ทวงคืนผืนป่า เมืองนอกตีค่าป่ากันอย่างไร
  AREA แถลง ฉบับที่ 068/2566: วันอังคารที่ 24 มกราคม 2566

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4


 

            เราคงเคยได้ยินวาทกรรม “ทวงคืนผืนป่า”  มานานแล้ว แต่เชื่อว่าป่าไม้ไทยมีแต่นับวันจะหมดตัวลง ที่มีตัวเลขเหลืออยู่มากมายอาจเป็นเพียงแค่ตัวเลขเท่านั้น ก่อนที่จะทวงคืนอะไร เราต้องรู้มูลค่าก่อน จะได้รักและหวงแหนอย่างแท้จริง เมืองนอกเขาตีค่าป่าไม้กันอย่างไร มาศึกษากันให้ชัดๆ

            ก่อนอื่นมาดูสถานการณ์ในไทยเสียก่อน โดยคุณชุลีพร บุตรโคตร ได้เขียนไว้ในบทความชื่อ “‘ยุทธการทวงคืนผืนป่า’ ปัญหาไก่กับไข่ ชาวบ้านรุกที่รัฐหรือที่รัฐทับที่ชาวบ้าน” (https://bit.ly/3CisaPA) โดยระบุว่า “ภายหลังการเข้ายึดอำนาจ. . .(คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557. . .คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64 เรื่องการปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก. . .แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ทำให้ผลกระทบต่อชาวบ้านที่ส่วนใหญ่มีความยากจน ไม่มีพื้นที่ทำกิน ลดน้อยลง ทำให้ปัจจุบัน ยังคงเกิดการร้องเรียน  เรียกร้องความเป็นธรรมในที่ดินทำกินหลังปฏิบัติการของ คสช. จนมาสู่รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง”

            ในบาทความยังกล่าวว่า “จากข้อมูลการสำรวจของกระทรวงมหาดไทย ช่วงปี 2551 ที่ผ่านมาระบุว่า มีผู้บุกรุกที่ดินของรัฐทั่วประเทศรวม 370,000 ราย เนื้อที่กว่า 6 ล้านไร่ แยกเป็นบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ 58,000 ราย เนื้อที่ 1.5 ล้านไร่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ 37,000 ราย เนื้อที่กว่า 6 แสนไร่ ที่ดินราชพัสดุ 190,000 ราย เนื้อที่ 2.1 ล้านไร่ ที่ดินสาธารณประโยชน์ 55,000 ราย เนื้อที่ 1.1 ล้านไร่ และบุกรุกที่ดินรัฐประเภทอื่น ๆ เช่น ที่ดิน ส.ป.ก. 25,000 ราย เนื้อที่ 490,000 ไร่”

            อย่างไรก็ตามปรากฏว่า “นโยบายรัฐแต่ละยุคส่งเสริมให้มีการบุกรุกป่า. . .นำผืนป่าเสื่อมโทรม มาจัดสรรพื้นที่ทำกินให้ประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ เช่นพื้นที่ปฏิรูปเพื่อการเกษตร พื้นที่นิคมสร้างตนเอง พื้นที่นิคมสหกรณ์ เป็นต้น ทำให้เกิดความสับสนในเรื่องของแนวเขตที่ดินเพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวเขตที่ดินของรัฐและแนวเขตป่าไม้ทับซ้อนกัน เพราะแผนที่แนวเขตของแต่ละหน่วยงานไม่ได้จัดทำบนพื้นฐานเดียวกัน จึงทำให้เกิดความสับสนและยากต่อการป้องกันและปราบปรามการบุกรุก และการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีประสิทธิผล”

            สำหรับการดำเนินการ “ทวงคืนผืนป่า” ในทางปฏิบัติปรากฏว่านอกจาก. . . “เป็นพื้นที่ที่ถูกบุกรุกโดยนายทุน ผู้มีอิทธิพล นักธุรกิจ แล้ว อีกส่วนหนึ่งจำนวนมากเป็นกลุ่มชาวบ้านที่เคยได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัย และทำกินอยู่แต่เดิมตามนโยบายของรัฐบาลในยุคก่อน ทำให้การยึดพื้นที่คืนไม่เพียงแต่จะได้ผืนป่ากลับมาจากนายทุนเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบถึงชาวบ้านในพื้นที่เหล่านี้ด้วยเช่นกัน”

            ประเด็นที่พึงพิจารณาก็คือการให้ชาวบ้านทำกินแบบนี้ มันคุ้มค่าต่อทุกฝ่ายคือชาวบ้านเอง สังคมและประเทศชาติหรือไม่ สมมติการที่ชาวบ้านได้อยู่ในป่า ไม่ต้องเช่าบ้าน ก็อาจประหยัดไปเป็นเงิน 3,000 บาทต่อเดือน สามารถสร้างรายได้ได้อีกครอบครัวละ 10,000 บาทต่อเดือน ประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้อีก 2,000 บาทต่อเดือน รวมเป็นเงิน 15,000 บาท หรือปีละ 180,000 บาท หากประมาณการผลตอบแทนในการลงทุนเป็น 8% ก็เท่ากับว่ามูลค่าที่ชาวบ้านได้ เป็นเงิน 2.25 ล้านบาท (180,000 บาทหารด้วย 8%)

            ถ้ารัฐบาลสามารถหางานอื่นให้ประชาชนได้ทำโดยมีรายได้เดือนละ 15,000 บาทโดยไม่ต้องไปบุกรุกทำลายป่า เช่น งานในพื้นที่ราบ หรืองานการเกษตรอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงโดยไม่ทำลายป่า ก็จะทำให้เป็นทางเลือกในการดำรงชีวิต ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าโดยภาคประชาชนก็จะหมดไป และเมื่อประสานกับการปราบปรามอย่างจริงจัง ก็จะทำให้ป่าได้รับการฟื้นฟูได้

 

            ในประเทศญี่ปุ่น ในการประเมินค่าป่าไม้ มีหลักการคือ:

            1. พิจารณาจากผลประโยชน์ซึ่งประเมินค่าเป็นตัวเงินที่จะได้รับจากต้นไม้และผืนป่า และอีกแนวทางหนึ่งก็คือการประเมินด้วยวิธีต้นทุนของการสร้างผืนป่าขึ้นมาทดแทนใหม่

 

            2. ป่าประกอบด้วยที่ดินและต้นไม้ ในแง่หนึ่งเราจึงควรแยกมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไม้ เช่น ซุง ออกมาให้เห็นชัดเจนด้วย

            3. มูลค่ามาจากการพิจารณาราคาที่เคยซื้อขาย ราคาที่จะซื้อจะขาย ความคาดหวังต่อราคา ราคาที่คาดหวังว่าจะซื้อจะขายได้ในอนาคต ต้นทุนค่าสร้างทดแทน และอื่นๆ

            4. ในการประเมินต้นไม้ ผู้ประเมินต้องคำนึงถึงชนิดของต้นไม้ รูปทรงของต้นไม้ อายุของต้นไม้ คุณภาพหรือเกรดของไม้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ปริมาตรไม้ ความยาวของท่อนไม้ เป็นต้น

            5. การประเมินค่ายังคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และธรรมชาติจากการมีป่าไม้มาประกอบด้วย

 

            ในกรณีองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)กล่าวถึงมูลค่าของทรัพยากรป่าไม้มาจากมูลค่าของสิ่งที่สามารถซื้อ-ขายได้โดยตรง อันได้แก่

            1. ต้นไม้ (เช่น การขุดล้อมต้นไม้) เนื้อไม้ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ เช่น เป็นวัสดุก่อสร้าง หรือใช้เพื่อการเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

            2. ของป่าที่จะหาได้จากป่าไม้นั้นๆ

            3. สัตว์ป่า

            4. รายได้จากการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับป่าไม้ รวมทั้งที่พัก ที่สันทนาการ ประชุมสัมมนาในพื้นที่เขตป่าหรือเขตอุทยานแห่งชาติ

 

            นอกจากนี้ยังมีมูลค่าของทรัพย์สินในกรณีของการดำรงอยู่ของป่าไม้ เช่น ป่าไม้ช่วยป้องกันพายุ โดยวัดจากความเสียหายหากไม่มีป่าไม้ การป้องกันการพังทลายของดิน การดูดซับแก๊สพิษต่างๆ  การเป็นแหล่งต้นน้ำของสายธารหรือแม่น้ำลำคลองต่างๆ   ถ้าขาดป่าไม้ผืนนี้จะทำให้เกิดความเสียหายประการใดบ้าง ซึ่งสามารถตีค่าเป็นจำนวนเงิน เพื่อการวัดคุณค่าของป่าไม้นั้นๆ

            อย่างไรก็ตามในการวัดค่าจริงๆ บางครั้งอาจไม่มีข้อมูลราคาซื้อขายจริง ก็อาจสมมติเป็นราคาซื้อขายสินค้าที่เทียบเคียงกันได้ เช่น ถ้าไม่มีไม้ อาจต้องใช้พลาสติกแทน หรือวัสดุก่อสร้างอื่น หรือถ้าไม่มีข้อมูลตลาดของการซื้อขาย ก็อาจใช้ต้นทุนการก่อร่างสร้างป่า ลบด้วยมูลค่าที่พึงได้ หรืออาจพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆ  ที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณีของป่าแต่ละพื้นที่และป่าแต่ละประเภท

 

            ในการคำนวณการปลูกป่าสำหรับกรณีในประเทศไทย เช่น ที่จังหวัดน่าน เป็นดังนี้:

            1. ต้นทุนค่าเวนคืนที่ดินจากประชาชนสมมติที่  5,000 บาทต่อไร่ (จากข้อมูลการศึกษานี้ https://bit.ly/3vwqEWs)

            2. ต้นทุนค่าปลูกป่าทั่วไปเป็นเงิน 3,900 บาทต่อไร่ (https://bit.ly/3iaCFxC)

            3. พื้นที่ถูกบุกรุกทั้งหมดในจังหวัดน่าน 1.664 ล้านไร่ (https://bit.ly/3CiIn7B)

 

 

            การนี้แสดงว่ารัฐบาลต้องใช้เงินลงทุนถึง 14,809.6 ล้านบาทเพื่อทวงคืนผืนป่า และยังคงต้องจัดงบประมาณในการตรวจตราเพื่อการปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งโดยมีบุคลากรเพิ่มเติมเพื่อการนี้อีก เช่น ประมาณ 5,000 นาย เป็นเงินค่าจ้างคนละ 15,000 บาท รวมเป็นเงินอีก 900 ล้านบาทต่อปี จึงจะค่อยๆ ฟื้นฟูสภาพป่าไม้ได้สำเร็จ

            ถ้าลงเงินจำนวนนี้เพื่อฟื้นฟูป่าเพื่อส่วนรวม ก็นับว่าคุ้มค่าเพราะจะทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

 

 

อ่าน 867 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved