อ่าน 3,224 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 168/2556: 2 ธันวาคม 2556
ผังเมือง เรียนจากสะหวันเขตก็พอ

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ปกติผมมักจะเขียนเรื่องการเรียนรู้จากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศตะวันตกชั้นนำ หรือประเทศมหาอำนาจเช่นจีน ญี่ปุ่น แต่วันนี้ผมขอชักชวนทุกท่านมาเรียนรู้เรื่องผังเมืองแม้กระทั่งจากลาว บ้านพี่เมืองน้องของไทยเอง
          กฎหมายผังเมืองของไทยมีขึ้นเมื่อ 61 ปีที่แล้ว แต่ทุกอย่างเชื่องช้าเหลือเกิน เมืองแทบไม่มีการวางผัง วางแผนเอาเสียเลย ในขณะที่ผมได้มีโอกาสข้ามไปฝั่งลาวเป็นระยะ ๆ ไปบรรยายบ้าง พาคณะไปดูงานบ้าง ติดต่อกระทรวงการคลังลาวบ้าง ท่องเที่ยวบ้าง มีหลายอย่างที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากลาว โดยเฉพาะเรื่องผังเมือง
          ถ้าเราดูภาพ 2 ภาพซึ่งเป็นแผนที่ของเมืองสองเมืองของไทยและลาวต่อไปนี้ จะเห็นได้ว่าถนนหนทางในเมือง ไกสอนพมวิหานในแขวงสะหวันนะเขตนั้น ดูจะมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยกว่าฝั่งตัวจังหวัดมุกดาหารของไทย ที่จัดสรรกันตามยถากรรม ขาดการวางผังเมืองให้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร


ภาพที่ 1: เมืองไกสอนพมวิหาน สะหวันเขตของลาว (ขวา) กับจังหวัดมุกดาหารของไทย (ซ้าย)


ภาพที่ 2: สังเกตได้ว่าเมืองไกสอนพมวิหาน แขวงสะหวันเขตมีการวางผังเมืองเป็นระเบียบกว่ามุกดาหารเป็นอย่างมาก

          แขวงสะหวันเขตเนื้อที่ 21,774 ตารางกิโลเมตร หรือ 14 เท่าของกรุงเทพมหานคร แบ่งการปกครองเป็น 15 เมือง โดยเมืองไกสอนพมวิหาน เป็นเมืองหลัก ประชากรในแขวงนี้ถือว่ามีมากที่สุดในประเทศ คือ 916,948 คน จุดเด่นของแขวง คือเศรษฐกิจขยายตัวสูงถึง 12.5% ในปี 2554 มีสะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร - สะหวันนะเขต) เป็นจุดเชื่อม รัฐบาลลาวประกาศโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน เป็นเขตส่งเสริมการลงทุนแห่งแรกในลาว  แขวงสะหวันนะเขตมีธุรกรรมทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับสองรองจากเวียงจันทน์และยังมีสถานกาสิโน (Savan Vegas Hotel and Casino) {1}


ภาพที่ 3: นิคมอุตสาหกรรมฝั่งสะหวันเขตมีความคึกคักมาก แต่มุกดาหารฝั่งไทย กลับไม่สามารถตั้งนิคมฯ ได้

          ผังเมืองลาวโดยเฉพาะที่กรุงเวียงจันทน์นั้นวางตั้งแต่ พ.ศ.2448 หรือในสมัยรัชกาลที่ 5 ผังเมืองรวมและผังเมืองเฉพาะของลาวนั้นกำหนดให้ใจกลางเมืองสามารถสร้างได้ประมาณ 75% เขตต่อเมืองสร้างได้ 60% และเขตนอกเมืองสร้างได้ไม่เกิน 50% ของพื้นที่ดิน ส่วนความสูงก็ไล่สูงจากในเมือง และค่อย ๆ ต่ำในเขตนอกเมือง ข้อนี้อาจแตกต่างจากไทยที่ไม่พยายามให้สร้างสูง ๆ มาก ๆ ในใจกลางเมือง โดยอ้างว่ากลัวไฟไหม้ กลัวแออัด แต่ไม่ได้คำนึงถึงความยากลำบากในการเดินทาง ความสิ้นเปลือง การขยายสาธารณูปโภคอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และการเพิ่มโลกร้อนจากการเดินทาง เป็นต้น
          ผังเมืองของลาวนั้นมีแผนจะวางให้ทั่วจนถึงปี พ.ศ.2563 โดยเริ่มที่เมืองที่ยังไม่มีผังเมืองดีพอก่อน แล้วค่อยๆ ขยายไปเมืองอื่น ๆ ต่อไป โดยมีเจ้าหน้าที่รวมกันเกือบ 1,000 คนในการดำเนินการวางผังเมือง ทั้งนี้เป็นเจ้าหน้าที่ถาวรเพียง 400 คน นอกนั้นจ้างตามสัญญา ดังนั้นองค์กรจึงไม่อุ้ยอ้ายและแบกรับภาระการเลี้ยงดูเจ้าหน้าที่ และมุ่งให้เกิดผลในการวางผังโดยตรง
          กระทรวงคมนาคม ขนส่ง ไปรษณีย์และการก่อสร้างเป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งมีสำนักงานภูมิภาค และท้องถิ่น ของกระทรวงนี้เป็นผู้วางผังเมือง และมีองค์กรการพัฒนาเมืองให้เป็นไปตามแผน ไม่ใช่แบบไทย ๆ ที่ฝ่ายวางแผนก็วางไปทางหนึ่ง ฝ่ายปฏิบัติที่มีหลายหน่วยงานก็ต่างคนต่างไป ผังเมืองกลายเป็นเพียงการเขียนของหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งแม้จะเชิญหน่วยงานต่าง ๆ มาฟังด้วย แต่ก็ไม่ถือเป็นแผนแม่บทหรือ Master Plan ของหน่วยงานอื่นใด แม้แต่ในกรุงเทพมหานครเอง สำนักผังเมืองและสำนักการโยธาก็ยังอาจไม่ได้มีแผนประสานงานกัน
          สำหรับโครงสร้างของกระทรวงคมนาคมฯ ของลาวนั้น ประกอบด้วยกรมที่อยู่อาศัยและการผังเมือง กรมทางหลวง กรมการบินพาณิชย์ กรมการขนส่ง กรมไปรษณีย์และการสื่อสาร กรมวางแผนและการเงิน สำนักวิจัยที่ดิน เป็นต้น หน่วยงานเหล่านี้เป็นหน่วยงานหลัก ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับผังเมือง จึงทำให้ผังเมืองที่ออกมามีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่ใช่ฝ่ายวางแผนก็วางไป ส่วนฝ่ายปฏิบัติการก็ทำของตัวเองไปโดยไม่ประสานกัน เราต้องเรียนรู้การประสานองค์กรจากลาวแล้วหรือไม่ เพราะของไทยนี่ต่างคนต่างใหญ่ ต่างมีทิฐิ
          การผังเมืองจำเป็นต้องมีการตัดถนนใหม่ ซื้อที่ดินมาทำถนนและสร้างบ้านแปงเมือง ไม่ใช่เพียงแค่การปล่อยให้มีการพัฒนาไปตามถนนหนทางเดิม การเวนคืนจำเป็นต้องจ่ายค่าทดแทนให้เหมาะสม ไม่ใช่จ่ายต่ำ ๆ ตามราคาประเมินทางราชการ และต้องได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้โครงการล่าช้า ส่วนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ของผังเมืองรวมนั้น ก็จะต้องจัดวางล่วงหน้า โดยเฉพาะในส่วนนิคมอุตสาหรรม ก็ควรจัดเตรียมพื้นทื่ให้เรียบร้อย ทั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และนิคม SMEs เป็นต้น
          ลาวออกกฎหมายได้รวดเร็วเฉกเช่นประเทศแทบทุกประเทศยกเว้นไทยก็ว่าได้ เช่นการทำผังเมืองนั้นเกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายที่ดิน พรบ.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ พรบ.การผังเมือง ก็สามารถผ่านรัฐสภาได้ แต่กฎหมายไทยออกช้ามาก และกฎหมายไม่ทันสมัยเอาเสียเลย นอกจากนี้ลาวยังมีประกาศกระทรวงเช่น การสำรวจรังวัด การจัดตั้งองค์กรพัฒนาที่ดินเมือง ระเบียบการเวนคืน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น เพื่อให้การผังเมือง
          ย้อนกลับมาดูจังหวัดมุกดาหารของไทย เพิ่งมีผังเมืองฉบับแรกเมื่อ พ.ศ.2529 หรือ 34 ปีหลังจากไทยมีกฎหมายผังเมืองเมื่อ พ.ศ.2495 และเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2556 ผังเมืองก็หมดอายุลงเสียแล้ว อย่างไรก็ตาม ก็ยังสามารถต่ออายุได้ 2 ครั้ง ๆ ละ 1 ปี จะสังเกตได้ว่าผังเมืองไทยนั้นมีอยู่ราว 190 ผัง หมดอายุไปแล้ว 95 ผัง หรือครึ่งหนึ่ง นี่แสดงว่าการวางผังเมืองไทยยังขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นอย่างมาก
          เราคงต้องน้อมใจเรียนรู้จากลาวบ้างแล้วครับ อย่าคิดเพียงว่าเราเป็นพี่เอื้อย เราเป็นพี่ เขาเป็นน้อง จริงๆ ข้าราชการลาวเขาถือว่าลาวกับเวียดนามเป็นพี่น้องกัน หรือข้าราชการเขมร ก็ถือว่าเขมรกับเวียดนามเป็นพี่น้องกัน ร่วมรบกันมา ส่วนไทยนั้น พวกเขายังจำได้ว่าเป็นฐานทิ้งระเบิดใส่เขาเมื่อ 30 ปีก่อน!
          การปรับปรุงข้อกฎหมาย การออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย การวางแผนระยะยาว การประสานแผนและประสานการปฏิบัติการ สิ่งเหล่านี้ลาวไม่ได้คิดเอง แต่เรียนรู้ โดยเฉพาะเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของไทย แต่เขามีองคาพยพที่มีประสิทธิภาพ ในขณะที่ไทยยังตีกันอยู่ และต่างคนต่างใหญ่ ตราบเท่าที่ความก้าวหน้าของเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้อยู่ที่ผลงาน แต่อยู่ที่ "ด.ว.ง." คือ "ด. เด็กใคร ว. วิ่งหรือไม่ และ ง. เงินถึงหรือเปล่า" ตราบนั้นการคิดจะทำรัฐกิจให้ก้าวหน้าจึงเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม และไม่แน่ว่าวันดีคืนร้ายในไม่ช้านี้ เพื่อนบ้านจะค่อย ๆ แซงเราไปทีละราย
          อย่าให้ประเทศชาติเศร้าหมอง ต้องช่วยกันศึกษาเรียนรู้จากทั่วโลกเพื่อรับใช้ไทย น้อมใจเรียนรู้แม้กระทั่งจากลาว!!!

ที่มา:
{1} ข้อมูลจาก www.thaisavannakhet.com/savannakhet/th/data-service/sub-savannakhet/sawannaket
{2} ข้อมูลจาก Study on Urban Land Management and Planning in Lao PDR. Land Policy Study No. 5 under LLTP II Sponsored by: Lao-German Land Policy Development Project (German Contribution to the Lao Land Titling Project II in Lao PDR) Land Policy Study No. 10 under LLTP II: http://www2.gtz.de/dokumente/bib/07-1646.pdf


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2025 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved