ผมมีโอกาสไปเป็นวิทยากรในการประชุมนานาชาติด้านการประเมินค่าทรัพย์สินพร้อมทั้งบรรยายให้นักศึกษาปริญญาเอกแห่งมหาวิทยาลัยเซียะเหมิน ประเทศจีนฟังเรื่องภาษีทรัพย์สินและอสังหาริมทรัพย์อาเซียนเมื่อวันที่ 8-9 พฤศจิกายน ศกนี้ วันนี้เลยขออนุญาตเล่าให้ฟังถึงสิ่งดี ๆ ที่ได้เรียนรู้มาจากนครแห่งนี้ เพื่อที่ไทยเราจะได้เลือก "เอาเยี่ยงกา" แต่ใช่ต้อง "เอาอย่างกา" ไปเสียทุกเรื่อง
การจัดการขยะที่ดีอย่างหนึ่งก็คือ ในร้านสะดวกซื้อทั้งหลาย จะไม่มีถุง "ก๊อบแก๊บ" ให้ ถ้าใครจะเอาก็ต้องเสียเงินประมาณ 2.5 บาท นอกจากนี้บรรดา ถังน้ำพลาสติก ขันพลาสติก หรืออะไรที่ทำด้วยพลาสติกจะมีราคาแพงเป็นพิเศษ เพราะรัฐบาลเก็บภาษีสูงเพื่อรณรงค์ให้คนใช้ให้น้อยลงนั่นเอง กรณีนี้ที่ปีนังที่ผมไปบรรยายมาก่อนหน้าก็เช่นกัน เขาไม่ต้องการให้ขยะล้นเมืองนั่นเอง
ตามชายหาด ไม่มีร่มและเก้าอี้ผ้าใบริมหาดเกะกะรกรุงรังเต็มไปหมดเช่นประเทศไทย เพราะเขาถือว่าชายหาดเป็นที่สาธารณะจริง ๆ จะให้ใครรุกไปทำมาหากินส่วนตัวไม่ได้ เพราะจะสร้างความอยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ข้อนี้ทำให้นึกถึงหาดบางแสน พัทยา หัวหิน ฯลฯ ที่มักถูกกลุ่มผู้มีอิทธิพลครอบครองที่ชายหาดอย่างผิดกฎหมาย โดยที่บรรดาส่วนราชการและเหล่า "คนดี" ในสังคมได้แต่ทำตาปริบๆ
นักศึกษาปริญญาเอกคนไทยคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า การแข่งขันสูงในการศึกษาสูงมาก ต่างคนต่างมุ่งศึกษากันอย่างจริงจัง ไม่มีเวลามานั่งติวกันเหมือนในประเทศไทย ทุกคนมุ่งหวังว่าจบไปจะได้สร้างฐานะที่ดีในวันหน้า กรณีนี้ดูประหนึ่งการเห็นแก่ตัวเองเป็นสำคัญ แต่ทุกคนต้องพยายามเรียนให้ได้ดี เพราะเป็นความหวังเดียวของครอบครัว เนื่องจากแต่ละครอบครัวถูกจำกัดให้มีลูกเพียงคนเดียว ภาระในการสร้างครอบครัวจึงตกอยู่กับเด็กเป็นอย่างมาก
รองศาสตราจารย์ด้านการประเมินค่าทรัพย์สินแห่งหนึ่งบอกกับผมว่า นโยบายลูกคนเดียวของจีนบังคับใช้อย่างศักดิ์สิทธิ์มาก ถ้ารับราชการอยู่แล้วเกิดมีลูกคนที่สองออกมา บุคคลนั้น ๆ จะต้องออกจากราชการ เพราะถือว่าขัดนโยบาย ในการบริหารสังคม เราจึงต้องยึดถือกฎเกณฑ์เป็นที่ตั้ง จะอะลุ่มอล่วย เออออห่อหมกไปเรื่อยก็คงกลายเป็นสังคมหลวม เช่นการบุกรุกทำลายป่ากันมากมายในไทย เพราะถือคติว่าคนอื่นทำได้ เราก็ทำได้นั่นเอง
แม้แต่การเลี้ยงสุนัข ก็ยังต้องเสียค่าใบอนุญาตมีสุนัข คิดเป็นเงินไม่น้อยเลยทีเดียว คือประมาณ 4,000 บาท นอกจากนั้นยังมีค่าธรรมเนียมรายปีอีกเป็นเงินประมาณ 1,000 บาททุกปี เวลาพาสุนัขออกไปเที่ยวเล่น ก็ต้องมีสายโซ่และดูแลอย่างดี ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินชาวอเมริกันท่านหนึ่งซึ่งได้อยู่ในประเทศจีนมานานนับปีแล้วให้ข้อสังเกตว่า สุนัขในจีนมีนิสัยค่อนข้างดี แทบไม่เคยมีเสียงเห่าดังๆ แม้จะอยู่ในอาคารชุดก็ตาม
สำหรับบัณฑิตปริญญาตรีของจีนจะได้รับเงินเดือนพอ ๆ กับไทยคือประมาณ 15,000 บาท ยิ่งถ้าเป็นนครใหญ่ๆ ยิ่งจะได้เงินเดือนมากถึง 25,000 บาท อาชีพสำคัญที่นักศึกษาใฝ่ฝันคือการรับราชการ เพราะรายได้ไม่แพ้ภาคเอกชน มีความมั่นคงสูง ในแต่ละปีจึงมีการสอบ "จอหงวน" เพื่อแข่งขันกันเข้าทำงานราชการ คนทำราชการจึง ไม่ใช่คนไม่มีที่ไป โดยนัยนี้ประเทศจีนจึงได้คนคุณภาพมาช่วยพัฒนาประเทศเป็นจำนวนมาก
นครเซียะเหมินมีภูเขาใหญ่น้อยเต็มไปหมด ถ้าดูจากแผนที่จะพบว่าบนภูเขา เขาได้ทำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำไว้เต็มไปหมด เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ คนเราต้องดัดแปลงธรรมชาติเพื่อความผาสุกของสังคม การดัดแปลงเช่นนี้ไม่ใช่การทำลายธรรมชาติ ยิ่งมีเขื่อนมาก ยิ่งทำให้สัตว์ ป่า และคนได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืนจากการมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นนั่นเอง
สำหรับทางด่วนหรือถนนนั้น มีการขุดอุโมงก์ลอดใต้ภูเขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งนี่ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งของการดัดแปลงธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีการสร้างทางพิเศษ ล้ำลงไปจากชายหาดเข้าไปในทะเลอีกด้วย ถ้าเป็นในประเทศไทยคงถูกพวก NGOs ต่อต้านหาว่าเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ปรากฏว่าเมื่อสร้างแล้ว นอกจากไม่ได้ทำให้อะไรเสียหายแล้ว ยังทำให้มีการคมนาคมที่สะดวกยิ่งขึ้น เมืองน่าอยู่มากขึ้น เราจึงไม่พึง "ตื่นตูม" ตาม NGOs ท่าเดียว
เรื่องโศกนาฏกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้เป็นข่าวชาวบ้านที่หญิงคนหนึ่งจับได้ว่าแฟนชายที่คบกันมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา กำลังจะขอแยกทางเพราะชายได้พบหญิงคนใหม่ในที่ทำงาน หญิงเลยชวนชายมาตกลงกันที่ห้องพักของตนแต่ก็ไม่อาจหาข้อสรุป บังเอิญชายผลอยหลับไป จึงถูกหญิงจ้วงแทงไปหลายแผลจนเสียชีวิต สุดท้ายหญิงก็ถูกศาลตัดสินประหารชีวิตและสำเร็จโทษไปเรียบร้อยแล้ว ที่นี่ไม่มีระบบสารภาพครึ่ง ไม่เคยทำผิดก็ลดอีก อยู่คุกสักพัก ก็ลดฮวบๆ อีก ไม่กี่ปีก็พ้นโทษเช่นประเทศไทย
ใช่ว่าเซียะเหมินจะมีอะไรดีไปหมดนะครับ ที่แย่ก็มี แต่เราควรเรียนรู้ข้อดีมาพัฒนาชาติไทยของเรา
ภาพที่ 1: ดร.โสภณ พรโชคชัย ไปเป็นวิทยากรในงานประชุมนานาชาติประเมินค่าทรัพย์สินที่นครเซียะเหมิน
ภาพที่ 2: สังเกตบนภูเขาในนครเซียะเหมิน มีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเต็มไปหมด ดัดแปลงธรรมชาติเพื่อมนุษยชาติ
ภาพที่ 3: การสร้างทางพิเศษลงในชายหาดโดยไม่ต้องเกรงการทำลายสิ่งแวดล้อมตามคำขู่แบบ NGOs ไทยๆ