สงครามกับอสังหาริมทรัพย์ เป็นสิ่งที่ไม่เข้ากัน ในยามสงคราม อสังหาริมทรัพย์ก็ไร้ค่า ในยามสงบอสังหาริมทรัพย์ก็เติบใหญ่ โดยที่ประเทศไทยเสี่ยงต่อสงครามกลางเมืองระหว่างผู้คิดต่าง วันนี้จึงขอเสนอบทเรียนในต่างประเทศให้เป็นอุทธาหรณ์กับเพื่อนร่วมชาติไทย
กรณีศึกษาที่นำเสนอได้แก่ กรณีอาเจะห์ พยัคฆ์ทมิฬอีแลม โจรใต้ฟิลิปปินส์ สงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา สงครามเวียดนาม เป็นต้น สงครามกลางเมือง การต่อสู้กันเองของคนในชาติ นำมาซึ่งความสูญเสียชีวิต และแน่นอน ทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ต้องเสียหายไปมากมาย ลองดูกรณีต่อไปนี้:
1. กรณีกบฎอาเจะห์ ชาวอาเจะห์เคยเป็นอิสระและสมัครใจรวมกับอินโดนีเซียในปี พ.ศ.2502 แต่พอต้องการแยกตัว ซึ่งพวกเขามีความชอบธรรมที่จะทำเช่นนั้น อินโดนีเซียกลับไม่ยอม ส่งทหารเข้าปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิต 15,000 คน หลายคนเข้าใจผิดว่ากบฏอาเจะห์สงบลงเพราะการเจรจาและการล้างปัญหาโดยสึนามิ แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่า ในช่วงปี พ.ศ.2545-2547 กบฏถูกปราบหนักจนแทบราบคาบ ผู้นำใหญ่เสียชีวิต และพอเกิดสึนามิเมื่อปลายปี พ.ศ.2547 ที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิตไปราว 200,000 คนจาก 4,400,000 คน ไฟกบฏก็มอดสนิทไปในที่สุด {1}
2. กรณีกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม การต่อสู้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 ระหว่างชาวทมิฬผู้นับถือศาสนาฮินดูกับชาวสิงหลผู้นับถือศาสนาพุทธจนลุกลามเข้ากรุงโคลอมโบ มีอยู่ช่วงหนึ่งตำรวจต้องถือปืนกลคอยตรวจตราตามสี่แยกเพราะอาจถูกโจมตีได้ตลอดเวลา สนามบินก็ปิดในช่วงค่ำด้วยฝ่ายกบฏซึ่งมีสนามบินของตนเอง อาจใช้ความมืดลอบบินมาถล่มได้ มีการเจรจาสงบศึกในประเทศไทย 2-3 หน แต่ในที่สุดรัฐบาลศรีลังกาก็ส่งทหารเข้าปราบเด็ดขาด หัวหน้ากบฏและพลพรรคถูกปลิดชีพเป็นจำนวนมาก ในครั้งนั้นองค์การสหประชาชาติ “เต้น” อยู่พักหนึ่ง หาว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” แต่ก็เงียบไปและศรีลังกาก็คืนสู่ความสงบในที่สุด {2}
3. กรณีโจรใต้ของฟิลิปปินส์ เป็นกรณีของกบฏมุสลิมทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งมีปัญหากันมา 40 ปีแล้ว จนมีผู้เสียชีวิตถึง 150,000 คน แต่ขณะนี้รัฐบาลก็บรรลุข้อตกลงกับกลุ่มกบฏกลุ่มใหญ่ที่สุดแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อปลายปี พ.ศ.2556 ก็ยังมีกลุ่มกบฏกลุ่มเล็กกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติโมโร (MNLF) พยายามที่จะสร้างสถานการณ์เพื่อป่วนการเจรจาสันติภาพ จนในที่สุดรัฐบาลต้องส่งกำลังเข้าปราบปราม ทำให้มีทหารตำรวจเสียชีวิตรวม 23 นาย พลเรือนถูกสังหาร 12 คน ส่วนกลุ่มติดอาวุธถูกสังหารไปทั้งสิ้น 183 คน ส่วนอีก 292 คนถูกจับกุมตัวได้ {3}
4. สงครามกลางเมืองอเมริกา ในช่วงปี พ.ศ.2403-2408 เป็นสงครามกลางเมืองซึ่งเกิดขึ้นระหว่างรัฐที่ต้องการให้คงการมีทาสต่อไปในสหรัฐอเมริกา จำนวน 11 รัฐ กับรัฐทางเหนืออีก 25 รัฐ อาจกล่าวได้ว่าสงครามครั้งนี้เป็นสงครามที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีทหารเสียชีวิตกว่า 620,000 นาย นักประวัติศาสตร์ จอห์น ฮัดเดิลสตัน ประเมินยอดผู้เสียชีวิตว่า ชายรัฐทางเหนือทุกคนที่อายุระหว่าง 20-45 ปี เสียชีวิตไป 10% และชายรัฐทางใต้ทุกคนที่อายุระหว่าง 18-40 ปี เสียชีวิตไป 30% {4}
5. สงครามเวียดนาม เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ถึงวาระที่กรุงไซ่ง่อนแตกเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518 เป็นสงครามที่แตกต่างกันทางลัทธิการเมืองโดยมีการหนุนหลังจากมหาอำนาจต่างประเทศ สงครามนี้คร่าชีวิตมนุษย์ไปประมาณ 1-3 ล้านคน และยังมีทหารชาวอเมริกันเสียชีวิตในข้อพิพาทนี้ 58,220 นาย {5} หลังสงคราม ประเทศชะลอตัวไปเกือบ 30 ปี จากประเทศที่เคยเจริญรุ่งเรืองมากกว่าไทยในยุคปีกึ่งพุทธกาลหรือเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว กลับกลายเป็นประเทศที่ล้าหลังกว่าไทยจนถึงทุกวันนี้
6. สงครามกลางเมืองในกัมพูชา ก็เป็นเช่นเดียวกับสงครามเวียดนาม แต่มีถึง 2 คำรบ คำรบแรกเป็นการต่อสู้ระหว่างเขมรแดงกับเขมรที่สนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกา ใช้ระยะเวลา 5 ปี และสิ้นสุดลงหลังจากการสู้รบผ่านไป 5 ปี รัฐบาลเขมรแดงชนะเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 {6} และอีกคำรบหนึ่งคือการปกครองของเขมรแดงที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จนถึงการเสียชีวิตของนายพอลพตผู้นำเขมรแดงในปี พ.ศ.2541 ทหารเขมรแดงจึงยอมวางอาวุธ {7} รวมระยะเวลาแห่งความขัดแย้งเกือบ 30 ปี ทำให้กรุงพนมเปญซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็น "ปารีสแห่งตะวันออก" หมดเสน่ห์ไปในที่สุด
7. กรณีคอมมิวนิสต์ไทย นับแต่การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในปี พ.ศ.2508 คอมมิวนิสต์ไทยก็ขยายตัวต่อเนื่อง ยิ่งเกิดกรณีการปราบปรามนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็ยิ่งทำให้มีแนวร่วมเพิ่มขึ้น แต่ไม่กี่ปีต่อมาการต่อสู้ก็จบสิ้นลง หลายคนเข้าใจว่าความสงบเกิดจากนโยบาย 66/2523 {8} ที่ประนีประนอม แต่ความจริงคอมมิวนิสต์ไทยหมดโอกาสชนะแล้วเพราะเกิดความขัดแย้งในหมู่ประเทศสังคมนิยม และรัฐบาลไทยยังสามารถเจรจากับรัฐบาลจีนได้สำเร็จ ดังนั้นพวกเขาจึงยอมวางอาวุธในที่สุด
8. กรณีโจรใต้ของไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า ได้สรุปยอดความสูญเสียจากสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 - 31 ธันวาคม 2556 พบเหตุการณ์ความไม่สงบถึง 15,192 เหตุการณ์ แยกเป็นการก่อความไม่สงบ 10,662 เหตุการณ์ก่ออาชญากรรม 1,507 เหตุการณ์ก่อกวน 2,444 เหตุการณ์ การปิดล้อมปะทะ และจับกุม 579 เหตุการณ์ มีผู้บาดเจ็บจำนวนรวมทั้งสิ้น 10,593 ราย ทางราชการได้สูญเสียเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ไปแล้วรวมกว่า 4,399 นาย อย่างไรก็ตาม กลุ่มประชาชนผู้บริสุทธิ์ซึ่งตกเป็นเป้าหมายอ่อนแอได้รับบาดเจ็บรวม 5,782 ราย เสียชีวิตอีก 3,786 ราย รวมสรุปจำนวนผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตทั้งสิ้น 16,519 ราย {9}
จะเห็นได้ว่าสงครามที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นจนถึงนับล้านคน มูลค่าทรัพย์สินเสียหายมหาศาลอย่างยากที่จะประเมินได้ อย่างกรณีภาคใต้ของไทย เฉพาะระหว่างปี พ.ศ.2548-2550 ก็เกิดความสูญเสียไปมหาศาล ทำให้มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ลดลงไปประมาณ 5% {10} และใช้เวลายาวนานกว่าจะฟื้นคืน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยพึงสังวร
สำหรับประเทศไทย ณ เวลานี้ สงครามกลางเมืองสำคัญอาจกำลังก่อตัวขึ้น ด้วยความไม่พอใจ การขาดความยุติธรรม การทุจริตและประพฤติมิชอบต่าง ๆ นานา ซึ่งแทนที่จะทำความเข้าใจร่วมกัน กลับกลายเป็นการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นจากการตอกลิ่มต่าง ๆ นานา ดังนั้นจึงอาจเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างคนไทยด้วยกันเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง
สงครางกลางเมืองที่อาจเกิดขึ้นอย่างขนานใหญ่ จึงอาจเป็นสงครามระหว่างสีเสื้อที่แตกต่างกัน หรือระหว่างกลุ่มอำนาจที่แตกต่างกัน ระหว่างกลุ่มอำนาจใหม่อำนาจเก่า ซึ่งกรณีเช่นนี้อาจใช้เวลาฟักตัวหลายปี และใช้เวลาทำสงครามแตกหักอีกหลายปีเช่นกัน หากเกิดสงครามขึ้นจริง ก็จะทำให้ประเทศถดถอยเช่นที่เคยถดถอยในประเทศในอินโดจีน ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ล้าหลังลงไปอย่างน่าเสียดาย
เราจึงควรเรียกร้องสันติภาพให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
อ้างอิง
{1} Aceh http://en.wikipedia.org/wiki/Aceh และที่ ขบวนการอาเจะห์เสรี http://th.wikipedia.org/wiki/ขบวนการอาเจะห์เสรี
{2} โปรดดู http://www.clipmass.com/movie/1121073853352859 และที่ http://www.youtube.com/watch?v=Wfz9Q3jCNIY
{3} กองทัพฟิลิปปินส์ประกาศ “ชัยชนะ” เหนือกบฏ MNLF ตัวประกันเกือบ 200 คนปลอดภัย www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9560000122381
{4} ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://th.wikipedia.org/wiki/สงครามกลางเมืองอเมริกัน
{5} ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://th.wikipedia.org/wiki/สงครามเวียดนาม
{6} ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://th.wikipedia.org/wiki/สงครามกลางเมืองกัมพูชา
{7} ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://th.wikipedia.org/wiki/เขมรแดง
{8} คำสั่ง 66/2523 http://politicalbase.in.th/index.php/คำสั่ง_66/2523
{9} กอ.รมน.ภาค 4 สน.สรุปยอดความสูญเสีย จชต.รัฐเสีย จนท.กว่า 5 พัน เจ็บนับหมื่น www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9570000000657&Html=1&TabID=3&
{10} คณะทำงานเฉพาะกิจ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย กรณีการลดลงของมูลค่าทรัพย์สินจากภัยความมั่นคงภาคใต้ http://www.thaiappraisal.org/pdfNew/Research/research_2007-05-215-land.pdf
รูปที่ 1: สภาพปรักหักพังของกรุงพนมเปญหลังสงคราม
ที่มา: http://diogenesii.files.wordpress.com/
รูปที่ 2: ซากปรักหักพังในนครโฮชิมินห์ซิตี้
ที่มา: http://media1.shmoop.com/media/images/large/rubble-saigon.jpg
รูปที่ 3: สุสานทหารปลดแอก พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ที่มา: http://www.bloggang.com/data/saowbannok/picture/1181649011.jpg