อ่าน 3,406 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 18/2557: 5 กุมภาพันธ์ 2557
เขื่อนกับการเวนคืนที่จำเป็น

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ในท่ามกลางกระแสการต่อต้านการสร้างเขื่อนที่รณรงค์โดย NGOs อาจทำให้เห็นว่าการสร้างเขื่อนเป็นสิ่งไม่ดี ยิ่งเมื่อต้องเวนคืนกระทบต่อประชาชนด้วยแล้วยิ่งไม่ดียิ่ง แต่ในความเป็นจริง การเวนคืนเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อประโยชน์ต่อทั้งคน สัตว์และป่าไม้ในระยะยาว
          กรณีศึกษาสำคัญได้แก่ “เมืองบาดาล” หรือ “วัดวังก์วิเวการามหลังเก่า” อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์ (Unseen Thailand) ที่มีชื่อเสียงทั้งในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ และวัดห้วยต้าใต้ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงมุ่งนำเสนอในอีกแง่มุมหนึ่งของสิ่งที่ทำได้และทำมาแล้วและชอบแล้วของการเวนคืนเพื่อการสร้างเขื่อนในคราวที่จำเป็น

เมืองบาดาลแห่งสังขละบุรี
          วัดวังก์วิเวการามหลังเก่า ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ห่างจากตัวเมืองประมาณ 221 กิโลเมตร และห่างจากรุงเทพมหานคร 351 กิโลเมตร วัดซึ่งกลายเป็นเมืองบาดาลนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 โดยท่านหลวงพ่ออุตตมะ ด้วยการร่วมแรงร่วมใจของชาวมอญและชาวกะเหรี่ยง ที่อพยพภัยสงครามจากเมียนมาร์ เข้ามาอาศัยอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำซองกาเรีย {1} โดยบริเวณนี้เรียกว่า"สามประสบ" คือเป็นบริเวณที่ลำน้ำสามสาย ได้แก่ ห้วยซองกะเลีย ห้วยบิคลี่ และห้วยรันตี ไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำแควน้อย {2}
          ต่อมาในปี พ.ศ.2527 ได้มีการก่อสร้างเขื่อนเขาแหลม ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเขื่อนวชิราลงกรณ ทำให้ย้ายวัด ชุมชนและตัวอำเภอไปตั้งในที่เนินเขาใกล้เคียง ส่วนวัดแห่งนี้ก็ถูกน้ำท่วมไปและถูกลืมเลือนหายไปเป็นเวลานับสิบปี จนกระทั่งปี 2546 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้หยิบยกขึ้นเป็นหนึ่งใน“อันซีนไทยแลนด์”พร้อมตั้งชื่อว่า“เมืองบาดาล” {3} จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในปัจจุบัน
          วัดที่สร้างขึ้นใหม่ก็สวยงามใหญ่โต เป็นที่สักการะของประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่สำคัญรากเหง้าทางวัฒนวัฒนธรรมของชาวมอญ ชาวกระเหรี่ยงก็ไม่ได้สูญสิ้นไปไหน ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า การย้ายอาคารสถานที่ต่าง ๆ สามาถทำได้โดยไม่ได้มีผลกระทบใด ๆ แต่ในปัจจุบันการโยกย้ายเป็นไปได้ยากเนื่องจากการปลุกปั่นของกลุ่ม NGOs นั่นเอง

