ภูทับเบิก คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า
  AREA แถลง ฉบับที่ 132/2566: วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

 

            ผมไปเที่ยวภูทับเบิกมา ไปมาเป็นครั้งที่ 3 ในชีวิตมาแล้ว ชอบครับ แต่อยากถามหน่อย มีใครอยากไปอยู่บนภูทับเบิกตลอดปีไหมเอ่ย

            นี่ถือเป็นกรณีศึกษาของคติ “คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า” ก็ว่าได้ อย่างผมไปในฐานะนักท่องเที่ยว ก็ถือว่าเป็น “คนนอกอยากเข้า” ไปเที่ยวชมธรรมชาติ ขับขึ้นไปบนภูเขาสูงถึงประมาณเกือบ 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ก็ดูตื่นเต้นดีไม่น้อย ยิ่งมานอนหนาวบนภูทับเบิก ก็หนาวจับใจพอๆ กับไปต่างประเทศ ผมไปนอนค้างเมื่อคืนวันศุกร์ที่ 27 มกราคม 2566

            ยิ่งถ้านอนกระโจมหรือเต็นท์บนภูทับเบิก ก็ยิ่งหนาวหนัก  เพราะไม่เหมือนโรงแรมทั่วไปที่มีห้องหับกันความหนาว ในกระโจมเป็นแค่ผืนพลาสติกที่กันความหนาวไมได้ ไม่มีเครื่องทำความร้อน หากอากาศหนาวถึง 5 องศาเซลเซียสในช่วงที่ไป ก็เหมือนกับเรานอนห่มผ้า ใส่เสื้อหนาวท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บนั่นเอง ยิ่งถ้าใครเอาเสื้อหนาวไปไม่พอ ก็คงหนักใจน่าดู ผมเองก็คิดว่าคืนวันเสาร์ที่ 28 มกราคม จะไปนอนรับอากาศหนาวที่เขาค้อ ก็เลย “ถอยดีกว่า”

            อย่างไรก็ตามนี่เป็นแค่ความรู้สึกสนุกๆ ของนักท่องเที่ยวอย่างผม  แต่ถ้าเราไปอยู่บนนั้นเป็นแรมปี การต่อสู้กับอากาศหนาวเหน็บในช่วงหน้าหนาว (ธันวาคม – กุมภาพันธ์) ก็คงทรมานน่าดู ถ้าเป็นคนงาน ชาวบ้านทั่วไป ก็คงไม่มีเครื่องทำความร้อน ก็คงหนักใจนัก และถ้าเราต้องใส่เสื้อหนาวหนาๆ ตลอดช่วงหน้าหนาว ก็คงเกะกะน่าดู ความหนาวเย็นจึงเป็นเครื่องทรมานอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อยู่ข้างบนนี้ทุกวัน แต่ก็ยังดีไม่หนาวตายเหมือนในประเทศเนปาลที่คนแก่ๆ มักจะหนาวตายในช่วงหน้าหนาวเพราะขาดแคลนผ้าห่ม

            สำหรับในหน้าฝน (กรกฎาคม-กันยายน) ถือเป็นช่วงที่อันตรายมากในการอยู่อาศัยบนภูทับเบิกก็ว่าได้ ลมแรง ฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า ถนนหนทางก็ลื่นน่ากลัว ยิ่งบริเวณที่ไม่ได้ราดยางก็คงยิ่งไปมาลำบาก เมฆหมอกที่เราเห็นสวยๆ ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ก็ได้เห็นเต็มตาในช่วงหน้าฝน พร้อมฝนตกฟ้าคะนอง  หน้าฝนอันโหดร้ายก็ทรมานผู้คนที่ต้องทำงานอยู่บนนี้น่าดูเหมือนกัน

            อาหารการกินบนภูทับเบิกนี่ถือว่าแพงกว่าในกรุงเทพมหานครด้วยซ้ำไป แพงกว่าผู้ที่อยู่บนพื้นราบในเมืองเพชรบูรณ์ หรือในอำเภอหล่มเก่าที่อยู่ใกล้เคียง เนื่องจากภูทับเบิกอยู่สูงมาก การขนวัตถุดิบและเครื่องเคราต่างๆ จึงมีค่าใช้จ่ายมาก  อาจมีพืชผลทางการเกษตรบางรายการที่ผลิตที่นี่ เช่น กะหล่ำ หัวผักกาด ต้นหอม แต่วัตถุดิบอื่นๆ มักต้องขนมาแต่ไกล ยิ่งกว่านั้นเมื่อชาวบ้านขนสินค้าเกษตรจากบนยอดเขาลงไปขายที่พื้นราบเช่นหล่มเก่า ก็ยังอาจมีราคาสูงกว่าสินค้าที่มาจากประเทศลาวอีกต่างหาก อย่างนี้ชาวบ้านบนภูทับเบิกก็อยู่ยากเหมือนกัน

            ท่านทราบหรือไม่ว่าบนภูทับเบิกอาจผลิตผลไม้ได้บางรายการ เช่น ลูกพลับจะมีในเดือนสิงหาคม อะโวคาโด จะมีในเดือนพฤศจิกายน และบัวหิมะ จะมีในเดือนตุลาคม-ธันวาคม  นอกฤดูกาลเหล่านี้แล้วก็ไม่มีผลไม้อื่นใด  แต่ที่เราเห็นผลไม้ขายกันกลาดเกลื่อนนั้น เป็นผลไม้จากจีน ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิล พลับ ส้ม ฯลฯ ที่ส่งมาทางท่าเรือบ้าง หรือเป็นสินค้าจากลาวบ้าง

            ลองนึกดูว่าถ้าเราลืมกุญแจไว้ในรถ ไม่อยากทุบกระจกรถ ก็ต้องเรียกช่างซ่อมกุญแจจากพื้นราบขึ้นไปช่วยเหลือ สนนราคาก็อาจเป็นเงินถึง 3,000 บาท แต่ถ้าอยู่บนพื้นราบก็คงไม่แพงนัก  ยิ่งถ้ารถเสียต้องเอาลงไปซ่อมข้างล่าง ก็คงเสียเงินนับหมื่นบาทก็ว่าได้  อย่างนี้แล้ว การอยู่บนภูทับเบิก จึงถือว่าอยู่ลำบากพอสมควร

            การที่ชาวบ้านสร้างรีสอร์ตกันอย่างระเกะระกะ ต่างคนต่างสร้าง ต่างบังวิวกันและกัน หรืออาจต่างบุกรุกป่าเขาสร้างรีสอร์ตกันมากขึ้น ก็อาจกลายเป็นวงจรอุบาทว์ ทำให้ไม่มีรายได้เท่าที่คาดหวัง อาจทำให้เกิดข้อพิพาทกันได้ อยู่แบบนี้จะเป็นการอยู่อาศัยที่สงบก็คงไม่ได้ ยิ่งมีคนพื้นราบขึ้นไปร่วมทำรีสอร์ต จับจองกันมากขึ้น ความวุ่นวายต่างๆ ก็จะมีมากขึ้นไปอีก

            อันที่จริงถ้ามีงานมีรายได้พอสมควรบนพื้นราบ พวกเขาก็คงน่าจะอยากอยู่แบบปกติ ไม่ต้องไปบุกรุกทำลายป่าอย่างไม่สิ้นสุด

 

ที่มาภาพ : https://travel.kapook.com/view211008.html 

 

อ่าน 817 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved