมธนารักษ์ ซุกหรือไม่
ตามข่าวที่รวบรวมไว้ มีผู้ถามว่าในเมื่อสัญญาเช่าที่ดินโรงกลั่นจะหมดลงในอีก 8 ปีข้างหน้า ทำไมรัฐบาลไม่จัดประมูลใหม่ ทำไม่ไม่ขายให้คนอื่นมาดำเนินการ ทำไมรัฐบาลโดย ปตท และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่แล้ว ทำไมให้ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยมาบริหารไทยออยล์ [10] ข้อนี้อาจยังข้อสงสัยเรื่องความโปร่งใสต่อสังคมอยู่พอสมควร
แต่ประเด็นหลักที่น่าสนใจก็คือ การที่กรมธนารักษ์ให้เช่าที่ดินแก่ไทยออยล์อีก 30 ปีนับแต่นั้นและจะหมดอายุในปี 2565 มีค่าเช่าเท่าไหร่ไม่เป็นที่เปิดเผย มีใครไปประเมินค่าทรัพย์สินอย่างเป็นธรรมเป็นที่ยอมรับและเปิดเผยต่อสังคมหรือไม่ ข้อนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการเช่าระยะยาว และเป็นที่ตั้งโรงกลั่นสำคัญซึ่งมีมูลค่าสูง ไม่ใช่การเช่าที่ราชพัสดุสำหรับการทำนา ทำสวน มูลค่าที่เช่านี้น่าจะสูงมาก แต่ไม่ได้อยู่ในจำนวนเงิน 8,803.16 ล้านบาทที่ขายโรงกลั่นไป นี่อาจถือเป็นประเด็นสำคัญของความไม่โปร่งใสของนายอานันท์หรือไม่
นอกจากนั้นยังมีข้อพึงพิจารณาว่า จริงหรือไม่ที่รัฐบาลอานันท์เอื้อประโยชน์ให้กับไทยออยล์ โดยนายอานันท์สั่งให้กระทรวงคมนาคมลดอาณาเขตน่านน้ำท่าเรือแหลมฉะบังลงจาก 80 ตารางกิโลเมตรเหลือ 40 ตารางกิโลเมตรทำให้ท่าเรือไทยออย์ไม่ต้องจ่ายค่าผ่านให้กรมเจ้าท่า [7] เป็นการลดรายจ่ายให้กับไทยออยล์ หรือกรณีที่ทำไมไทยออยล์จึงตระเตรียมเงินซื้อเกือบหมื่นล้านบาทได้ทันที ทั้งนี้ไทยออยล์อ้างว่าเป็นเงินสำรองไว้เพื่อซื้อน้ำมันและเพื่อลงทุนในหน่วยกลั่นที่ 4 ซึ่งข้ออ้างเหล่านี้คงพิสูจน์ได้ยาก [11]
บทสรุปของความโปร่งใสหรือขมุกขมัว?
ข้อน่าสังเกตหนึ่งก็คือรัฐมนตรีของนายอานันท์ปกป้องไทยออยล์หรือไม่ เช่น นายวีระ สุสังกรกาญจน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการอุตสาหกรรมที่ได้ชื่อว่ามีประวัติซื่อสัตย์คนหนึ่งกล่าวว่า โรงกลั่นนี้ไม่ใช่ของรัฐ แต่ไทยออยล์สร้างแต่ให้รัฐเมื่อครบสัญญาโดยรัฐไม่ต้องเสียอะไรเลย [4] การกล่าวเช่นนี้อาจดูคล้ายถูกต้องแต่ผิดถนัด เพราะตามกฎหมาย บรรดาอาคารทั้งหลายที่ก่อสร้างบนที่ดินเช่าระยะยาว ย่อมต้องตกเป็นของเจ้าของที่ดินเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า (เว้นแต่จะมีการทำสัญญาเป็นอื่น) ท่านรัฐมนตรีผู้ซื่อสัตย์กลับมองว่าเป็นทรัพย์สินของไทยออยล์
ส่วนนายเกษมชี้แจงเรื่องความโปร่งใสว่า "คนที่คิดว่าไม่โปร่งใสก็คงจะเป็นการดูถูกการทำงานของ 2 ปลัดกระทรวงกับ 5 รัฐมนตรีเป็นแน่" [11] ถือเป็นการชี้แจงที่ดู "กำปั้นทุบดิน" ไม่เป็นเหตุเป็นผลเท่าที่ควร เป็นการอ้างตัวบุคคลมาเฉย ๆ เข้าทำนอง "อมพระมาพูด" หรือไม่ ยิ่งกว่านั้นนายเกษมยังกล่าวว่า "วันเซ็นสัญญาก็ออกข่าวไปทั่วประเทศ ไม่มีอะไรปกปิด แล้วจะว่าดำเนินการไม่โปร่งใสอย่างไร" [12] ซึ่งการออกข่าวไม่ได้แสดงถึงความโปร่งใสแต่อย่างใด
เรื่องนี้ผ่านไป 22 ปีแล้ว แต่ยังมีผู้กังขาอยู่ ผู้เขียนจึงได้รวบรวมหลักฐานจากข่าวคราวเหล่านี้มานำเสนอ ส่วนจะมีข้อสรุปเป็นอย่างไรคงต้องมีหลักฐานที่แน่ชัดมากกว่าข่าวที่ปรากฏ และคงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน เพียงแต่ผู้เขียนให้ข้อสังเกตไว้ถึงความไม่สมเหตุสมผลบางประการเท่านั้น
อ้างอิง
[1] สภายันกัดไม่ปล่อย ขายไทยออยล์ฉาว วัฒนาท้ารับซื้อเอง/ย้ำการซื้อขายมีพิรุธเหมือนฮั้ว สยามรัฐ 9 ก.พ.36 น.3.
[2] แฉขายไทยออยล์กลิ่นฉึ่ง มวลชน-ชาติไทยตามเช็ดรัฐบาลอานันท์/เป้าถล่ม'สิปปนนท์' สยามรัฐ 3 ธ.ค.35 น.3.
[3] อานันท์ ปันยารชุน เคลียร์ข้อกล่าวหา'ไม่โปร่งใส'กรณีขายโรงกลั่นอื้อฉาว 8,500 ล้าน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ 39,47 (25 เม.ย.-1 พ.ค.36) 10-11.
[4] พลิกแฟ้ม'โรงกลั่นไทยออยล์' นักการเมืองไร้กึ๋น ฤาอานันท์ไม่โปร่งใส ประชาชาติธุรกิจ 18-20 ก.พ.36 น.12.
[5] เกทัพวัฒนาซื้อไทยออยล์ 1.5 หมื่นล้าน ได้แต่เครื่อง ฐานเศรษฐกิจ 11-13 ก.พ.36 น.1.
[6] กิตติ พัฒนพงศ์พิบูล. รายงานประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ อย่าดูเพียงบันทัดสุดท้าย. www.thaiappraisal.org/thai/standard/standard04.htm
[7] 'ซูเปอร์เค'รับคำท้าทายฝ่ายค้าน พร้อมขายโรงกลั่นไทยออยล์ 1.5 หมื่นล./แถมกลั่นน้ำมันให้อีก 6 เดือน สยามรัฐ 10 ก.พ.36 น.3.
[8] วัฒนาเร่งเครื่องไม่แตะเบรก กลับคำไทยออยล์เน่าไม่ซื้อ สยามรัฐ 11 ก.พ.36 น.16.
[9] ส่วนที่ 4 การรับรองความถูกต้องของข้อมูล capital.sec.or.th/webapp/corp_fin/datafile/56/20080799T05.DOC
[10] วัฒนายันเอาจริงซื้อไทยออยล์ 1.5 หมื่นล้าน สยามรัฐ 10 มี.ค.36 น.2.
[11] ไทยออยล์ขายโรงกลั่น ใครเงินหนายินดีขาย สยามรัฐ 6 ก.พ.36 น.7.
[12] 'ซูเปอร์เค'-ไขปริศนาเรื่องวุ่น ๆ ทำไมต้องซื้อ-ขายโรงกลั่น? ประชาชาติธุรกิจ 7-10 ก.พ.36 น.35.
[13] ปตท.ติงหนี้'ไทยออยล์'อุปสรรคหลักแผนจ้างกลั่น ผู้จัดการรายวัน 26 ก.พ.42 น.5.
[14] เกษม จาติกวณิช นำไทยออยล์สู้ศึกโรงกลั่นเสรี ธุรกิจก้าวหน้า 6,69 (เม.ย.37) 86-92.
[15] เบื้องลึกวิวาทะ'เกษม-วัฒนา' ประชาชาติธุรกิจ 18-20 ก.พ.36 น.12.
[16] เลหลังโรงกลั่นไทยออยล์ ใคร? ได้ประโยชน์ ฐานเศรษฐกิจ 11-13 ก.พ.36 น.22.
[17] อวสาน ซูเปอร์เค? ผู้จัดการรายสัปดาห์ 15-21 ก.พ.36 น.1.
[18] ไทยออยล์: ตำนานน้ำมันไทยที่ควรจดจำ http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=1457 .
หมายเหตุ:
เป็นบทความเดิมที่เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2557 ลงใน "ประชาไท" เมื่อปี 2537 ตาม link นี้: https://prachatai.com/journal/2014/09/55328