วัดห้วยต้าใต้แห่งอำเภอท่าปลา
          เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 ข่าวฮือฮาว่า "ชาวบ้านก้มกราบวัดร้างโผล่พ้นน้ำ-หลังจมอยู่นานกว่า45ปี" {4} ซึ่งก็คือวัดห้วยต้าใต้ ตำบลนางพญา อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 70 กิโลเมตรและห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 530 กิโลเมตร วัดแห่งนี้จมอยู่ใต้น้ำในเขื่อนสิริกิติ์หรือเขื่อนสิริกิติ์ จนเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2556 ซึ่งฝนแล้งติดต่อกัน 4 ปี จึงทำให้วัดโผล่พ้นน้ำ หลังจากที่จมน้ำไปถึง 45 ปี เมื่อปีการก่อสร้างเขื่อนในปี พ.ศ.2551
          ตามข่าวข้างต้น "พบต้นไม้ขนาดใหญ่ยืนต้นตายจำนวนหลายต้น ทั้งยังพบวัดโบราณ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "วัดห้วยต้าใต้" ซึ่งจมอยู่ใต้น้ำนานเกือบ 50 ปี กลายเป็นเศษซากปรักหักพัง ทั้งท่อนไม้ ก้อนอิฐ กระจายเกลื่อนทั่วบริเวณบนพื้นที่ประมาณ 8 ไร่ พร้อมกับซากต้นโพธิ์ใหญ่ขนาด 10 คนโอบ ซากต้นตาลคู่อายุกว่า 300 ปี (บางว่า 500 ปี) {5} รวมถึงซากต้นไม้อื่นอีกจำนวนมาก ที่ยืนต้นตาย . . . พบตราธรรมจักร รวมถึงหอกลอง หอฉัน กุฎิพระ . . . เดิมเป็นหมู่บ้านใหญ่ของ ต.ท่าแฝก ประกอบด้วย 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ 8 บ้านห้วยต้าใต้ หมู่ 9 บ้านห้วยต้ากลาง และหมู่ 10 บ้านห้วยต้าเหนือ พื้นที่หมู่บ้านตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำน่าน วัดนี้มีอายุกว่า 200 ปี มีชาวบ้านกว่า 200 ครัวเรือนอาศัยอยู่"
          อันที่จริงประชาชนส่วนใหญ่ยินดีย้ายออกโดยได้รับการจัดสรรที่ดินให้ใหม่ แต่ก็มีอีก 7 หลังคาเรือนที่ไม่ยอมย้ายออก และปลูกบ้านอยู่ใกล้เคียงจนมีสภาพเป็นเกาะกลางน้ำ ทางราชการก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ทำให้จำนวนราษฎรเพิ่มขึ้นกลายเป็นหมู่บ้าน ทางราชการกลับยังประกาศเป็นหมู่บ้านในปี พ.ศ. 2516 มีประชากรรวม 440 คนจำนวน 149 ครัวเรือน {6}

เขื่อนวชิราลงกรณ (เขื่อนเขาแหลม)
          เขื่อนแห่งนี้เดิมชื่อเขื่อนเขาแหลม เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2522 และก่อสร้างเสร็จในปี 2527 เขื่อนมีความจุ 8,860 ล้านลูกบาศก์เมตร ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 3 เครื่องบริเวณปล่อยน้ำ ขนาดกำลังผลิต 100,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิต 300,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 760 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง {7} สำหรับการใช้ประโยชน์ของเขื่อนก็คือ
          1. การชลประทานทำให้มีแหล่งน้ำถาวรในพื้นที่แม่กลองใหญ่โดยเฉพาะทำการเพาะปลูกในฤดูแล้ง จะได้ผลผลิตการเกษตรเพิ่มขึ้น
          2. การผลิตไฟฟ้า โดยมีให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 777 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถประหยัดการใช้ เชื้อเพลิง น้ำมันเตาที่ต้องสั่งจากต่างประเทศได้ปีละ 200 ล้านลิตร
          3. การประมง ในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนมีพื้นที่ 388 ตารางกิโลเมตร เหมาะสำหรับเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดได้เป็นอย่างดี
          4. การบรรเทาอุทกภัย บริเวณลุ่มน้ำแม่กลองเป็นสำคัญ
          5. การต่อต้านน้ำเค็มและน้ำเสียในฤดูแล้ง
          6. การคมนาคมและการท่องเที่ยวซึ่งสร้างรายได้แก่ท้องถิ่นเป็นอย่างมาก
          เขื่อนนี้ใช้งบประมาณก่อสร้าง 9,910 ล้านบาท โดยเป็นค่าเวนคืนและค่าก่อสร้างหมู่บ้านใหม่ 683 ล้านบาท {8} ซึ่งถือว่าน้อยมาก หรือเพียง 7% ของมูลค่าโครงการ ค่าชดเชยไม่ควร "ประหยัดจนเกินไป" {9} และแม้การสร้างเขื่อนจะมีปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่พึงแก้ไข แต่นับถึงวันนี้นับว่าเขื่อนนี้มีคุณอนันต์ต่อส่วนรวมเป็นอย่างยิ่ง

เขื่อนสิริกิติ์
          เขื่อนนี้เดิมชื่อเขื่อนผาซ่อมเป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยก่อสร้างขึ้นตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่าน ณ บริเวณเขาผาซ่อม ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เขื่อนนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2511 และแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2515 พร้อมกันนี้ ได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าเขื่อนสิริกิติ์ รวม 3 ชุด กำลังผลิตชุดละ 125,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิต 375,000 กิโลวัตต์ เขื่อนนี้ทำให้เกิดอ่างเก็บขนาดใหญ่ เหนือเขื่อนมีเนื้อที่ 260 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 162,500 ไร่ มีความยาวตามลำน้ำขึ้นไปจนจรดที่ราบ ของ อำเภอสา จังหวัดน่าน 129 กิโลเมตร ส่วนกว้างที่สุด 20 กิโลเมตร
          ประโยชน์ของเขื่อนนี้ก็เช่นเดียวกับเขื่อนวชิราลงกรณ์ได้แก่ การชลประทาน การบรรเทาอุทกภัย การผลิตกระแสไฟฟ้า การประมง การคมนาคมทางน้ำ และการท่องเที่ยว และมาถึงทุกวันนี้เขื่อนสิริกิติ์ได้สร้างคุณูปการอย่างมหาศาลเช่นกัน

ผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรม
          พวก NGOs มักชอบอ้างเสมอว่า การโยกย้ายประชาชน จะทำให้เกิดปัญหาด้านการล้มล้างรากเหง้าทางวัฒนธรรม แต่ในความเป็นจริง กรณีการโยกย้ายหมู่บ้าน วัด และอำเภอของทั้งที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ นั้น จะเห็นได้ว่า ไม่มีปัญหาแต่อย่างไร ภายหลังการโยกย้ายวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของประชาชนก็ยังอยู่ ไม่ได้มีการขาดตอนแต่อย่างใด  เพียงแต่อาจมีบางคนดื้อแพ่งไม่ยอมโยกย้ายเท่านั้น
          แม้แต่ชาวจีนที่โยกย้ายไปทั่วโลก จนเกิดมี China Town เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมหรือรากเหง้าทางวัฒนธรรมของจีนก็ยังดำรงอยู่ แม้แต่วัฒนธรรมมอญ กระเหรี่ยง ลาว ที่ย้ายข้ามห้วยไปในพื้นที่ต่างๆ วัฒนธรรมก็ยังดำรงอยู่ ดังนั้นการจะอ้างประเด็นวัฒนธรรม โบราณสถาน ฯลฯ มากีดขวางการสร้างเขื่อนเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงเป็นการอ้างที่ขาดน้ำหนักเหตุผลเป็นอย่างยิ่ง
          ยิ่งในกรณีเขื่อนแม่วงก์ ที่สร้างเสร็จจะยังประโยชน์ต่อป่าไม้ ทำให้มีน้ำท่าสมบูรณ์ ป่าขยายพันธุ์ได้มากขึ้น โอกาสที่คนจะเดินทางเข้าตัดไม้ทำลายป่ายากขึ้น มีน้ำดับไฟป่ามากขึ้น และยังช่วยคุ้มครองสัตว์ป่าจากการล่า มีน้ำให้สัตว์ป่าได้ดื่มกินมากขึ้น เป็นต้น ส่วนประโยชน์ต่อมนุษย์เช่นเดียวกับกรณีเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนวชิราลงกรณ์ก็คงคล้ายๆ กันอยู่แล้ว
          อย่าให้ NGOs อาศัยความน่ารัก น่าสงสารของคน สัตว์ สิ่งของ มาลวงเราเพื่อถ่วงความผาสุกของชาวบ้านและส่ำสัตว์ ตลอดจนความเจริญของชาติอีกต่อไป

อ้างอิง
{1} โปรดดูรายละเอียดที่ กิตตินันท์ รอดสุพรรณ. ชมอันซีนเมืองบาดาลสังขละบุรี ก่อน"วัดวังก์วิเวการาม"จมอีก. www.komchadluek.net/detail/20100702/64948/ชมอันซีนเมืองบาดาลสังขละบุรีก่อนวัดวังก์วิเวการามจมอีก.html
{2} สังขละบุรี เมืองสามหมอก ดินแดนสามวัฒนธรรม. http://bbs.playpark.com/topic/14407-อ-สังขละบุรี-จกาญจนบุรี
{3} วิถีมอญ-เมืองบาดาล-สะพานมอญ”...“สังขละบุรี” มีดีไม่มีสร่าง www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9530000086550
{4} ข่าว "ชาวบ้านก้มกราบวัดร้างโผล่พ้นน้ำ-หลังจมอยู่นานกว่า45ปี"www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNM05ERXpOak15TlE9PQ==
{5} ข่าว “เขื่อนสิริกิติ์” ยังแห้ง วัดเก่าแก่ที่จมใต้น้ำ 41 ปีโผล่ www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9560000089374 และดูคลิปในรายการข่าวช่อง 3 ที่ www.youtube.com/watch?v=nQ6JmfyPEvM
{6} ประวัติหมู่บ้านห้วยต้า http://huaytaschoolme.tripod.com/vilage/historyban.html รวมทั้งประวัติโรงเรียนที่ http://huaytaschoolme.tripod.com/history.html
{7} เกี่ยวกับเขื่อนวชิราลงกรณ http://th.wikipedia.org/wiki/เขื่อนวชิราลงกรณ
{8} ดูรายละเอียดที่ http://irre.ku.ac.th/MIIS/miis(wdevelop)/klm.htm
{9} พินิจ ลาภธนานนท์และกอบกุล สามัคคี เขื่อนเขาแหลม: มุมมองของการประเมินผลกระทบทางสังคม. วารสารวิจัยสังคม ปีที่ 17 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2537 หน้า 80. www.cusri.chula.ac.th/download/magazine/2537_2.pdf

ประมวลภาพถ่ายที่เกี่ยวข้อง
1. แผนที่แสดงที่ตั้งของวัดวัดวังก์วิเวการามหลังเก่า www.kanchanaburi.com/travel3.htm

2. แผนที่ google แสดงที่ตั้งของวัดวัดวังก์วิเวการามหลังเก่า (จุด A) เทียบกับที่ตั้งของวัดปัจจุบัน

3. ภาพวัดถ่ายจากใต้น้ำ จากเว็บ:
http://bbs.playpark.com/topic/14407-อ-สังขละบุรี-จกาญจนบุรี

4. หอระฆังที่โผล่พ้นน้ำ สังขละบุรี จากเว็บ:
www.thaigogenius.com/tourist-attractions/item/3330-sangkraburi.html

5. อาคารโบสถ์ในช่วงหน้าน้ำที่มีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวมากมาย: จากเว็บ:
www.thaigogenius.com/tourist-attractions/item/3330-sangkraburi.html

6. อาคารโบสถ์และหอระฆังในช่วงที่โผล่พ้นน้ำ สังขละบุรี:
www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9530000086550

7. แผนที่ตั้งวัดห้วยต้าใกล้บริเวณที่มีโบสถ์จมอยู่ใต้น้ำเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์

8. สภาพโบสถ์เดิม บริเวณอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ จากเว็บ:
http://www.posttoday.com/กทม.-ภูมิภาค/ภาคเหนือ/234444/เขื่อนสิริกิติ์แห้งขอดจนเห็นวัดเก่าที่จมน้ำ

9. ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ถูกน้ำท่วมไปในเขื่อนสิริกิติ์ จากเว็บ:
http://news.mthai.com/general-news/255898.html


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved