ราคาที่ดินสะท้อนภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี หากราคาที่ดินตกต่ำก็แสดงว่าบ้านเมืองกำลังจะย่ำแย่ แต่หากกำลังเพิ่มขึ้น ก็แสดงถึงภาวะที่ดี สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ฯ ได้สำรวจการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2528 และได้นำเสนอเพื่อเป็นดัชนีสำคัญของเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเพิ่งเปิดเผยการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดิน ณ เดือนธันวาคม 2556 โดยพบว่าราคาที่ดินปี พ.ศ.2556 ยังขึ้นสูงกว่าปี 2555 อยู่ 4.6% และเชื่อว่าในปี 2557 ราคาก็ยังจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4% ส่วนราคาที่ดินที่แพงที่สุดอยู่ที่สยามสแควร์ ตารางวาละ 1.65 ล้านบาทแล้ว
ภาพรวมการเปลี่ยนแปลง
ล่าสุด ณ สิ้นปี พ.ศ.2556 ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี พ.ศ.2555 ที่เพิ่มขึ้นเพียง 3.7% อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นนี้เป็นเพราะว่าในบางบริเวณของผังเมือง ได้ผ่อนคลายข้อกำหนดในการก่อสร้าง โดยเฉพาะเขตชานเมืองตะวันตก ที่แต่เดิมเป็นเขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม กลายเป็นเขตที่อยู่อาศัย ซึ่งสามารถก่อสร้างได้มากขึ้นนั่นเอง การที่ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นมากกว่า ไม่ใช่เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นแต่อย่างไร ในทางตรงกันข้ามเศรษฐกิจกำลังจะได้รับผลกระทบจากการเมืองในขณะนี้
ราคาที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเคยตกต่ำลงเช่นกัน แต่เป็นเพราะวิกฤติเศรษฐกิจครั้งสำคัญของประเทศในช่วงปี 2540-2542 อย่างไรก็ตามนับแต่ปี พ.ศ.2543 เป็นต้นมา ราคาที่ดินก็เริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามลำดับ แม้แต่ช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินโลก พ.ศ.2551 ก็ไม่กระเทือนต่อราคาที่ดินในประเทศไทย หรือแม้ภาวะน้ำท่วมซึ่งเป็นภัยธรรมชาติก็ไม่ก่อให้เกิดปัญหาราคาที่ดินตกต่ำแต่อย่างใด ราคาที่ดินจะตกต่ำเพราะปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยเองเป็นสำคัญ
ราคาที่ดินที่แพงที่สุด
สำหรับราคาที่ดินที่แพงที่สุดในขณะนี้ก็คือ ราคาที่ดินบริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าสยาม ย่านสยามสแควร์ ซึ่งมีราคาตารางวาละ 1.65 ล้านบาท หรือ ไร่ละ 660 ล้านบาท หรือหาก "นั่งบนกองเงินกองทอง" ก็เท่ากับต้องใช้ธนบัตรใบละ 1,000 บาทปูบนพื้นที่ขนาด 1 ตารางวา หรือ 2 เมตร คูณ 2 เมตร ถึงเกือบ 5 ชั้น สาเหตุที่ราคาที่ดินย่านนี้สูงมากเนื่องจากว่ามีรถไฟฟ้าวิ่งผ่านถึง 2 สาย เป็นศูนย์รวมของสรรพสินค้าต่างๆ แม้ว่าจะไม่มีการพัฒนาใด ๆ เกิดขึ้นในย่านนี้ ราคาที่ดินก็ยังเพิ่มขึ้น เพราะยิ่งรถไฟฟ้าวิ่งออกนอกเมืองหรือเชื่อมต่อกันมากขึ้น ก็ยิ่งเพิ่มศักยภาพของพื้นที่นี้ ทั้งนี้ราคาที่ดินสะท้อนจากค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีกในย่านนี้นี่เอง
จะสังเกตว่าราคาที่ดินที่แพงที่สุดอยู่ริมสถานีรถไฟฟ้าสยามสแควร์ ชิดลม เพลินจิต โดยประมาณการตามราคาตลาดไว้ 1.65 ล้านบาทต่อตารางวา อย่างไรก็ตามราคาที่มีการเรียกซื้อขายกันอาจจะสูงกว่านี้ แต่ไม่ใช่มูลค่าตลาดที่แท้จริง รองลงมาเป็นบริเวณสถานีรถไฟฟ้านานา และไทม์สแควร์ซึ่งต่อเนื่องไปตามแนวรถไฟฟ้า และปรากฏว่าสูงกว่าบริเวณสีลมซึ่งเคยแพงที่สุดเสียอีก
ที่ดินที่มีราคาถูกที่สุด
สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ดินที่มีราคาที่ดินต่ำสุด จะอยู่ในเขตรอบนอก เพราะไม่มีสาธารณูปโภคเท่าที่ควร โดยที่นขนาด 4 ไร่ติดถนน แถวเลียบคลอง 13 ลำลูกกา กม. 5 มีราคาเพียงไร่ละ 1 ล้านบาท หรือตารางวาละ 2,500 บาท ทั้งนี้เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ทำนาอยู่ห่างไกลความเจริญ ยิ่งหากมีขนาด 40 ไร่ ราคาก็ยิ่งถูกลงอีก เหลือเพียงไร่ละ 440,000 บาท เป็นต้น
บริเวณที่ราคาที่ดินค่อนข้างต่ำอีกที่หนึ่งก็คือ บริเวณตรงข้ามศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมที่ไม่สามารถก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่หรืออาคารในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีของศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อย่างไรก็ตามในกรณีเช่นนี้ รัฐบาลสมควรที่จะเวนคืนที่ดินไปเลยเพื่อขยายอาณาเขตของศูนย์ศิลปาชีพมากกว่าจะจำกัดสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินในลักษณะเช่นนี้ สำหรับบริเวณอื่นที่ราคาที่ดินค่อนข้างต่ำ ก็มักเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญในเขตรอบนอกของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั่นเอง
การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดิน
ในรอบ 17 ปีที่ผ่านมาคือระหว่าง พ.ศ.2539 ซึ่งเป็นปีที่ราคาที่ดินขึ้นสูงสุด ถึงปัจจุบันนั้น ราคาที่ดินเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ภาพโดยรวมตามแผนภูมิที่ 1 ก็คือ ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 34% อย่างไรก็ตามก็มีบางบริเวณที่ราคากลับเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษ ซึ่งแสดงถึงศักยภาพที่ดียิ่ง และบางทำเลที่ราคาที่ดินลดลง
แผนภูมิที่ 4 แสดงให้เห็นว่าบริเวณตึกไทม์แสควร์ ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุดจาก 380,000 บาทต่อตารางวาในปี พ.ศ.2539 เป็น 1.5 ล้านบาทต่อตารางวา ณ สิ้นปี พ.ศ.2556 หรือเพิ่มขึ้นถึง 294.7% รองลงมาก็คือสยามสแควร์ เพิ่มขึ้นจาก 430,000 บาทต่อตารางวาเป็น 1.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 272.1% ในขณะปี พ.ศ.2539 ยังไมมีรถไฟฟ้า จึงไม่มีการเปรียบเทียบราคาที่ดินริมรถไฟฟ้า
แผนภูมิที่ 5 แสดงให้เห็นถึงราคาที่ดินที่ลดลงในรอบ 17 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2539-2556) ซึ่งมี 6 บริเวณที่ราคาลดลง และอีก 4 บริเวณที่ราคาแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย ได้แก่:
สาเหตุที่ราคาที่ดินบริเวณเลียบคลอง 13 กม.5 ลดลงถึง -43.2% ก็เพราะศักยภาพมีจำกัด การพัฒนาต่าง ๆ ก็เน้นในเขตเมืองที่มีระบบขนส่งมวลชนที่ดีเป็นสำคัญ ส่วนที่บริเวณตรงข้ามศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ก็ลดลงเนื่องจากศักยภาพการพัฒนาถูกจำกัดจากการอนุญาตให้ก่อสร้างอย่างจำกัดในบริเวณตรงข้ามศูนย์ศิลปาชีพ ราคาจึงลดลง -29.2%
ส่วนที่อื่น ๆ ได้แก่ บริเวณ รังสิต-นครนายก กม.37 ที่ราคาลดลง -24.0% ประชาสำราญ ที่ราคาลดลง -10.8% ปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว กม.16 ราคาลดลง -9.5% ประชาร่วมใจ มีนบุรี ราคาลดลง -5.0% และหนองจอก ที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลงเลย ก็เช่นกันที่เป็นเขตรอบนอกที่ไม่มีสาธารณูปโภคมากนัก ไม่เหมาะกับการสร้างโครงการที่อยู่อาศัยหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น
ส่วนตรงข้ามมหาวิทยาลัยรามคำแหง พระรามที่ 2 มหาชัย เสรีไทร (สุขาภิบาล 2) ราคาเพิ่มขึ้นน้อยมาก ก็เพราะไม่ค่อยมีศักยภาพมากนัก ย่านรามคำแหงราคาที่ดินอาจค่อนข้างสูง แต่พัฒนาเป็นอาคารชุดได้จำกัด บริเวณอื่น ๆ ก็ไม่ค่อยมีสาธารณูปโภคโดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชน และราคาที่ดินเดิมค่อนข้างสูง การพัฒนาจึงออกไปในบริเวณอื่นที่ราคาที่ดินยังถูกและคุ้มค่าต่อการลงทุนมากกว่านั่นเอง
ทำเลเด่นในอนาคต
จะเห็นได้ว่าราคาที่ดินเพิ่มขึ้นปีละ 3-5% โดยประมาณ อย่างไรก็ตาม ในบริเวณที่มีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน ราคาที่ดินมักจะเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษ เพราะการมีรถไฟฟ้า ช่วยเพิ่มศักยภาพขึ้นอีกมาก จะเห็นได้ว่าการเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ.2555-2556 ที่ผ่านมา บริเวณริมรถไฟฟ้าสายบางซื่อ-ท่าพระ (สายสีน้ำเงิน) ที่ดินมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษถึง 12.8% ทั้งนี้เพราะการเดินทางเข้าใจกลางกรุงเทพมหานครทำได้ง่าย และเป็นแนวรถไฟฟ้าในเขตเมือง ทำให้มีศักยภาพสูงกว่าเส้นอื่นๆ รองลงมาได้แก่ บริเวณแนวรถไฟฟ้าหัวลำโพง-บางแค ที่เพิ่มขึ้น 10.1% ส่วนตามแนวรถไฟฟ้าที่แล้วเสร็จแล้ว คือ BTS ราคาเพิ่มขึ้นถึง 10.5% ในช่วงปีที่ผ่านมา
ดังนั้นในกรณีนี้ ทำเลริมแนวรถไฟฟ้า โดยเฉพาะที่ใกล้แล้วเสร็จ หรือแล้วเสร็จแล้ว จึงมีศักยภาพที่ดีกว่าบริเวณอื่น และคาดว่าจะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ตามที่ได้เปรียบเทียบไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2552-2556 ทั้งนี้อาจยกเว้นบางบริเวณที่ยังไม่มีการก่อสร้าง เป็นแค่โครงการในอนาคต เช่น รถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่ หรือสายบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งสร้างไปในบริเวณที่ไม่ใช่ย่านชุมชนเท่าที่ควร เป็นต้น
การเมืองกับราคาที่ดิน
เชื่อว่าการเมืองในระยะสั้นนี้อาจไม่มีผลกระทบต่อราคาที่ดิน ในบริเวณพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองหลายจุดในเขตใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานคร อาจทำให้รายได้ลดลงไปบ้าง แต่ก็คงไม่มีผลในระยะยาว เช่น รายได้จากการให้เช่าพื้นที่สำนักงาน ศูนย์การค้า คงไม่ได้ลดลงในระยะสั้นนี้เพราะส่วนมากทำการเช่าเป็นเวลา 3 ปี การไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ได้อย่างจำกัด ในระยะสั้นเช่น 3 เดือน จึงอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าทรัพย์สินน้อยมาก เช่นในกรณีการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี พ.ศ.2553 ในบริเวณราชประสงค์ประมาณ 1 เดือน จนมีการปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตนับร้อยและบาดเจ็บนับพันคนนั้น ก็ไม่ได้ทำให้ราคาที่ดินลดลงแต่อย่างใด
หากความขัดแย้งทางการเมืองมีความยืดเยื้อออกไป และลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมือง มีการต่อสู้กับด้วยกำลังอาวุธ หรือมีการลอบวางระเบิดกันเป็นระยะ ๆ เช่นทุก 3-6 เดือน ที่เคยเกิดขึ้นในกรุงจาการ์ตา กรุงมะนิลา ก็อาจทำให้ค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ลดลงไปตามลำดับ และทำให้มูลค่าทรัพย์สินโดยเฉพาะที่ดินลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามคาดว่าภาวะวิกฤติที่รุนแรงเช่นนี้อาจไม่เกิดขึ้น และความอึมครึมทางการเมืองนี้จะจบลงในระยะเวลาอันสั้น เช่น ไม่เกิน 3 เดือนข้างหน้านี้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เชื่อว่าในระยะยาว ตลาดที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังมีความแข็งแกรงอยู่ และหากได้รับการสนุนสนุนจากโครงการสาธารณูปโภค เช่น โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก แต่โครงการนี้ก็อาจชลอหรือยกเลิกไป หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง