ท่ามกลางการร้องแรกแหกกระเชอของผู้เกี่ยวข้องในวงการอสังหาริมทรัพย์ที่กระตือรือล้นอยากให้ต่างชาติมาซื้อบ้านในประเทศไทย โดยกล่าวว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังย่ำแย่ แต่ปรากฏว่าตลาดที่แท้กำลังบูมหนักต่างหาก
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่าจากการสำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เปิดใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ปรากฏว่า จำนวนโครงการเปิดใหม่เกิดขึ้นอย่างคึกคักเป็นอย่างยิ่ง ดังปรากฏตามตารางต่อไปนี้
จำนวนอสังหาริมทรัพย์ที่เปิดตัวในเดือนพฤศจิกายนของปีนี้เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาจะพบว่า ในปีนี้มีจำนวนโครงการเปิดใหม่ลดลงจากปีที่ผ่านจำนวน 7 โครงการ (ปีที่ผ่านมามีจำนวน 52 โครงการ) มีจำนวนหน่วยขายลดลง 182 หน่วย หรือ -1.5% (ปีที่ผ่านมามีหน่วยขาย 12,062 หน่วย) แต่มีมูลค่าโครงการมากกว่า 12,323 ล้านบาท หรือเพิ่ม 25.9% (ปีที่ผ่านมามีจำนวน 47,637 ล้านบาท)
และเมื่อเปรียบเทียบจำนวนโครงการที่เปิดใหม่ 11 เดือนแรก 2565 มีจำนวนโครงการเปิดใหม่รวม 387 โครงการ มากกว่า 11 เดือนแรก 2564 จำนวน 105 โครงการ หรือเพิ่มขึ้น 37.2% (11 เดือนแรก 2564 มีจำนวน 282 โครงการ) มีมูลค่าโครงการรวม 441,463 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 177,667 ล้านบาท หรือ 67.4% (11 เดือนแรก 2564 มีมูลค่า 263,796 ล้านบาท) มีจำนวนหน่วยขายรวม 100,417 หน่วย เพิ่มขึ้น 43,391 หน่วย หรือเพิ่ม 76.1% (11 เดือนแรก 2564 มีจำนวน 57,026 หน่วย)
ดร.โสภณ ประมาณการว่าจำนวนโครงการที่เปิดใหม่ทั้งปีในปี 2565 อาจมีจำนวนโครงการเปิดใหม่รวม 430 โครงการ รวมจำนวน 111,740 หน่วย มีมูลค่าโครงการรวม 480,000 หรือมีราคาเฉลี่ยสูงถึง 4.296 ล้านบาท ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มการเปิดตัวโครงการใหม่ที่มากกว่าปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะยังคงอยู่ แต่เมื่อมีการเปิดประเทศ มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมภายในประเทศ จึงส่งผลให้ผู้ประกอบพากันกลับมาเปิดตัวโครงการใหม่กันอย่างคึกคักอีกครั้ง
ข้ออ้างที่ว่าหากไม่มีต่างชาติมาช่วยซื้ออสังหาริมทรัพย์ จะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ หรืออ้างว่าหากต่างชาติมาซื้อมากๆ ก็จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น นี่ประเทศไทยของเรายังไม่ได้ให้ต่างชาติซื้อมากมาย และจีนก็ยังเข้ามาในไทยไม่มากนัก ก็ยังมีกำลังซื้อในประเทศอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน การอ้างว่ามีความต้องการกำลังซื้อจากต่างประเทศมาทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นจึงเป็นข้ออ้างที่ไม่จริง
จากการนี้คาดว่าในปี 2566 ตลาดจะเติบโตยิ่งขึ้นไปอีก โดยน่าจะเติบโตกว่าปี 2565 อีก 5-10% อย่างไรก็ตามในปี 2567 อาจก่อให้เกิดฟองสบู่อย่างชัดเจน และฟองสบู่อาจแตกในปี 2568 ก็เป็นได้ ผู้เกี่ยวข้องพึงสังวร
อ้างอิง: บทความนี้เคยลงใน The Leader Asia https://theleaderasia.com/?p=25019